มะยม

ข้อมูลทางพฤกษศาสตร์

ชื่อสามัญ : Otaheite gooseberry, Star gooseberry

ชื่ออื่น ๆ : ยม(ใต้)

วงศ์ : PHYLLANTHACEAE

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Phyllanthus acidus (L.) Skeels

ชื่อพ้องวิทย์ : Averrhoa acida L.

ลักษณะสำคัญ : ไม้โตเร็ว เรือนยอดแผ่กระจาย โปร่ง กิ่งก้านน้อย ใบรูปไข่หรือแกมรูปขอบขนาน ยาว 2.5-10 ซม. ปลายมีติ่งแหลม โคนมน ช่อดอกมีดอกเพศผู้ออกเป็นกระจุก 2-6 ดอกมักออกที่โคนช่อตามซอกใบหรือตามกิ่ง ช่อดอกเพศเมียส่วนมากออกตามกิ่ง ก้านดอกยาว 0.5-3 มม. ขยายในผลยาว 2-5 มม. กลีบเลี้ยงสีแดง รูปไข่ ยาว 1-2 มม. ดอกเพศผู้มี 4 กลีบ แคบกว่าในดอกเพศเมียเล็กน้อย ดอกเพศเมียมี 4-6 กลีบ ผล 1.5-2.7 ซม. จัก 6-8 พู เมล็ด 5-8 มม. กลมแกมรูปสามเหลี่ยมมน

ระบบนิเวศและการกระจาย : อาจมีถิ่นกำเนิดในอเมริกาใต้ ปลูกเป็นไม้ผลหรือไม้มงคลทั่วไปในเขตร้อน ในไทยนิยมปลูกไว้หน้าบ้านตามความเชื่อว่าให้มีคนนิยมชมชอบ

การเพาะปลูก : เติบโตได้ดีในเขตร้อนระดับต่ำ พื้นที่ที่มีฤดูแล้งสั้น ช่วงอุณหภูมิที่เหมาะสมระหว่าง 20-29 oC ทนได้ 14-35 oC ปริมาณน้ำฝนแต่ละปี 1500-2500 มม. ทนได้ 700-4200 มม. ชอบแดดจัด หรือร่มเงา ชอบที่ชื้น ทนแล้งได้ ต้นกล้าโตเร็ว สามารถให้ผลเมื่ออายุเพียง 2-3 ปี ผึ้งช่วยผสมเกสร ผลมักกระจายไปได้ไกลจากต้นแม่

การขยายพันธุ์ : เพาะเมล็ด เสียบยอด ติดตา และตอนกิ่ง

ส่วนของพืชที่ใช้ประโยชน์ : ยอดอ่อนและผล

แหล่งเก็บหา : สวนหน้าบ้าน ทั่วไป

เมนูอาหารผักยืนต้น

ผลมะยมรสเปรี้ยวมีวิตามินซีสูง ช่วยดับร้อนปละปรับสมดุลร่างกาย นอกจากกินสดจิ้มกริกเกลือ ก็สามารถนำมาแปรรูปเป็นของกินเล่น เช่น มะยมเชื่อม มะยมแช่อิ่ม มะยมดอง คนอีสานนิมยมนำมาตำส้ม เรียกว่าตำหมากยม ใบมะยมอ่อนรสมันนำมากินเป็นผักสดกินกับน้ำพริก ลาบ ขนมจีนน้ำยา หรือจะกินคู่กับส้มตำก็เข้ากันดี

จากหนังสือ 50 สูตรอร่อยกับผักยืนต้น จาก 8 พื้นที่ความมั่นคงทางอาหาร หน้า 113
จาก หนังสือผักยืนต้น กินผักอายุยืน โลกอายุยาว โดย กฤช เหลือลมัย หน้า 128 129

ข้อมูลทางโภชนาการ

คุณค่าทางโภชนาการของผลมะยม ขนาด 100 กรัม

ให้พลังงาน 33 แคลอรี่
คาร์โบไฮเดรต 6.40 กรัม
ไขมัน 0.40 กรัม
โปรตีน 0.90 กรัม
แคลเซียม 32 มิลลิกรัม
ธาตุเหล็ก 0.50 มิลลิกรัม
ฟอสฟอรัส 31 มิลลิกรัม
โพแทสเซียม 200 มิลลิกรัม
โซเดียม 2 มิลลิกรัม
วิตามินB1 0.10 มิลลิกรัม
วิตามินB2 0.03 มิลลิกรัม
วิตามินB6 0.02 มิลลิกรัม
วิตามินซี 28 มิลลิกรัม

สรรพคุณทางยา

ใบ : รสจืดมัน ปรุงเป็นยา กินดับพิษร้อนถอนพิษไข้ แก้ไข้ตัวร้อน ไข้หัวต่าง ๆ ต้มรวมกับใบหมากผู้หมากเมีย ใบมะเฟือง อาบแก้ผื่นคัน พิษไข้หัว เหือด หัด สุกใส ดำแดง ฝีดาษ

เปลือกต้น : รสจืด ต้มดื่มแก้ไข้เพื่อโลหิต ต้มอาบแก้เม็ดผดผื่นคัน

ราก : รสจืด ปรุงยา กินแก้โรคผิวหนัง เม็ดผดผื่นคัน ประดง แก้น้ำเหลืองเสีย

ลูก : รสเปรี้ยวสุขุม กัดเสมหะ แก้ไอ บำรุงโลหิต ระบายท้อง

การใช้ประโยชน์อื่นๆ

  • เปลือกนำมาใช้ฟอกหนัง
  • สารสกัดจากพืชนำมาใช้ยับยั้งพวกไส้เดือนฝอยในต้นสน
  • เนื้อไม้สีน้ำตาลแดง เนื้อละเอียด น้ำหนักปานกลาง ทนทาน แข็งแรง สามารถทำเป็นเครื่องมือขนาดเล็ก ใช้สำหรับทำไม้เชื้อเพลิง