เลี้ยงไก่พื้นเมืองกึ่งปล่อยธรรมชาติ

เกษตรกรส่วนใหญ่เลี้ยงไก่พื้นเมืองแบบปล่อยตามธรรมชาติ ปล่อยให้คุ้ยเขี่ยหาอาหารกินเองตามธรรมชาติ ทำให้ได้ผลผลิตต่ำ ทั้งนี้หากเกษตรกรต้องการที่จะได้ผลผลิตที่ดีหรือไก่สายพันธุ์ที่ มีคุณภาพ ควรให้ความใส่ใจกับระบบการเลี้ยงไก่ มากขึ้น  ทั้งด้านการคัดเลือกสายพันธุ์  การจัดการพื้นที่เล้านอน เล้าเลี้ยง  เล้าผสมพันธุ์และอาหารของไก่  รวมถึงระบบสุขภิบาล การดูแลรักษาเวลาที่ไก่เจ็บป่วยจึงจะช่วยให้ได้ไก่ที่มีสุขภาพดี  ให้ลูกดกและมีอัตราการเลี้ยงรอดคุณภาพสูง ผู้เลี้ยงต้องให้ความสำคัญกับรายละเอียดต่อไปนี้

การคัดสายพันธุ์พ่อ-แม่ไก่พื้นเมือง  

หลักเกณฑ์เบื้องต้นในการคัดพันธุ์ไก่พื้นเมืองนั้นมีเทคนิคหลากหลาย โดยส่วนใหญ่การคัดเลือกไก่ที่จะนำไปเป็นพ่อแม่พันธุ์ จะเน้นรูปร่างดี บอกถึงความสมบูรณ์ของไก่  ลักษณะไก่พ่อพันธุ์ที่ดีจะให้ลูกที่มีรูปร่างทรงดี การผสมพันธุ์ไก่ให้ได้ผลต้องเลือกพ่อพันธุ์ที่ลงเหล่า เลือดบริสุทธิ์ สีสันถูกต้องตามลักษณะพันธุ์ โครงสร้างร่างกายดี เช่น ตัวใหญ่ รูปร่างสูงโปร่ง กระดูกใหญ่ หน้าตาและส่วนประกอบทางร่างกายสมบูรณ์ สีสดสวยงาม แม่พันธุ์ก็ต้องเลือกที่ลงเหล่า เลือดบริสุทธิ์ แบบเดียวกับพ่อพันธุ์ แต่ต้องต่างสายเลือดกัน(คนละเหล่ากัน)ป้องกันเลือดชิด เพื่อจะถ่ายทอดพันธุกรรมที่ดีแข็งแรงสมบูรณ์ให้สู่รุ่นลูกต่อไป

การจัดการพื้นที่และเล้าผสมพันธุ์   

การจัดการพื้นที่เล้าผสมพันธุ์ต้องทำเป็น ล็อกสำหรับผสมพันธุ์โดยเฉพาะให้พ่อแม่พันธุ์อยู่รวมกันโดยเฉพาะ เล้าต้องให้โปร่งอากาศถ่ายเทสะดวก พื้นที่เล้าจะต้องมีแสงแดดส่องถึง มีที่นอน ที่ไข่ ป้องกันยุงและสัตว์อื่นได้ พื้นที่เล้าล้อมตาข่ายโป่รงให้ไก่ออกผึ่งแดดได้ ในเล้าควรมีหญ้าให้ไก่จิกกินและมีดินให้ไก่นอนเล่นฝุ่น รังไข่ควรใช้กระบุงหรือลังและทำบันไดให้แม่ไก่สามารถเดินขึ้นลงได้สะดวก อย่าให้สูงจนแม่ไก่ต้องกระโดดลงทำให้ไข่แตกได้

