ข้อมูลทางพฤกษศาสตร์
ชื่อสามัญ : Siamese senna, Siamese cassia, Cassod tree, Thai copperpod
ชื่ออื่นๆ : ขี้เหล็กแก่น (ราชบุรี), ขี้เหล็กบ้าน (ลำปาง,สุราษฎร์ธานี), ผักจี้ลี้ แมะขี้แหละพะโด (แม่ฮ่องสอน), ยะหา (ปัตตานี), ขี้เหล็กใหญ่ (ภาคกลาง), ขี้เหล็กหลวง (ภาคเหนือ), ขี้เหล็กจิหรี่ (ภาคใต้)
วงศ์ : วงศ์ถั่ว (FABACEAE หรือ LEGUMINOSAE) และอยู่ในวงศ์ย่อยราชพฤกษ์ (CAESALPINIOIDEAE หรือ CAESALPINIACEAE)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Senna siamea (Lam.) H.S.Irwin & Barneby
ชื่อพ้องวิทย์ : Cassia siamea Lam.
ลักษณะสำคัญ : ลำต้นสั้นตรง ทรงพุ่มหนาแน่น กลมและแผ่กระจาย ไม่เป็นระเบียบ กิ่งลู่ลง โตเร็ว หูใบรูปลิ่มแคบ ใบประกอบมีใบย่อย 7-15 คู่ แกนกลางยาว 10-35 ซม. ก้านใบสั้น ใบย่อยรูปรี รูปมนรี หรือแกมรูปไข่ ยาว 3-7 ซม. ปลายกลมหรือเว้าตื้น มีติ่งแหลม โคนกลม แผ่นใบด้านล่างมีขนสั้นนุ่ม ดอกออกที่ปลายกิ่ง ยาวได้ถึง 1 ม. ก้านดอกยาว 2-3 ซม. กลีบเลี้ยงคู่นอกยาวประมาณ 5 มม. 3 กลีบใน ยาวประมาณ 9 มม. กลีบดอกรูปเกือบกลม ยาว 1.5-2 ซม. เกสรเพศผู้อันยาว 2 อัน ฝัก 20-30 ซม. รูปแถบ แบน รอยเชื่อมเป็นสันนูน เมล็ด 20-30 เมล็ด
ระบบนิเวศและการกระจาย : พบในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ส่วนมากขึ้นตามป่าเบญจพรรณ ชายป่า ความสูงระดับต่ำ ๆ และปลูกเป็นไม้สองข้างถนน
การเพาะปลูก : เติบโตได้ในทุกสภาพภูมิอากาศ แต่เหมาะสมอย่างยิ่งกับเขตร้อนชื้นที่มีภูมิอากาศแบบมรสุม สูงถึง 1300 เมตร ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยต่อปีอยู่ระหว่าง 500-2800 มม. เหมาะสมที่สุด 1000 เมตร ช่วงแล้งไม่ควรเกิน 4-8 เดือน ภายใต้สภาพกึ่งแห้งแล้ง (ปริมาณน้ำฝน 500-700 มม.) จะเติบโตได้เมื่อรากสามารถเข้าถึงน้ำใต้ดินได้ อุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ย 20 oC และสูงสุดเฉลี่ย 31 oC ชอบแดดจัด ชอบดินลึก อุดมสมบูรณ์ แต่เติบโตได้ในดินที่เสื่อมโทรม และดินลูกรัง หากระบายน้ำดี ไม่ทนเค็มแต่ทนสภาพดินที่เป็นกรด pH 5.5-7.5 ต้นกล้าเริ่มออกดอกและติดผลเมื่ออายุ 2-3 ปี ระยะปลูกเพื่อทำเป็นไม้เชื้อเพลิง 1×1 เมตร ถึง 1×3 เมตร ระหว่างพุ่มปลูกพืชอื่นแซมในแถว ที่ 25-50 ซม. สำหรับการปลูกเพื่อผลิตไม้ฟืนหรือถ่านนั้น ชาวสวนมักตัดให้เหลือ 2-3 ยอด /ตอ หลังจาก 1 ปี ระบบรากหยั่งลึกและเป็นแผ่นหนาแน่น จากผิวดินลึก 10-20 ซม. รากแผ่ไกลสุดถึง 15 เมตร
