เพกา

ข้อมูลทางพฤกษศาสตร์

ชื่อสามัญ : Indian trumpet flower, Midnight horror

ชื่ออื่น ๆ : กาโด้โด้ง (กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี); ด๊อกก๊ะ, ดอก๊ะ, ดุแก (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน); เบโก (มาเลย์-นราธิวาส); เพกา (ภาคกลาง); มะลิดไม้, มะลิ้นไม้, ลิดไม้ (ภาคเหนือ); ลิ้นฟ้า (เลย); หมากลิ้นก้าง, หมากลิ้นซ้าง (เงี้ยว-ภาคเหนือ)

วงศ์ : BIGNONIACEAE

ชื่อวิทยาศาสตร์ Oroxylum indicum (L.) Kurz

ชื่อพ้องวิทย์ : Bignonia indica L.

ลักษณะสำคัญ : ไม้โตเร็ว ยอดยาวเหยียด และกระจัดกระจาย ทรงพุ่มโปร่ง เปลือกต้นสีน้ำตาลครีมอ่อนหรือเทาอ่อน มีรอยแตกละเอียด และแผลใบ ใบประกอบขนนก 2-4 ชั้น เรียงตรงข้าม ออกหนาแน่นที่ปลายกิ่ง ยาว 60-170 ซม. รวมก้าน ใบย่อยรูปไข่หรือแกมรูปขอบขนาน ยาว 5-13 ซม. ปลายแหลมยาว โคนเบี้ยว ก้านใบยาวประมาณ 1 ซม. ช่อดอกแบบช่อกระจะ ยาวได้ถึง 1.5 ม. ดอกเรียงแน่นที่ปลายช่อ ก้านดอกยาว 2-7 ซม. กลีบเลี้ยงรูประฆัง ยาว 2-4 ซม. ขอบเกือบเรียบ ติดทน ดอกรูปแตร หนา สีม่วงอมน้ำตาลแดง ด้านในสีครีม โคนมีปื้นสีน้ำตาลแดง หลอดกลีบดอกช่วงโคนยาวประมาณ 1.5 ซม. ช่วงกว้างยาว 6-9 ซม. กลีบบน 2 กลีบ กลีบล่าง 3 กลีบ พับงอกลับ เกสรเพศผู้ 5 อัน ติดประมาณกึ่งกลางหลอดกลีบดอก จุดติดมีขน อับเรณูยาวประมาณ 1 ซม. โคนกางออก จานฐานดอกจัก 5 พู ก้านเกสรเพศเมียยาวกว่าเกสรเพศผู้ ยอดเกสรจัก 2 พูตื้น ๆ ยาวประมาณ 7 มม. ดอกบานออกตอนกลางคืน มีกลิ่นค่อนข้างสาบฉุน มักจะพบดอกร่วงบนพื้นดินตอนเช้า กลีบมักมีรอยขีดข่วนเกิดจากค้างคาวที่มากินน้ำหวานจากดอกในตอนกลางคืน ผล 40-120 ซม. แห้งแตกตามรอยประสาน รูปแถบ แบนยาว เปลือกหนา เมล็ด 6-7 ซม.กลม มีปีกบาง

ระบบนิเวศและการกระจาย : พบที่อินเดีย เนปาล ศรีลังกา จีนตอนใต้ พม่า ภูมิภาคอินโดจีนและมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ในไทยพบทุกภาค ขึ้นในที่โล่งแจ้ง ป่าขั้นที่สอง ชายป่า ความสูงถึงประมาณ 1200 เมตร หรือพบปลูกตามบ้านเรือน

การเพาะปลูก : ปลูกเป็นไม้ประดับ ทนสภาพอากาศได้กว้างตั้งแต่เขตร้อนชื้นถึงกึ่งร้อน ชอบดินอุดมสมบูรณ์ ดินมีความชื้น แดดจัด หรือร่มเงา เติบโตเร็วสูงถึง 5-10 เมตร และจะโตช้าลงเมื่อออกดอก ดอกบานกลางคืน มีกลิ่นเหม็นแรงที่ค้างคาวสนใจช่วยผสมเกสร

