ข้อมูลทางพฤกษศาสตร์
ชื่อสามัญ : Durian
ชื่ออื่น ๆ : ดือแย ,เรียน (มาเลย์-ภาคใต้)
วงศ์ : MALVACEAE
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Durio zibethinus L.
ชื่อพ้องวิทย์ : Durio acuminatissimus Merr. , Durio stercoraceus Noronha nom. inval.
ลักษณะสำคัญ : หูใบรูปลิ่มแคบ ร่วงเร็ว ใบ 10-25 ซม. เรียงเวียน รูปขอบขนาน ปลายแหลมยาว โคนมน เส้นแขนงใบข้างละ 9-14 เส้น เรียงจรดกันใกล้ขอบใบ แผ่นใบด้านล่างมีเกล็ดมีเงิน เหลือง หรืออมแดง ก้านใบยาว 1-2 ซม. ดอกออกเป็นกระจุกตามกิ่ง มีได้ถึง 30 ดอก ดอกสีขาวครีม บานช่วงบ่ายถึงกลางคืน กลีบเลี้ยงและกลีบดอกมีจำนวนอย่างละ 5 กลีบ ใบประดับหุ้มดอกตูม ก้านดอกหนา ยาว 5-6 ซม. ใบประดับรูปไข่ แยกเป็น 2-3 ส่วน ในดอกบาน ยาวประมาณ 1.5 ซม. ร่วงเร็ว กลีบเลี้ยงเป็นหลอด ยาวประมาณ 2 ซม. กลีบดอกรูปใบพาย ยาวประมาณ 4 ซม. ด้านนอกมีขนประปราย ในสายพันธุ์อื่น ๆ อาจมี 4 หรือ 6 กลีบ เกสรเพศผู้จำนวนมาก เชื่อมติดกันเป็น 5 มัด อับเรณูมีช่องเดียว ติดที่โคน อับเรณูโค้ง บิดเป็นเกลียว รังไข่เหนือวงกลีบ มี 5 ช่อง ผลแห้งแตกเป็น 5 พู รูปรีหรือรูปขอบขนาน ยาวได้ถึง 30 ซม. มีหนามแข็ง เมล็ดมีเยื่อหุ้ม มีกลิ่นหอมแรง
ระบบนิเวศและการกระจาย : มีถิ่นกำเนิดในมาเลเซียและอินโดนีเซีย นักพฤกษศาสตร์บางท่านระบุว่าไม่พบทุเรียนในธรรมชาติ ปลูกเป็นไม้ผลทั่วไปในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จีน อินเดีย และออสเตรเลีย มีมากกว่า 100 สายพันธุ์ ระดับความสูงถึง 800 เมตร
การเพาะปลูก : พืชเขตร้อนใกล้เส้นศูนย์สูตรถึง 18 องศาเหนือ ที่ระยะห่างออกไปการเติบโตจะหยุดชะงักช่วงเดือนที่อุณหภูมิเฉลี่ยต่ำกว่า 22 oC สามารถทนได้ถึง 12-45 oC ชอบปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยต่อปี 1500-2500 มม. แต่ทนได้ 1200-3500 มม. และต้องการปริมาณน้ำฝนที่กระจายตัวดี ทนแล้งได้นาน 2-3 เดือน ชอบดินร่วนและมีซากพืชที่อุดมสมบูรณ์ ชอบแสงแดดจัดแต่ตอนต้นยังเล็กควรพรางแสง 50 % แล้วจึงค่อยเพิ่มขึ้นแสงเมื่อต้นโตขึ้น pH 5-6.5 ทนได้ 4.3-7.5 เริ่มให้ผลผลิตเมื่ออายุประมาณ 7-8 ปี ส่วนต้นที่เสียบยอดให้ผลผลิตที่เร็วกว่า 3-4 ปี มักออกดอกปีละครั้งหรือสองครั้ง ดอกสมบูรณ์เพศบานตอนกลางคืน มีค้างคาว ผีเสื้อกลางคืนช่วยผสมเกสร การออกผลดีที่สุดอยู่บนกิ่งนอนมาก การควบคุมความสูงจำเป็นต้องตัดแต่งกิ่งแนวตั้ง