การขยายพันธุ์ : เมล็ด ต้องนำไปแช่น้ำเกือบเดือด และทำให้เย็นลงอย่างรวดเร็วเพื่อไม่ให้เมล็ดสุก จากนั้นแช่เมล็ดไว้อีก 12-24 ชม. ในน้ำอุ่น เพื่อให้เยื่อหุ้มเมล็ดลอกออกง่ายขึ้น การงอกประมาณ 90% ภายใน 60 วัน เปอร์เซ็นต์การงอกของเมล็ดที่ไม่ได้การแช่น้ำประมาณ 75 % ใน 4-29 วัน ควรเพาะเมล็ดและวางไว้ในที่มีแสงแดดเต็มวันเพราะถ้าแสงน้อยจะลดการงอกของเมล็ด ต้นอ่อนเติบโตช้ามากสูงเพียง 29 ซม. หลังปลูก 8 สัปดาห์ การเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์สามารถเก็บได้นานสุด 3 ปี ในภาวะสุญญากาศ อุณหภูมิห้อง ความชื้นสัมพัทธ์ 11-15% มีเมล็ด 35000-45000 เมล็ดต่อกิโลกรัม
ส่วนของพืชที่ใช้ประโยชน์ : ยอดอ่อน ดอก ใบ และฝักอ่อน นำมาทำแกง ขั้นเตรียมปรุงต้องต้มล้างน้ำอย่างน้อย 3 ครั้ง เพื่อลดความเป็นพิษ
แหล่งเก็บหา : ทุกพื้นที่
ความเป็นพิษ : ขี้เลื่อยอาจทำให้จมูกคอและตาระคายเคือง
เศษไม้ก่อให้เกิดผงสีเหลืองที่อาจทำให้เกิดการระคายเคืองผิวหนัง
หมายเหตุ : ขี้เหล็กมีใบประกอบ ช่อดอกออกที่ปลายกิ่ง ปลายและโคนใบกลม ฝักรูปแถบ แบน รอยเชื่อมเป็นสันนูน ต่างจากขี้เหล็กเลือด มีหูใบรูปติ่งหู ปลายใบเป็นติ่งแหลม ช่อดอกแบบช่อกระจะ ฝักรูปแถบ ปลายมีจะงอย ขี้เหล็กที่เป็นต้นไม้นำเข้ามาปลูกมีอยู่ 4 ชนิด ขี้เหล็กอินเดีย Senna bicapsularis (L.) Roxb. หรือ ต้นทรงกลด Butterfly bush, Rambling Senna, Winter Cassia ขี้เหล็กอเมริกัน Senna spectabilis (DC.) H. S. Irwin & Barneby หรือ Spectacular Cassia มีถิ่นกำเนิดในอเมริกาเขตร้อน เป็นไม้ประดับ ขี้เหล็กอเมริกัน ปลายใบแหลมมีติ่ง โคนกลม ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง กลีบดอกกลีบล่างรูปเคียวขนาดใหญ่กว่ากลีบอื่น เกสรเพศผู้ 7 อัน ขี้เหล็กอเมริกา Senna floribunda (Cav.) H. S. Irwin & Barneby หรือ Devils finger, Golden showy Cassia และขี้เหล็กยะวา Senna fruticosa (Mill.) H. S. Irwin & Barneby หรือChristmas bush เป็นไม้พุ่ม สูงได้ถึง 4 ม. ดอกสีเหลืองซีด มีก้านกลีบ ก้านชูอับเรณูหนา อับเรณูโค้ง ฝักรูปทรงกระบอก ขอบเป็นสัน มีถิ่นกำเนิดในอเมริกากลางและหมู่เกาะอินดีสตะวันตก เป็นไม้ประดับ ต้นที่น่าสนใจ คือ ชุมเห็ดเล็ก หรือ Coffea Senna, Coffeeweed มีชื่อวิทย์ว่า Senna occidentalis (L.) Link ทางเหนือเรียก ขี้เหล็กเทศ, ขี้เหล็กเผือก, ผักจี๊ด, ผักเห็ด, ลับมืนน้อย, หมากกะลิงเทศ ชุมเห็ดเล็กเป็นไม้ล้มลุกหรือไม้พุ่ม สูงได้ถึง 2.5 ม.