ข้อมูลทางพฤกษศาสตร์
ชื่อสามัญ : Indian gooseberry, Malacca tree
ชื่ออื่น ๆ : กันโตด (เขมร-จันทบุรี); กำทวด (ราชบุรี); มั่งลู่, สันยาส่า (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน)
วงศ์ : PHYLLANTHACEAE
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Phyllanthus emblica L.
ชื่อพ้องวิทย์ : Cicca emblica (L.) Kurz , Diasperus emblica (L.) Kuntze , Dichelactina nodicaulis Hance , Emblica arborea Raf. , Emblica officinalis Gaertn. , Phyllanthus glomeratus Roxb. ex Wall. nom. inval. , Phyllanthus mairei H.Lév. , Phyllanthus mimosifolius Salisb. , Phyllanthus taxifolius D.Don
ลักษณะสำคัญ : ไม้โตช้า เรือนยอดโปร่ง ลำต้นมักคดงอและมีหนาม เปลือกนอกสีน้ำตาลอมเทา ผิวเรียบหรือค่อนข้างเรียบ หลุดลอกเป็นแผ่นกว้างๆ เปลือกชั้นในสีน้ำตาลแดง ปลายกิ่งมักลู่ลง หูใบรูปสามเหลี่ยมขนาดเล็ก ใบ 2 ซม. เรียงสลับระนาบเดียว รูปแถบ ปลายมน โคนเว้าตื้น เบี้ยว ก้านใบยาว 0.2-0.8 มม. ช่อดอกออกเป็นกระจุกตามซอกใบช่วงโคนกิ่ง ไม่มีกลีบดอก ดอกเพศผู้ก้านดอกยาว 1.5-3 มม. กลีบเลี้ยง 6 กลีบ รูปไข่แกมรูปขอบขนาน ยาว 1.2-2 มม. จานฐานดอกเป็นต่อมรูปกระบอง 6 ต่อม เกสรเพศผู้ 3 อัน เชื่อมติดกันที่โคน ดอกเพศเมียก้านสั้นกว่าในดอกเพศผู้ กลีบเลี้ยงยาวกว่าเล็กน้อย จานฐานดอกเป็นวงมีสัน รังไข่เกลี้ยง ก้านเกสรเพศเมียยาว 1-1.5 ม. ยอดเกสรแยก 2 แฉก ผล 2-3 ซม. กลม เมล็ด 4-6 มม.
ระบบนิเวศและการกระจาย : พบที่อินเดีย ภูฏาน ศรีลังกา จีนตอนใต้ พม่า ภูมิภาคอินโดจีนและมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ในไทยมักขึ้นในป่าหลายประเภท พบตามป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ ป่าสนผสมก่อ ความสูงถึงประมาณ 1500 เมตร
การเพาะปลูก : พืชส่วนใหญ่อยู่ในเขตร้อนชื้น ที่ราบต่ำ แต่การเจริญเติบโตได้ในเขตกึ่งแห้งแล้ง อุณหภูมิกลางวันในแต่ละปีอยู่ในช่วง 20-29 oC ทนได้ 14-35 oC ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยต่อปี 1500-2500 มม. ทนได้ 700-4200 มม. เป็นพืชที่ปลูกง่ายมาก ชอบแดดจัด หรือร่มบ้าง ดินระบายน้ำดี ทนดินที่เป็นด่างสูง pH 8 การขาดสารอาหารจะเห็นได้ชัด หากปลูกเพื่อเอาผลผลิตสูงสุด ควรปลูกในดินชั้นดินลึก ดินร่วนปนทราย pH 6-8 ทนกรดได้ถึง 5 ต้นไม้โตช้า และให้ผลเมื่ออายุ 6-8 ปี พืชออกดอกช่วงกลางวันยาวระหว่าง 12-13.5 ชม. ให้ผลเฉลี่ย 15-25 kg/ต้น ผลสุกอาจอยู่บนต้นได้หลายเดือนโดยไม่เสียคุณภาพ ต้นไม้ตอบสนองต่อการตัดแต่งเรือนยอดและทำสาวต้นได้ดี การตัดแต่งเรือนยอดทำให้ได้ผลผลิตสม่ำเสมอ ผึ้งช่วยผสมพันธุ์ ปกติพืชเป็นพืชที่มีดอกแยกเพศอยู่ร่วมต้น (monoecious) แต่บางครั้งก็พบว่าเป็น 2 เพศแยกคนละต้น (dioecious)
