พฤกษ์

ข้อมูลทางพฤกษศาสตร์

ชื่อสามัญ : Indian Walnut, Siris

ชื่ออื่นๆ : ซึก, ซิก, จามจุรี, กะซึก, ชุงรุ้ง, ก้ามปู, คะโก, จามรี (ภาคกลาง) มะขามโคก, มะรุมป่า (นครราชสีมา) ก้านฮุ้ง (ชัยภูมิ) ถ่อนนา (เลย) พญากะบุก (ปราจีน) จ๊าขาม (ภาคเหนือ) ตุ๊ด (ตาก) กรีด, แกร๊ะ (ภาคใต้) กาแซ, กาไม (สุราษฎร์ธานี)

วงศ์ : วงศ์ถั่ว Leguminosae และวงศ์ย่อย Mimosoideae

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Albizia lebbeck Benth.

ชื่อพ้องวิทย์ : –

ลักษณะสำคัญ : ไม้โตเร็ว ทรงพุ่มโปร่ง ใหญ่ แผ่กว้าง ไม่สม่ำเสมอ กิ่งก้านใหญ่และบิดงอ เปราะ เปลือกต้นสีน้ำตาลเข้ม มีรอยแตกตื้นแต่หนาแน่น ใบ ก้านใบชั้นที่หนึ่ง 2-4 คู่ ก้านยาวสุดมีใบย่อย 3-6(9) ใบ ขนาด 1.5-5.5 x 0.9-3 ซม. ปลายมักเป็นติ่ง เส้นใบหลักไม่สมมาตร หูใบขนาดเล็กมาก ดอกเป็นช่อกลมกว้าง 4-7 ซม. สีขาวอมเขียว เปลี่ยนเป็นเหลืองอ่อน ช่อหนึ่งมี 2-4 ซ่อ ออกร่วมกันในซอกใบบนๆ ช่อไม่แตกแขนง ดอกย่อยมีก้าน 2-4 มม. ชั้นกลีบดอก 7.5-11 มม. มีพูกลีบยาวเท่ากับหลอดกลีบ เกสรตัวผู้ยาวกว่า 25 มม. ดอกย่อยตรงกลาง แตกต่างจากดอกด้านข้าง ดอกมีกลิ่นหอมตอนเย็น ผล (10)15-35 x 3-4 ซม. สีเหลืองอ่อน ผิวบางและแบน แตกได้มี 4-12 เมล็ด

ระบบนิเวศและการกระจาย : กระจายพันธุ์ในอินเดีย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ถึงตอนเหนือออสเตรเลีย ขึ้นได้ในเขตสะวันนา จนถึงริมแม่น้ำ ในไทยพบทุกภาค ในป่าที่โล่งแจ้ง หรือนำมาปลูก

การเพาะปลูก : เติบโตได้ดีในเขตร้อนชื้น แต่ธรรมชาติของมันอยู่ในเขตกึ่งแห้งแล้งจนถึงเขตร้อนที่มีลักษณะฝนและแล้ง แบ่งกันชัดเจน ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยต่อปีต่ำถึง 400 มม. และทนอุณหภูมิได้ถึง 48 oC ชอบแดดจัด ดินระบายน้ำได้ดีแต่ยังมีความชื้นพอ เติบโตได้ในดินทุกชนิดรวมถึงดินเค็ม ทนต่อดินที่เสื่อมโทรมหรือธาตุอาหารในดินต่ำ pH 6-7 ทนได้ 5.5-8.5 ต้นกล้าไม่ทนน้ำขัง และปลูกในที่มีที่บังลม มันสามารถสูงถึง 18 เมตรภายใน 10 ปี หากปลูกเพื่อเป็นไม้เชื้อเพลิง รอบการตัดหมุนเวียนอยู่ที่ 10-15 ปี ให้ผลผลิตได้ประมาณ 5 ลบ.ม./เฮกตาร์ กิ่งเปราะหักง่าย หรือโค่นล้มเมื่อลมแรงถึงแม้ว่าระบบรากแผ่กว้างแต่ตื้น ตอบสนองดีต่อการตัดแต่งกิ่ง จนถึงตัดราก ผึ้งและแมลงช่วยผสมพันธุ์

การขยายพันธุ์ : มีหลายวิธีการ เพาะเมล็ด ตอนกิ่งและปักชำ เมล็ดไม่แข็งมาก แช่ในน้ำอุ่น 50 oC เป็นเวลา 3 นาที จะทำให้งอกได้ดี ระวังเมล็ดเสียหายเนื่องจากเมล็ดบาง ค่อนข้างผอม หากได้น้ำร้อนเกินไป นำไปหยอดหลุมในแปลงได้ทันที

ส่วนของพืชที่ใช้ประโยชน์ : ยอดอ่อน ฝักอ่อน

แหล่งเก็บหา : ป่าชุมชน ริมถนน ป่าหัวไร่ปลายนา สวนสาธารณะ

ความเป็นพิษ : ฝุ่นจากไม้มีกลิ่นหอมและเผ็ดร้อน อาจทำให้เกิดการระคายเคืองต่อจมูกและลำคอของคนงานโรงเลื่อย เปลือกใช้เป็นยาเบื่อปลา สีย้อมสีแดงจากเปลือกไม้ทำให้เกิดการระคายเคืองผิวหนัง ฝักมีซาโปนินและกินไม่ได้มาก แต่กับสัตว์ในฟาร์มเช่นแกะกินได้โดยไม่เป็นพิษ

หมายเหตุ : มีชนิดที่คล้ายกันคือทิ้งถ่อน (54) หรือSit,White siris ซึ่งทางภาคอีสานนิยมนำยอดมารับประทาน และมีวางขายในตลาดชุมชน