ปลายใบแหลมยาว เกสรเพศผู้อันยาว 2 อัน มีถิ่นกำเนิดในอเมริกาใต้ เป็นวัชพืชในเขตร้อน มีสรรพคุณด้านสมุนไพรหลายอย่าง เมล็ดใช้ชงแทนใบชา
เมนูอาหารผักยืนต้น
ขี้เหล็กพบได้ง่ายตามป่าโปร่งทั่วไป จะเห็นออกดอกสีเหลืองเป็นช่อเด่นอยู่ตามริมทางหลวงชนบททั่วประเทศ ต้นสูงราว 10-15 เมตรแตกใบอ่อนมนช่วงต้นฤดูฝน นิยมกินทั้งยอดใบอ่อน ใบเพสลาด และดอกอ่อน โดยต้มน้ำทิ้งสักระยะครึ่งหนึ่งเพื่อลดความขมเฝื่อน แล้วแกงใส่กะทิ รากกระชาย น้ำปลาร้าแบบภาคกลาง หรือต้มใบอ่อนแกงเปอพกับน้ำคั้นใบย่านางแบบอีสานก็อร่อยมาก บางแห่งต้มจยเละแล้วยำให้รสออกเค็มปนขมอ่อนๆก็มี
น้ำต้มใบขี้เหล็กน้ำที่สองหรือสามเป็นยาช่วยให้นอนหลับได้ดี หากไม่ต้องการปรุงขี้เหล็กเป็นสำรับกับข้าว ก็อาจต้อมหรือนึ่ง กินเป็นผักจิ้มน้ำพริกเผ็ดๆได้อร่อยไม่แพ้ผักรสขมอื่นๆ อย่างมะระจีนหรือผักไห่ เท่าที่สังเกตุ พื้นที่ทางเหนือขึ้นไปจากดินแดนประเทศไทย เช่น แถบเชียงตุง เชียงรุ้ง สิบสองปันนา จะไม่กินขี้เหล็ก แต่ใช้ไม้ขี้เหล็กทำฝืน โดยลิดกิ่งแก่ทีละน้อยๆ
ใบขี้เหล็กอ่อนที่ต้มน้ำทิ้งแล้วจะเหลือรสขมอ่อนๆ เนื้อใบนุ่มเละ โดยทั่วไปใช้แกงกะทิบ้าง แกงน้ำใบย่านางแบบแกงเปอะใส่เห็ดและหน่อไม้บ้าง ถ้าอยากอยากปรับสูตรดูก็อาจลองเอามาหมกแบบทำห่อหมก โดยใช้เนื้อย่างติดมันหรือปลาสด ปลาย่าง จะหมกแบบเข้าหัวกะทิ น้ำมันหมู หรือไม่ใช้ก็ได้
เครื่องปรุง
ใบขี้เหล็กต้ม น้ำพริกแกงคั่วหรือแกงเผ็ด เกลือป่น น้ำปลาร้า หัวกะทิ เนื้อย่างติดมันหั่นชิ้นหนา
วิธีปรุง
คลุกเคล้าเครื่องปรุงทั้งหมดในชามอ่างนานๆ จนเข้ากัน ห่อในใบตองสดหลายๆ ชั้น หรือใส่ชามอ่าง นึ่งในลังถึงหรือปิ้งบนตะแกรงจนสุกระอุหอมดี วิธีเดียวกันนี้จะใช้กับใบไม้สดอื่นๆ เช่น ใบชะพลู ใบโหระพา หรือใบขมิ้นชันก็ได้
จาก หนังสือผักยืนต้น กินผักอายุยืน โลกอายุยาว โดย กฤช เหลือลมัย หน้า 148
ข้อมูลทางโภชนาการ
1.ส่วนใบขี้เหล็ก 100 กรัม
เบต้าแคโรทีน 1.4 มิลลิกรัม
ธาตุแคลเซียม 156 มิลลิกรัม
ธาตุฟอสฟอรัส 190 มิลลิกรัม
ธาตุเหล็ก 5.8 มิลลิกรัม
เส้นใยอาหาร 5.6 กรัม
โปรตีน 7.7 กรัม