การขยายพันธุ์ : เมล็ด ควรแช่ในน้ำอุ่นก่อน 24 ชั่วโมงก่อนหยอดเมล็ด ในที่ร่มรำไรในเรือนเพาะชำ อัตรางอก 50 % งอกภายใน 19-25 วัน หรือแยกหน่อ

ส่วนของพืชที่ใช้ประโยชน์ : ยอดอ่อน ดอก ฝักอ่อน

แหล่งเก็บหา : ทุกพื้นที่

เมนูอาหารผักยืนต้น

เพกากินได้ทั้งยอด ดอกและฝักอ่อน ส่วนที่นิยมกินกันมากคือฝักเพกาอ่อน กินดิบมากินกับน้ำพริก แจ่วบอง ลาบ ก้อย หรือจะเผาไฟแล้วขูดเปลือกออกจะช่วยลดรสขมของฝักเพกา หรือจะหั่นซอยตามขวางแล้วนำมายำ แกงหรือผัด ทำเป็นแหนมเพกาก็มี

จากหนังสือ 50 สูตรอร่อยกับผักยืนต้น จาก 8 พื้นที่ความมั่นคงทางอาหาร หน้า 87

ข้อมูลทางโภชนาการ

คุณค่าโภชนาการฝักอ่อนของเพกาน้ำหนัก 100 กรัม

จะมีวิตามินซีถึง 484 มิลลิกรัม
วิตามินเอสูงถึง 8,300 มิลลิกรัม
ธาตุแคลเซียม 13 มิลลิกรัม
ธาตุฟอสฟอรัส 4 มิลลิกรัม
โปรตีน 0.2 กรัม
คาร์โบไฮเดรต 14 กรัม
ไขมัน 0.5 กรัม
เส้นใย 4 กรัม

สรรพคุณทางยา

ฝักอ่อน : รสขมร้อน ขับผายลม

ฝักแก่ : รสขม แก้ร้อนในกระหายน้ำ

เมล็ดแก่ : รสขม ระบายท้อง แก้ไอ ขับเสมหะ

เปลือกต้น : รสฝาดขมเย็น สมานแผล ดับพิษกาฬ แก้ร้อนใน แก้ท้องร่วง ทำให้น้ำเหลืองเป็นปกติ ดับพิษโลหิต
ตำผสมสุราพ่นตามตัวสตรีที่ทนการอยู่ไฟไม่ได้ ให้ผิวหนังชา
ตำผสมกับน้ำส้มมดแดงกับเกลือสินเธาว์ กินขับลมในลำไส้ แก้บิด แก้อาเจียนไม่หยุด
ต้มดื่มแก้เสมหะจุกคอ ขับเสมหะ ขับเลือดเน่าในเรือนไฟ บำรุงโลหิต แก้บิด แก้จุกเสียด
ฝนกับสุรา กวาดปากแก้พิษซางเม็ดสีเหลือง แก้ละออง แก้ซางเด็ก ทาแก้ปวดฝี แก้ฟกบวม

ราก : รสฝาดขม บำรุงธาตุ ทำให้เกิดน้ำย่อยอาหาร แก้ไข้สันนิบาตร แก้ท้องร่วง ฝนกับน้ำปูนใส ทาแก้อักเสบฟกบวม

ทั้งห้า : รสฝาดขมเย็น สมานแผล แก้อักเสบฟกบวม แก้ท้องร่วง แก้ไข้เพื่อลมและโลหิต แก้น้ำเหลืองเสีย

การใช้ประโยชน์อื่นๆ

  • เป็นไม้เบิกนำ โตเร็ว ในการฟื้นฟูป่า
  • เมล็ดใช้เป็นซับในของหมวกหรือร่ม ปีกบางของเมล็ดถูกร้อยเป็นพวงมาลัยบูชาเทพ
  • ฝักและเปลือกใช้ในการฟอกย้อมสี
  • ไม้เนื้ออ่อนใช้ทำไม้ขีดไฟ ไม้ใช้เป็นเชื้อเพลิง