การจัดการพื้นที่และเล้าเลี้ยงรวม

พื้นที่เล้าเลี้ยงรวม ต้องแยกออกจากเล้าผสมพันธุ์ ให้ไก่รุ่นอยู่โดยเฉพาะและล้อมพื้นที่โดยรอบเล้าให้กว้างพอสำหรับจำนวนไก่ที่อยู่ร่วมกัน โดยเฉลี่ยพื้นที่1ตรม.ต่อไก่5ตัว เพื่อเพิ่มพื้นที่ คุ้ยเขี่ย ลดอาการเคลียดของไก่ ทำให้โป่รง มีแดดส่องถึงอากาศถ่ายเทได้สะดวก ด้านในมีเล้าและคอนนอน ป้องกันยุงและสัตว์อื่นได้ดี  มีพื้นที่ให้อาหารและน้ำสะดวกเพียงพอต่อความต้องการของไก่โดยเฉลี่ยถาดอาหารและน้ำ 1 อันต่อไก่10 ตัว รวมถึงใช้พื้นที่เล้าเลี้ยง เป็นพื้นที่ให้แม่พันธุ์ได้พักฟื้นหลังจากการผสมพันธุ์และเลี้ยงลูกอ่อน จนกระทั่งลูกไก่โตพอสมควร ลูกไก่ก็จะเริ่มทิ้งแม่ไก่และแยกออกไปหากินเองตามธรรมชาติ ส่วนแม่ไก่ก็จะเตรียมพร้อมเพื่อผสมพันธุ์ครั้งใหม่ โดยสังเกตุ ความพร้อมของแม่ไก่ ด้วยการดูอาการ เช่น หาลังไข่ ส่งเสียงร้องก็อกๆยาวๆติดต่อกัน หงอนและหน้าสีแดงสดใส ขนเป็นมันและเริ่มติดตามไก่ตัวผู้ ให้จับแม่ไก่ใส่เล้าผสมพันธุ์รอบใหม่ ซึ่งโดยปกติแม่ไก่จะใช้เวลาเลี้ยงลูกและพักฟื้นประมาณ45-60วันและ เล้าต้องล้อมตาข่ายให้แข็งแรงเพื่อสะดวกในการควบคุมไก่ไม่ให้ไก่ออกไปรบกวนผลิตผลทางการเกษตรในช่วงที่ทำการผลิต

การผสมพันธุ์และการฝักไข่

ในการฟักไข่จะให้ได้ผลดีนั้นมีปัจจัยที่สำคัญ คือ 1)อายุของพ่อแม่พันธุ์ไก่ พ่อแม่พันธุ์ไก่ที่มีอายุมากจะทำให้อัตราการผสมติดและการฟักลูกไก่ออกต่ำกว่าไก่ที่มีอายุน้อยกว่า เราต้อง ทยอยผลัดเปลี่ยนคัดปรับปรุงสายพันธุ์อยู่ตลอดเวลา เพื่อให้ได้สายพันธุ์ตามความต้องการ 2)เทคนิคการผสมพันธุ์ให้ได้เชื้อที่แข็งแรง ต้องแยกพ่อพันธุ์ไก่ใส่สุ่มไว้และจับมาให้ผสมพันธุ์ในเล้าผสมพันธุ์วันเว้นวัน ใช้พ่อพันธุ์1ตัวต่อแม่พันธุ์3ตัว และควรมีรังไข่ 3 รัง ลดการแย่งรังไข่กันของแม่ไก่ โดย3)แม่ไก่จะฟักไข่ครั้งละประมาณ18-21วัน ในระหว่างการฟักไข่ ต้องดูแลเป็นอย่างดี แม่ไก่บางตัวตั้งใจฟักไข่ไม่ค่อยลงรังมาหาอาหารกินทำให้ร่างกายซูบผอม จะต้องวางถาดอาหารและน้ำเอาไว้ใกล้ๆกับรังฟัก ควรดูแลไข่และลูกไก่ให้ใกล้ชิดอีกด้วย คือ ถ้าแม่ไก่ออกไข่มากจนเกินไป ควรแบ่งไข่ออกไปบ้าง ถ้าไข่มากเกินไปอัตราการฟักออกเป็นตัวจะน้อยแม่ไก่หนึ่งตัวควรฟักไข่ไม่เกิน 12 ฟอง ควรมั่นส่องไข่ เพื่อให้แม่ไก่ฟักเฉพาะไข่ที่มีเชื้อ ถ้าไข่ไม่มีเชื้อก็คัดออกมา ถ้าให้ฟักไปไข่ก็เน่าเสียทิ้ง4) เมื่อลูกไก่ฟักออกมาแล้วช่วงแรกควรให้แม่ไก่กกลูกอยู่ในสุ่มหรือเล้าอนุบาล และใช้อาหารครั้งละน้อยๆแต่บ่อยครั้ง จนถึงสัปดาห์ที่3 จึงค่อยปล่อยแม่ไก่เลี้ยงแบบธรรมชาติ

เล้าไก่ควรทำความสะอาดพื้นเดือนละครั้ง เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งสะสมเชื้อโรคและแมลงพาหะนำโรค และตัวไรไก่รบกวนไก่ที่อยู่ในเล้า นอกจากจะสร้างความรำคาญแล้วยังทำให้ไก่เจ็บป่วยได้ง่าย

