กระท้อน

กะท้อนอายุ 1 ปี ที่ สวนชีววิถี

ข้อมูลทางพฤกษศาสตร์

ชื่อสามัญ : Santol, Sentul, Red sentol, Yellow sentol

ชื่ออื่นๆ : สะตู สตียา (นราธิวาส), สะโต (ปัตตานี), เตียนล่อน สะท้อน (ภาคใต้), มะติ๋น (ภาคเหนือ), มะต้อง (อุดรธานี, ภาคเหนือ)

วงศ์ : วงศ์กระท้อน (MELIACEAE)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Sandoricum koetjape (Burm.f.) Merr. 

ชื่อพ้องวิทย์ : –

ลักษณะสำคัญ : เรือนยอดทึบแน่น เปลือกนอกต้นสีเทา ผิวเรียบหรือล่อนเป็นชิ้นกลมบาง เปลือกในสีชมพู ใบประกอบ มีใบย่อยรูปไข่หรือไข่กว้าง 3 ใบ ออกใกล้ปลายกิ่ง ใบย่อย 8-18×3.5-9 ซม. ขอบใบเรียบ ผิวมัน ใบอ่อนมีขนนุ่ม สีเขียวเข้มถึงสีแดงเข้ม ดอก 1-1.8 ซม. สีเหลืองหรือออกเขียว ออกเป็นกลุ่มในซอกใบ ดอกแยกเพศ ผล 5-8 ซม. กลม สีเหลืองหรือน้ำตาลทอง ผลอ่อนผิวคล้ายกำมะหยี่ ผลแก่เปลือกหนานุ่มและย่น มียางขาว ภายในเป็นปุยขาว กินได้ เมล็ด 2 ซม. มี 3-5 เมล็ด สีน้ำตาล มีกลุ่มขนยาว มีเนื้อคล้ายวุ้นห่อหุ้ม

ระบบนิเวศและการกระจาย : ถิ่นกำเนิดในแถบอินโดจีนและคาบสมุทรมาเลย์ กระจายในอินเดีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ถูกนำมาปลูกจนเป็นผลไม้ตามฤดูกาล ขายในตลาดท้องถิ่น ส่งจีน ไต้หวัน ออสเตรเลีย อเมริกากลาง และทางตอนใต้รัฐฟลอริดา ในไทยพบได้ในป่าดิบชื้น ไม่สูงกว่า 1000 เมตร

การเพาะปลูก : เป็นพืชที่ชอบร้อนชื้น แดดจัด ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 950-5000 มม. ทนแล้ง ทนลมแต่ไม่ทนหนาว ชอบดินอุดมสมบูรณ์ ระบายน้ำดี กรดปานกลาง เริ่มออกดอกหลังปลูก 5-7 ปี มีการพัฒนาสายพันธุ์ให้มีหลากหลาย เนื้อผลที่อร่อยขึ้น และส่งออกต่างประเทศ

การขยายพันธุ์ : เพาะเมล็ด หลังผลสุกเพาะทันทีมีอัตราการงอก 90-95% ภายใน 16-31 วัน และตอนกิ่ง

ส่วนของพืชที่ใช้ประโยชน์ : ผลสุก กินสด เมล็ดกินไม่ได้ ที่ฟิลิปปินส์นำเนื้อในผลไปทำเป็นแยมกระท้อน ส่งออกโรงแรมที่สหรัฐอเมริกา ผลสุกมากนำมาหมักทำเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่มาเลเซียนำผลอ่อนมาเชื่อม

แหล่งเก็บหา : ทุกพื้นที่

เมนูอาหารผักยืนต้น

กระท้อนเป็นผลไม้ที่นอกจากกินสดหรือทำลอยแก้วแล้วยังสามารถนำมาแปลงทำเป็นสำรับกับข้าวมากที่สุดอีกชนิดหนึ่ง โดยเฉพาะพันธุ์เปรี้ยว ที่ใช้เนื้อผลและเยื่อปุยขาวๆหุ้มเมล็ดนั้นให้ความเปรี้ยวอมหวานในผัดหมูแบบคนจีน แกงส้มหรือตำส้ม ยำกับหมูต้มและกุ้งแห้ง แช่อิ่ม ตลอดจนตำเป็นน้ำพริกกระท้อน

ใบกระท้อนอ่อนไม่มีรายงานยืนยันการเอามากินไม่ว่าสดหรือลวกสุก แต่ใบแก่สีแดงจัดนั้นบางแห่งตากแห้งจนกรอบและป่นเป็นผงให้สีแดงเสริม(หรือปลอมตัวเพื่อเพิ่มปริมาณให้)พริกป่นด้วย

จาก หนังสือผักยืนต้น กินผักอายุยืน โลกอายุยาว โดย กฤช เหลือลมัย

ข้อมูลทางโภชนาการ

กะท้อน 100 กรัม
โปรตีน 0.118 กรัม
ไขมัน 0.1 กรัม
ใยอาหาร 0.1 กรัม
แคลเซียม 4.3 มิลลิกรัม
ฟอสฟอรัส 17.4 มิลลิกรัม
ธาตุเหล็ก 0.42 มิลลิกรัม
เบต้าแคโรทีน 0.003 ไมโครกรัม
Thiamin 0.045 ไมโครกรัม
วิตามินซี 86 มิลลิกรัม

ที่มา : ตารางแสดงคุณค่าทางโภชนาการของอาหารไทย   ISBN : 974-515-295-1   กองโภชนาการ   กรมอนามัย   กระทรวงสาธารณสุข, 2544

สรรพคุณทางยา

ใบ : รสเปรี้ยวเย็นฝาด ขับเหงื่อ ต้มอาบแก้ไข้

เปลือกต้น : รสเปรี้ยวเย็นฝาด รักษาโรคผิวหนัง

เปลือกลูก : รสเปรี้ยวเย็นฝาด สมาน

ราก : รสเปรี้ยวเย็นฝาด แก้ท้องร่วง แก้บิดมูกเลือด ดับพิษร้อน ถอนพิษไข้ แก้ไข้รากสาด

การใช้ประโยชน์อื่นๆ

  • รากมีราไมครอไรซา (vesicular arbiscular mycorrhizae หรือ VAM) ซึ่งช่วยปรับปรุงและอนุรักษ์ดิน
  • เมล็ดมีฤทธิ์ฆ่าแมลง จากสาร limonoids antifeedants และ 6-hydroxysandoricin มีประสิทธิภาพลดการเจริญเติบโตของตัวอ่อนหนอนเจาะรู (ostrina nubilalis)
  • ไม้เนื้อแข็งปานกลาง ใช้ทำเสาบ้าน เฟอร์นิเจอร์ เรือ เกวียน เครื่องใช้ในครัวเรือน รั้ว และงานแกะสลัก
  • แก่นไม้แห้งนำมาใช้ทำน้ำหอมได้ จากสาร triterpenes-katonic
  • ในซาราวักใช้ผลเป็นเหยื่อล่อและเปลือกมีแทนนินใช้เบื่อปลา
  • ใช้ทำถ่านคุณภาพดี เพราะเนื้อไม้ให้กลิ่นหอม