คาร์โบไฮเดรต 10.9 กรัม
พลังงาน 87 กิโลแคลอรี
2.ส่วนดอกขี้เหล็ก 100 กรัม
– วิตามินเอ ( Total VitaminA (RE) ) 39 Ug
– เบต้า เคโรทีน ( Betacarotene ) 233 Ug
– วิตามินบี 1 ( Thiamin ) .11 Mg
– ไนอะซิน ( Niacin ) 1.8 Mg
– วิตามินซี ( VitaminC ) 484 Mg
– พลังงาน ( Energy ) 98 KCAL
– น้ำ ( Water ) 74.7 G
– โปรตีน ( Protein ) 4.9 G
– ไขมัน ( Fat ) .4 G
– คาร์โบไฮเดรต ( Carbohydrate ) 18.7 G
– ใยอาหาร( กาก ) ( Crude/ Dietar ) 9.8 G
– เถ้า ( Ash ) 1.3 G
– แคลเซียม ( Calcium ) 13 Mg
– ฟอสฟอรัส ( Phosporus ) 4 Mg
– ธาตุเหล็ก ( Iron ) 1.6 Mg
ที่มา : Vitamin.co.th
สรรพคุณทางยา
ใบ : รสขม ถ่ายพรรดึก ถ่ายกระษัย ถ่ายพิษไข้ พิษเสมหะ ขับปัสสาวะ แก้ระดูขาว แก้นิ่ว ตำพอกแก้เหน็บชา แก้บวม บำรุงโลหิต ดับพิษโลหิต ดองสุราดื่มก่อนนอน แก้นอนไม่หลับ
ดอก : รสขม แก้โรคประสาท แก้นอนไม่หลับ แก้หืด แก้รังแค เป็นยาระบาย
ฝัก : รสขม แก้ไข้พิษเพื่อปิตตะ ไข้เพื่อเสมหะ
เปลือกฝัก : รสขมเฝื่อน แก้เส้นเอ็นตึง แก้กระษัย
เปลือกต้น : รสขม แก้กระษัย แก้ริดสีดวงทวาร
กระพี้ : รสขมเฝื่อน ถอนพิษไข้ แก้ไข้เพื่อดี แก้กระษัยเส้นเอ็น
แก่น : รสขมเฝื่อน ถ่ายพิษ ถ่ายเส้น ถ่ายม้าม แก้กระษัย แก้เหน็บชา แก้ไข้เพื่อกระษัย ขับโลหิต แก้เตโชธาตุพิการ ทำให้ตัวเย็น แก้แสบตา แก้กามโรค หนองใน
ราก : รสขม แก้ไข้ แก้ไข้กลับ ไข้ซ้ำ รักษาแผลกามโรค
การใช้ประโยชน์อื่นๆ
- ใบและฝักมีพิษต่อสัตว์เลี้ยง ส่วนต่าง ๆ มีสรรพคุณแก้ปวดท้อง แก้ไอ ไข้มาลาเรีย และโรคเบาหวาน
- ต้นไม้ถูกปลูกเพื่อให้ร่มเงาตามถนนและสวนโกโก้ กาแฟ และชา มักปลูกเพื่อป้องกันลม ลดการไหลบ่าและพังทลายของดินปลูกเป็นแนวรั้ว ถูกตัดแต่งให้เป็นพืชอาหาร
- ใบนำมาทำเป็นปุ๋ยพืชสด และสามารถให้ใบสด 500 กิโลกรัม/ปี และก่อให้เกิดราไมคอไรซา
- ทุกส่วนของพืชสามารถใช้สำหรับฟอกหนัง ความเข้มข้นของแทนนิน แตกต่างกันเล็กน้อย ใบ 17% เปลือก และฝัก 7%
- แก่นไม้เป็นสีดำน้ำตาล มีลายจางชัดเจน เสี้ยนตรง พื้นผิวหยาบเล็กน้อย เนื้อไม้มีน้ำหนักปานกลาง เป็นไม้เนื้อแข็ง ทนต่อปลวกแข็งแรงและทนทาน มันทำงานยาก
- แก่นไม้สีเข้ม นิยมทำประตูหน้าต่าง ตู้ ของใช้ตกแต่งบ้าน ไม้ทำเสา สะพาน คาน
- ไม้ทำเป็นไม้เชื้อเพลิง ค่าพลังงานของไม้ 22400 kJ/kg ไม้ฟืนนี้เคยเป็นที่นิยมสำหรับเครื่องยนต์รถจักร