
ชะมวง
ข้อมูลทางพฤกษศาสตร์
ชื่อสามัญ : Cowa
ชื่ออื่นๆ : ส้มป้อง มะป่อง (คนเมือง), หมากโมก (อุดรธานี), มวงส้ม (นครศรีธรรมราช), กะมวง มวง ส้มมวง (ภาคใต้), กานิ (มลายู-นราธิวาส), ตระมูง (เขมร), ยอดมวง, ส้มม่วง, ส้มโมง, ส้มป่อง
วงศ์ : วงศ์มังคุด (CLUSIACEAE หรือ GUTTIFERAE)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Garcinia cowa Roxb. ex Choisy
ชื่อพ้องวิทย์ : Gracinia atroviridis Griff.
ลักษณะสำคัญ : ลำต้นตรง ทรงพุ่มหนาแน่น กิ่งก้านแตกสาขาแผ่กว้าง ใบ 6-17 x 2.5-6 ซม. รูปขอบขนานมักจะยาว <3 เท่าของความกว้าง ปลายใบป้านหรือแหลมเล็กน้อย ก้านใบ 1 ซม. ดอกตัวผู้มีเกสรเป็นสี่เหลี่ยม ดอกตัวเมียมีปลายเกสรเป็น 4-8 เหลี่ยม ผลรูปไข่ สีส้มหม่นหรือเหลือง ยาว 2.5-6 ซม. มีร่องตื้นๆ 5-8 ร่องด้านบน ปลายบุ๋มและมีชั้นกลีบเลี้ยง 4-8 แฉกติดอยู่ เมล็ดขนาดใหญ่เป็นเหลี่ยม 3 เมล็ด
ระบบนิเวศและการกระจาย : กระจายพันธุ์ตั้งแต่ จีนตอนใต้ อินเดีย บังคลาเทศ พม่า มาเลเซีย เวียดนาม ลาว กัมพูชา ในไทยพบทั่วไปในป่าดิบชื้นระดับต่ำ เนินเขาหรือสันเขาที่ความสูง 400-900 เมตร บางครั้งพบต่ำกว่า 100 เมตร
การเพาะปลูก : –
การขยายพันธุ์ : เมล็ด การงอกช้า อาจใช้เวลามากกว่า 6 เดือน
ส่วนของพืชที่ใช้ประโยชน์ : ยอดอ่อน ใบ ให้รสเปรี้ยว เป็นผักแนม ผล
แหล่งเก็บหา : สวนยกร่อง สวนสมรม สวนผลไม้ภาคตะวันออก ชายป่า
หมายเหตุ : ชะมวงชนิดนี้แตกต่างจากชะมวง Garcinia nigrolineata Planch. ex T. Anderson หรือ Beaked kandis ชื่อชนิดพันธุ์หมายถึง with black stripes น่าจะหมายถึงเปลือกต้นสีดำ ซึ่งมีความคล้ายกับสกุลมะเกลือ Diospyros แต่ลักษณะการแตกกิ่งก้านแตกต่างกัน ในไทยพบทางภาคตะวันออก จันทบุรี ตราด
เมนูอาหารผักยืนต้น
ต้นชะมวงสูงราว 5-10 เมตร ส่วนใหญ่เป็นพืชที่คนจะเก็บยอดและใบอ่อนซึ่งจะแตกมากในราวเดือนมิถุนายนถึงเดือนตุลาคม คนภาคอีสานกินยอดอ่อนๆ รสเปรี้ยวจัดเป็นผักสด ส่วนคนภาคตะวันออกเลือกเก็บใบเพสลาดปิ้งไฟพอหอม ใส่ในแกงหมูสามชั้นเคี่ยวนานจนเข้มข้น ให้รสเปรี้ยวอมฝาดตัดความมันของหมู่ได้ดี บางแห่งกินดอกด้วย แต่ไม่พบมากนัก
ที่ไม่ใคร่เห็นคือลูกชะมวง ทั้งลูกดิบสีเขียวและลูกสุกสีส้ม ออกมาช่วงเดือนสิงหาคมถึงกันยายน เนื้อลูกดิบเปรี้ยวจัด มีน้ำมันมาก เวลาปอกเปลือกหรือหั่นเนื้อจะติดมีดเล็กน้อย เนื้อแน่นแข็ง ใส่แกงส้มไม่เหมือนผลไม้อื่นๆ
ถ้าจะปรุงใส่น้ำพริกต้องสักซอยค่อนข้างละเอียด ตำให้เนื้อนุ่มก่อนปรุงรสเปรี้ยวได้จัดจ้าน
ใบชะมวงเพสลาดเป็นของเปรี้ยวที่ใช้มากในครัวของคนภาคตะวันออก นอกจากรสเปรี้ยวจัดแล้ว ใบเพสลาดจะมีรสฝาดเล็กน้อย ทำให้มีความเปรี้ยวที่นุ่มนวล ไม่แหลมจนเกินไป ใช้ตัดรสมันของไขมันสัตว์ในแกงหรือต้มที่ต้องเคี่ยวนานๆ ได้ค่อนข้างดีกว่าของเปรี้ยวชนิดอื่นๆ เพราะเนื้อใบแน่น ไม่เละง่าย

เครื่องปรุง
น้ำพริกแกงเผ็ด หมูสามชั้น ใบชะมวงเพสลาด กะปิ พริกชี้ฟ้าเหลืองแดง น้ำปลา น้ำตาลปี๊บ
วิธีปรุง
หั่นหมูสามชั้นเป็นชิ้นหนา เอาลงคั่วในกระทะที่ใส่น้ำมันหมูเล็กน้อย พอน้ำมันเริ่มออกมาจึงใส่น้ำพริกแกงเผ็ดและกะปิลงผัดกับหมูจนหอม เติมน้ำปลา น้ำตาลปี๊บให้ออกรสหวาน ใส่พริกชี้ฟ้า เทเปลี่ยนใส่หม้อใบใหญ่ เติมน้ำให้ท่วมหมู
เอาใบชะมวงเพสลาดนาบในกระทะเปล่าที่ตั้งไฟไว้จนเกรียมเล็กน้อยเพื่อเพิ่มกลิ่นหอม แล้วใส่ในหม้อแกงหมู เคี่ยวนานจนหมูเริ่มเปื่อย ตัวใบนุ่ม รสเปรี้ยวออกมาผสมรสเค็มเผ็ดหวานจนกลมกล่อมดี และน้ำแกงมีมันสีแดงลอย
ถ้าชอบกลิ่นเครื่องสมุนไพรท้องถิ่น เช่นเร่วหอมและดอกผักชีไร่แห้ง ก็ใส่ผสมลงไปตั้งแต่ตอนแรกคั่วชิ้นหมูเลยก็ได้
สรรพคุณทางยา
ใบ ลูก : รสเปรี้ยว กัดเสมหะ แก้ธาตุพิการ ระบายท้อง แก้ไข้
ลูกอ่อน : รสเปรี้ยว ระบายท้อง แก้ไข้ กัดฟอกเสมหะและโลหิต
ราก : รสเปรี้ยว แก้ไข้ตัวร้อน
การใช้ประโยชน์อื่นๆ
- ในฟิลิปปินส์นิยมนำมาทำเป็นตอใช้เสียบยอดมังคุด
- ยางสีเหลือง อาจจะใช้ในงานเคลือบเงา
- เมล็ดให้ผลผลิตน้ำมันประมาณ 9%