ผักติ้ว

ข้อมูลทางพฤกษศาสตร์

ชื่อสามัญ : N/A
ชื่ออื่นๆ : แต้วหิน (ลำปาง), ผักเตา เตา (เลย), ติ้วส้ม (นครราชสีมา), กวยโชง (กาญจนบุรี), ตาว (สตูล), ติ้วแดง ติ้วยาง ติ้วเลือด ติ้วเหลือง (ภาคเหนือ), ติ้วเหลือง (ภาคกลาง), แต้ว (ภาคใต้), ผักติ้ว
วงศ์ : วงศ์ติ้ว (HYPERICACEAE)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Cratoxylum formosum (Jacq.) Benth. & Hook.f. ex Dyer (Cratoxylum formosum subsp. formosum)

เมนูอาหารผักยืนต้น

ผักติ้วในเมนูอาหาร

แผงเห็ดป่าที่ตั้งขายเห็ดเผาะ เห็ดละโงก เห็นโคน ฯลฯ ในภาคอีสานช่วงเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม จะต้องมียอดใบอ่อนติ้วแถมให้คนที่แวะซื้อเห็ดเสมอ เพื่อให้เอาไปใส่ต้มเห็ดให้เปรี้ยวอ่อนๆ แบบที่คนอีสานชอบกิน โดยใส่ในหม้อต้มที่หอมกรุ่นด้วยพริกโพนสด หอมแดง น้ำปลาร้า เห็นสด(หลายครั้งมีผงชูรสด้วย) เพื่อเติมความเปรี้ยวชื่นใจและเพิ่มเนื้อผักในหม้อต้มส้มนั้น

ถ้าไม่ใส่ต้ม คนทั่วไปนิยมกินสดเป็นผักรสเปรี้ยวตัดกับแจ่วป่นเค็มๆเผ็ดๆเช่นเดียวกับดอกสีขาวแซมม่วงที่กินสดหรือใส่ต้มเหมือนใบอ่อน

ต้นติ้วสูงได้ถึง 30 เมตรใบเพสลาดของติ้วมีรสฝาดปน ดังนั้นจึงน่าทดลองใส่ในน้ำข้าวสูตรมาตราฐานที่มี “ใบอื่น”ยึดครองแบบแทบจะตายตัวไว้ได้ดี เช่น แกงหมูใบชะมวงของทางภาคตะวันออก เป็นต้น

จาก หนังสือผักยืนต้น กินผักอายุยืน โลกอายุยาว โดย กฤช เหลือลมัย หน้า 109

ยอดผักติ้วและใบเพสลาดรสเปรี้ยวอมฝาดอ่อนๆ ใส่ในต้มซี่โครงหมูน้ำใสให้รสเปรี้ยวที่ไม่แหลมโด่เกินไป ทั้งยังกินเป็นผักไปด้วย ในภาคอีสานมักต้มผักติ้วกับเห็ดป่าช่วงต้นหน้าฝน โดยเฉพาะเวลาเห็ดเผาะและเห็ดป่าชนิดอื่นๆ ออกมาก มักจะขายเห็ดแถมยอดผักติ้วให้เลยทีเดียว

เครื่องปรุง

ซี่โครงหมูสับชิ้นเล็ก กระเทียม พริกโพนสด เกลือ น้ำปลา ยอดและใบอ่อนผักติ้ว

วิธีปรุง

ตั้งหม้อต้มน้ำให้เดือด ทยอยใส่เกลือ น้ำปลา กระเทียม ซี่โครงหมู พอซี่โครงหมูเริ่มเปื่อยจึงใส่ผักติ้ว พริกโพน ปล่อยให้เดือดสักครู่จนความเปรี้ยวของผักติ้วออกมาในน้ำแกงจนส่งกลิ่นหอมและซี่โครงหมูเปื่อยพอดี ก็ปรุงรสเค็มอีกครั้งตามชอบ

ข้อมูลทางโภชนาการ

ผักติ้ว (ยอดอ่อน, ใบอ่อน, ดอก) ต่อ 100 กรัม
พลังงาน 58 กิโลแคลอรี
โปรตีน 2.4 กรัม
ไขมัน 1.7 กรัม
คาร์โบไฮเดรต 8.2 กรัม
เส้นใยอาหาร 1.4 กรัม
เถ้า 0.6 กรัม
น้ำ 85.7 กรัม
วิตามินเอ 7,500 ไมโครกรัม
วิตามินบี1 0.04 มิลลิกรัม
วิตามินบี2 0.67 มิลลิกรัม
วิตามินบี3 3.1 มิลลิกรัม
วิตามินซี 56 มิลลิกรัม
ธาตุแคลเซียม 67 มิลลิกรัม
ธาตุเหล็ก 2.5 มิลลิกรัม
ธาตุฟอสฟอรัส 19 มิลลิกรัม

ที่มา : ตารางแสดงคุณค่าอาหารไทยในส่วนที่กินได้ 100 กรัม (กองโภชนาการ กรมอนามัย)

สรรพคุณทางยา

ส่วนที่ใช้ประกอบอาหาร : ใบ ยอดอ่อน ดอก