ข้อมูลทางพฤกษศาสตร์
ชื่อสามัญ : Sweet leaf bush
ชื่ออื่น ๆ : ก้านตง, จ๊าผักหวาน (ภาคเหนือ); โถหลุ่ยกะนีเด๊าะ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน); นานาเซียม (มาเลย์-สตูล); ผักหวาน (ทั่วไป); ผักหวานใต้ใบ (สตูล); ผักหวานบ้าน (ทั่วไป); มะยมป่า (ประจวบคีรีขันธ์)
วงศ์ : PHYLLANTHACEAE
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Breynia androgyna (L.) Chakrab. & N. P. Balakr.
ชื่อพ้องวิทย์ : Clutia androgyna L., Sauropus androgynus (L.) Merr.
ลักษณะสำคัญ : ทรงพุ่มโปร่ง หูใบยาว 2-3 มม. ใบรูปไข่ ยาว 2-9 ซม. ปลายแหลมหรือมน โคนกลมหรือตัด แผ่นใบด้านล่างสีเขียวอ่อน ก้านใบยาว 2-3 มม. ดอกสีเขียวอมเหลืองหรือแดง กลีบหนา ดอกเพศผู้เส้นผ่านศูนย์กลาง 0.5-1.8 ซม. ก้านดอกยาว 0.5-1.3 ซม. ดอกเพศเมียเส้นผ่านศูนย์กลาง 0.5-1 ซม. ก้านดอกยาวประมาณ 3 มม. ขยายในผลได้ถึง 1.4 ซม. กลีบเลี้ยงกลีบเล็กยาว 2-4 มม. กลีบใหญ่ยาว 2.5-5.5 ซม. เรียวแคบกว่าเล็กน้อย ยอดเกสรเพศเมียยาวประมาณ 1.2 มม. บานออกตามแนวระนาบ ม้วนงอ ผลรูปรีกว้างเกือบกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง 1-1.5 ซม. เกลี้ยง สีขาว เมล็ดยาว 7-8 มม.
ระบบนิเวศและการกระจาย : พบที่อินเดีย ศรีลังกา จีนตอนใต้ พม่า ภูมิภาคอินโดจีนและมาเลเซีย นิวกินี ในไทยพบทุกภาค ขึ้นตามชายป่า ที่โล่ง ความสูงถึงประมาณ 600 เมตร
การเพาะปลูก : –
การขยายพันธุ์ : เมล็ด ปักชำ
ส่วนของพืชที่ใช้ประโยชน์ : ยอดอ่อน ใบ
แหล่งเก็บหา : ทุกพื้นที่
เมนูอาหารผักยืนต้น
ยอดและใบอ่อนของผักหวานบ้าน มีรสหวานเย็น นำมาปรุงอาหารได้หลากหลาย ต้ม นึ่ง จิ้มน้ำพริก ผัดไฟแดง ทำราดหน้าแทนคะน้า แกงจืด แกงอ่อม ฯลฯ ผักหวานบ้านมีวิตามินเอสูงมาก แต่ก็ไม่ควรกินดิบหรือกินมากเกินไปเพราะมีสาร Papaverine ที่เป็นพิษต่อปอด
ข้อมูลทางโภชนาการ
คุณค่าทางโภชนาการต่อ 100 กรัม
พลังงาน 39 แคลอรี
โปรตีน 0.1 กรัม
ไขมัน 0.6 กรัม
คาร์โบไฮเดรต 8.3 กรัม
ใยอาหาร 2.1 กรัม
วิตามินเอ 8,500 หน่วยสากล
วิตามินบี 1 0.12 มิลลิกรัม
วิตามินบี 2 1.65 มิลลิกรัม
วิตามินบี 3 3.6 มิลลิกรัม
วิตามินซี 32 มิลลิกรัม
แคลเซียม 24 มิลลิกรัม
ฟอสฟอรัส 68 มิลลิกรัม
ธาตุเหล็ก 1.3 มิลลิกรัม
สรรพคุณทางยา
ใบและต้น : รสหวานเย็น ใช้น้ำยางหยอดตาแก้อักเสบ รักษาแผลในจมูก
ดอก : บำรุงสุขภาพ แก้ไอ
ราก : รสเย็น ระงับความร้อน ถอนพิษไข้กลับ ไข้ซ้ำ แก้โรคคางทูม แก้ปัสสาวะอักเสบ ลดไข้