การขยายพันธุ์ : มีหลายวิธี เพาะเมล็ด ปักชำกิ่ง ตอนกิ่ง และทาบกิ่ง เมล็ดเก็บทันทีและเพาะหลังผลสุกทันทีดีที่สุด เก็บไว้นานไม่ดี นำผลตากแดดให้แห้งเพื่อให้การแกะเมล็ดง่ายขึ้น ทดสอบเมล็ดด้วยการลอยน้ำ 100%ของเมล็ดที่จมจะงอกใน 4 เดือน ต้นกล้าขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 8 มม. สามารถเสียบยอดหรือนำไปทาบกิ่งได้ การปักชำกิ่งใช้ไม้ส่วนปลายยอดที่เกือบแข็ง เพาะชำคลุมถุงให้มีความชื้น การออกรากจะสูงถึง 84 %
ส่วนของพืชที่ใช้ประโยชน์ : ยอดอ่อน ผล
แหล่งเก็บหา : ทุกพื้นที่
เมนูอาหารผักยืนต้น
ข้อมูลทางโภชนาการ
สรรพคุณทางยา
ใบ : รสฝาดขม ต้มอาบลดไข้
ดอก : รสหอมเย็น เข้ายาเย็น ระบายท้อง
ลูกอ่อน : รสเปรี้ยวหวานฝาดขม บำรุงเนื้อหนังให้บริบูรณ์ กัดเสมหะในคอ ทำให้เสียงเพราะ แก้มังสังให้บริบูรณ์ แก้พรรดึก แก้พยาธิ
ลูกแก่ : รสเปรี้ยวฝาดขมเผ็ด แก้ไข้เจือลม แก้ไอ แก้เสมหะ ทำให้ชุ่มคอ ลดไข้ ขับปัสสาวะ ระบายท้อง บำรุงหัวใจ ฟอกโลหิต แก้ลม แก้โรคลักปิดลักเปิด
เนื้อลูกแห้ง : รสเปรี้ยวฝาดขม เป็นยาฝาดสมาน แก้ริดสีดวงทวาร แก้บิด ท้องเสีย ใช้ควบกับธาตุเหล็ก แก้โรคดีซ่าน และช่วยย่อยอาหาร หมักได้แอลกอฮอล์ รับประทานแก้อาหารไม่ย่อย แก้ไอ แก้ดีซ่าน
ยางจากผล : รสเปรี้ยวฝาดขม หยอดตาแก้ตาอักเสบ กินช่วยย่อยอาหาร ขับปัสสาวะ
เปลือกต้น : รสฝาดขม สมานแผล
ราก : รสฝาดเมาเบื่อสุขุม (ฝาดขม) ต้มดื่มแก้ไข้ แก้พิษไข้ พิษโลหิต ทำให้เส้นยืด แก้มะเร็งกรามช้าง เป็นยาเย็น ฟอกโลหิต ทำให้อาเจียน กลั่นได้สารที่มีคุณสมบัติฝาดสมานดีกว่าสีเสียด
การใช้ประโยชน์อื่นๆ
- พืชทนไฟ และเป็นต้นไม้แรกๆที่ฟื้นตัวหลังจากไฟไหม้ จึงถูกปลูกเป็นไม้เบิกนำในโครงการปลูกฟื้นฟูป่าเสื่อมโทรมของไทย และดึงดูดสัตว์ป่าโดยเฉพาะนกและค้างคาว
- ตัดกิ่งก้านลงไถกลบเป็นปุ๋ยพืชสด และปรับปรุงดินที่มีสภาพเป็นด่าง (alkaline soils) pH มากกว่า 7
- เปลือกไม้ รากไม้ ใบ และผลอ่อน มีแทนนินสูง
- เปลือกแห้งมีสารแทนนินมากกว่าเปลือกสด โดยปกติมีการตัดแต่งกิ่งทุก 2 ปี ใบ เปลือกและผลใช้ย้อมเสื่อปู เครื่องจักสานไม้ไผ่ ผ้าไหมและผ้าขนสัตว์จากสีน้ำตาล เปลี่ยนเป็นสีเทาและสีดำในที่สุดเมื่อใช้เกลือของเหล็กช่วยให้สีติดกับสิ่งที่ย้อม โดยเกลือของเหล็ก (iron salts)เป็น mordant ผลยังใช้เตรียมหมึกดำและสีย้อมผม
- ผลแห้งอาจมีคุณสมบัติผงซักฟอก และใช้สำหรับล้างหัวมีใช้บางส่วนในเนปาล
- เนื้อไม้สีแดง ผิวละเอียด ค่อนข้างหนัก แข็งแต่ยืดหยุ่น ถึงอย่างไรก็ยังหักง่ายมาก มักถูกใช้ในงานไม้เล็กน้อย มีความทนทานมากเมื่อจมอยู่ใต้น้ำ และเชื่อว่าจะทำให้น้ำใสขึ้น มันถูกใช้ในการปรับสภาพน้ำดิบ
- เป็นไม้เชื้อเพลิงและถ่านคุณภาพดี