เมนูอาหารผักยืนต้น

พฤกษ์หรือซึกเป็นไม้ยืนต้นสูงใหญ่ ต้นที่อายุมากๆอาจสูงได้กว่า 25 เมตร กิ่งก้านแผ่ขยายให้ร่มเงากว้างขวาง ยอดและใบอ่อนซึกมีรสหวานมัน ลวกหรือต้มให้รสชาติดีมาก โดยเฉพาะหากผัดไฟแดงหรือแกงเลียงใส่ปลาย่างหรือกุ้งแห้ง

อาจนับเป็นผักยืนต้นที่มียอดอ่อนที่รสชาติดีมากอีกชนิดหนึ่งในระดับเดียวกันกับผักอีกล่ำหรือมะกล่ำตาช้างทีเดียว

ดอกอ่อนลักษณะเหมือนดอกจามจุรี แต่สีออกเหลืองอ่อน แทนที่จะเป็นมีชมพูเหลือบ กินได้เหมือนใบอ่อน มีรสมันเช่นกัน

เลียงผักซึก

ยอดผักซึกอ่อนๆ ที่แตกจากการตัดกิ่งใหญ่จะหวานอร่อย นุ่มนวล ผัดไฟแดงได้ความกรอบกรุบ แต่ถ้ามีใบที่ไม่อ่อนมากนักปนมาด้วย ก็เหมาะจะเลียงซดน้ำร้อนๆ บางคนชอบใส่หางกะทิเพิ่มความมันให้น้ำแกง ทั้งยังส่งผลให้กลิ่นกะปิในเครื่องแกงหอมกว่าเลียงในน้ำเปล่าๆ

เครื่องปรุง

พริกไทย หอมแดง รากกระชาย กะปิ กุ้งแห้ง ผักซึก เกลือป่น

วิธีปรุง

ตำพริกไทย หอมแดง กะปิ กุ้งแห้ง และรากกระชายให้แหลกเป็นน้ำพริกเลียง เอาละลายในหม้อน้ำ ตั้งไฟให้เดือด เติมเกลือป่นให้ออกรสเค็ม แล้วใส่ผักซึก ต้มจนผักสุกและกลิ่นน้ำแกงหอมกะปิ

<em>จาก หนังสือผักยืนต้น กินผักอายุยืน โลกอายุยาว โดย กฤช เหลือลมัย หน้า 43<em>

ข้อมูลทางโภชนาการ

ใบอีซึกสด 1 กิโลกรัม
โปรตีน ร้อยละ 16.2
เส้นใยอาหาร ร้อยละ 29.6
พลังงาน 18.8 MJ/kg
แคลเซียม 19.3 g/kg
ฟอสฟอรัส 1.7 g/kg
กรดอะมิโน อาร์จินีน ร้อยละ 4.8 ของโปรตีน
กรดอะมิโน ลูซีน ร้อยละ 6.8 ของโปรตีน
กรดอะมิโน วาลีน ร้อยละ 4.9 ของโปรตีน

ที่มา : CIRAD, 1991; Gaulier, 1968; Khajuria et al., 1968; Malik et al., 1967; Sharma et al., 1966

สรรพคุณทางยา

การใช้ประโยชน์อื่นๆ

  • ในอินเดียปลูกเป็นสวนเพื่อผลิตไม้เนื้อแข็งคุณภาพสูงส่งออกไปยังยุโรป ในชื่อ Indian walnut หรือ koko
  • เป็นไม้ให้ร่มเงาสวนโกโก้ กาแฟ กระวาน และเป็นไม้ที่ได้รับการส่งเสริมปลูกในโครงการวนเกษตร สวนป่า และสร้างป่าไม้ใบพื้นที่แล้งของเขตร้อนชื้น
  • ต้นช่วยตรึงไนโตรเจนในบรรยากาศ ใบอุดมด้วยไนโตรเจนเป็นปุ๋ยพืชสดหรือคลุมดิน แสงที่ส่องผ่านทรงพุ่มได้ 40-50% ช่วยเพิ่มผลผลิตและคุณภาพทุ่งหญ้าให้สัตว์ในฟาร์ม
  • แม้ว่าต้นจะไม่มั่นคงแต่ก็สามารถทนลมทะเล ไอเกลือได้ดี สามารถปลูกในพื้นที่ชายฝั่งที่ถูกกัดเซาะ และเป็นกำแพงธรรมชาติได้เร็ว
  • น้ำผึ้งที่มาจากน้ำหวานและละอองเกสรดอกไม้มีคุณค่า
  • ดูเหมือนว่ามีความเป็นไปได้ว่าฝักสามารถผลิตเอทานอลได้ 10 บาร์เรลต่อเฮกตาร์ต่อปี
  • ลำต้นให้น้ำยางสีแดงมันถูกนำไปใช้เป็นสารเจือปนของหมากฝรั่งอาหรับ
  • เปลือกให้สีย้อมสีแดง มีแทนนิน 7-11% ในอินเดียใช้เพื่อฟอกอวนประมง เมื่อเปลือกแห้งและนำมาทุบใช้เป็นสบู่ได้
  • เมื่อตัดใหม่แก่นไม้เป็นสีน้ำตาลทองแล้วจึงเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเข้มที่มีเส้นดำ กระพี้สีจางถูกแบ่งอย่างชัดเจน พื้นผิวหยาบปานกลาง ไม้เนื้อแข็งปานกลาง ทนทานพอสมควร ทำงานง่าย ไม้เหมาะกับแกะสลัก ก่อสร้างทั่วไป เฟอร์นิเจอร์ ไม้อัด อุปกรณ์การเกษตร
  • เป็นไม้เชื้อเพลิงและถ่านอย่างดี