การขยายพันธุ์ : มีหลายวิธีการ สมัยก่อนเพาะเมล็ด เมล็ดมีช่วงชีวิตที่สั้น ดีที่สุดเมื่อนำไปแช่น้ำ ทิ้งเอาไว้สัก1-2 คืน สังเกตเมล็ดมีตุ่มงอกออกมา เพาะในกระถางจะงอกดีมากใช้เวลา 3-8 วัน หรือจะนำไปปลูกในตำแหน่งที่ต้องการได้เลย ต้นกล้าใช้เวลา 7 ปีก่อนเริ่มให้ผลผลิต ปัจจุบันจะเพาะเมล็ดแล้วนำกิ่งพันธุ์ที่ดีมาเสียบยอด หรือตอนกิ่งซึ่งจะให้ผลผลิตที่เร็วกว่าเพาะเมล็ด
ส่วนของพืชที่ใช้ประโยชน์ : ดอก นำมาใส่หมูในดอกต้มทำแกง และผลสุก เมล็ด นำไปเผาหรือต้มกินได้
แหล่งเก็บหา : ทุกพื้นที่
หมายเหตุ : ทุเรียนชนิดพันธุ์นี้มีการเพาะปลูกและพัฒนาสายพันธุ์มานาน ในไทยมีประวัติศาสตร์มากกว่า 400 ปี จนมีการจัดจำแนกกลุ่มพันธุ์ทุเรียนตามลักษณะรูปร่างใบ ปลายใบ โคนใบ ทรงผล และหนามผลได้ 6 กลุ่ม คือ กลุ่มกบ กลุ่มลวง กลุ่มก้านยาว กลุ่มกำปั่น กลุ่มทองย้อยและกลุ่มเบ็ดเตล็ด และยังมีอีกหลายชนิดที่อยู่ในป่าธรรมชาติ เช่น ทุเรียนป่าหรือทุเรียนเถื่อน Durio mansonii (Gamble) Bakh., ทุเรียนนก(ยะลา) Durio griffithii (Mast.) Bakh., ซาเรียน (ระนอง) Durio lowianus Scort. ex King และอีกชนิดที่ชื่อทุเรียนแต่ไม่ใช่ทุเรียนจริง คือทุเรียนเทศ Annona muricata L. ที่อยู่ในวงศ์ ANNONACEAE หน้าตาคล้ายทุเรียนแต่ไม่มีหนามแข็ง ชื่อสามัญเรียก Durian belanda
เมนูอาหารผักยืนต้น
ข้อมูลทางโภชนาการ
สรรพคุณทางยา
ใบ : รสขมเย็นเฝื่อน ต้มอาบแก้ไข้ แก้ดีซ่าน ขับพยาธิ ทำให้หนองแห้ง
เนื้อหุ้มเมล็ด : รสหวานร้อน ทำให้เกิดความร้อน แก้โรคผิวหนัง ทำให้ฝีแห้ง ขับพยาธิ
เปลือกลูก : รสฝาดเฝื่อน สมานแผล แก้น้ำเหลืองเสีย พุพอง แก้ฝีตานซาง คุมธาตุ เผาเอาเถ้าละลายน้ำมันมะพร้าวทาแก้คางทูม เผาเอาควันไล่ยุงและแมลง
ราก : รสฝาดขม ต้มดื่มแก้ไข้ แก้ท้องร่วง
การใช้ประโยชน์อื่นๆ
- แก่นไม้สีแดงเข้ม เนื้อไม้ผิวหยาบ แต่ค่อนข้างทน มักใช้ในการก่อสร้างภายในที่ไม่ต้องการความแข็งแรงและคงทนมากนัก
- เปลือกไม้และเปลือกผลแห้งใช้เป็นเชื้อเพลิง คนจีนนิยมนำขี้เถ้าจากเปลือกผลแห้งมาทำน้ำด่าง เพื่อทำขนมกีจ่าง หรือขนมจ้าง โดยนำด่างผสมน้ำไปแช่ข้าวเหนียว แล้วห่อด้วยใบไผ่ นำไปต้ม เสร็จแล้วจะได้ขนมที่มีสีเหลืองนวลหอมน่ากิน จะจิ้มกับน้ำตาลอ้อยหรือใส่น้ำแข็งไสก็ได้