อาหารไก่พื้นเมือง

โดยปกติไก่พื้นเมืองจะเลี้ยงง่ายหากินเองเก่ง กินหนอน แมลง ยอดหญ้า เมล็ดธัญญาพืชต่างๆแล้ว เรายังสามารถ เสริมอาหารที่หาได้จากหัวไร่ปลายนา เช่น จอมปลวก ที่ทำรังนำมาทุบให้ลูกไก่กินตัวปลวกเป็นอาหารเสริมได้ หรือใช้วิธีทำหลุมเพาะปลวกไว้ใกล้ๆกับพื้นที่หากินของไก่ อย่างเช่นตามชายป่า ใต้ร่มไม้ใหญ่ เพื่อปล่อยให้ไก่ไปคุ้ยเขียหากิน เป็นการลดค่าใช้จ่ายเรื่องอาหารได้อีกทางหนึ่ง ในเล้าควรมีน้ำสะอาดเตรียมไว้ให้ตลอดเวลา การเลี้ยงไก่ในระยะที่แม่ไก่ทิ้งลูกไก่โดยธรรมชาติ ลูกไก่จะแสดงอาการก้าวร้าวจิกตีกันเองต้องคอยระวังแยกไม่ให้ลูกไก่ตีกัน จะทำให้ลูกไก่บาดเจ็บ หยุดการเจริญเติบโต ป่วยและอาจตายได้ การเลี้ยงในระยะนี้ควรให้ลูกไก่กินอาหารมีโปรตีนวิตามินอย่างเพียงพอลูกไก่จะโตเร็วแข็งแรง

การให้อาหารและการเลี้ยงไก่ช่วงอายุต่างๆ

เมื่อลูกไก่ลงมาจากรังไข่วันแรก ยังไม่ต้องให้อาหาร เพราะลูกไก่มีอาหารสำรองอยู่ในกระเพาะแล้ว ควรให้กินแต่น้ำสะอาด กวาดทราย เม็ดเล็กๆ ตั้งไว้เพื่อให้ลูกไก่หัดจิกกิน ลูกไก่สัปดาห์แรกควรให้กินปลายข้าว ควรให้กินครั้งละน้อยๆเท่าที่ลูกไก่กินหมดเท่านั้น ตั้งน้ำสะอาด กวาดทรายเล็กๆ ไว้ให้กินตลอดเวลา ลูกไก่อายุ 2-3 สัปดาห์ ช่วงนี้ลูกไก่สามารถกินอาหารอย่างอื่นได้บ้างแล้ว แต่ก็ควรให้ปลายข้าวผสม รำละเอียด เปลือกหอยป่น อาจผสมเกลือแกงลงไปประมาณ 1 ช้อนชาที่สำคัญมากที่สุดก็คือน้ำสะอาดต้องมีตลอดเวลา และหมั่นทำความสะอาดบริเวณเล้าที่นอนของลูกไก่ อย่าให้สกปรก หมักหมม เมื่อลูกไก่อายุ4-6 สัปดาห์ ลูกไก่ที่อยู่ในระยะนี้ขนจะขึ้นสมบูรณ์แล้วจะเริ่มจิกหาอาหารกินเองและเริ่มทิ้งแม่ควรให้อาหารและน้ำอย่างเพียงพอ

ในกรณีที่มีแม่ไก่เลี้ยงลูกขนาดต่าง ๆ กันหลายแม่ในพื้นที่เลี้ยงเดียวกัน ควรจะมีสุ่มที่ขนาดตาถี่หรือตาห่างหลายๆ ขนาด ใส่อาหารและน้ำไว้ข้างในสุ่ม เพื่อเป็นการป้องกันไก่เล็กถูกเหยียบหรือจิกตีตายจากกินอาหารร่วมกับไก่ที่โตกว่า วิธีนี้จะช่วยป้องกันไก่เล็กให้เข้าสุ่มที่มีรูเล็ก ลูกไก่รุ่นใหญ่ก็จะเข้าสุ่มที่มีตาใหญ่ ไก่รุ่นโตแล้วจะอยู่ข้างนอกเข้าไปไม่ได้ ซึ่งวิธีนี้จะเป็นการช่วยให้ลูกไก่เล็กได้กินอาหารเต็มที่ โตเร็วขึ้นและตายน้อยลง หรือกรณีที่เกษตรกรมีไก่รุ่น อายุ 3-4 เดือน จำนวนมาก ๆ ควรแยกเล้าเลี้ยงเฉพาะไก่รุ่นเดียวกันและให้อาหารอย่างเพียงพอเช้าและเย็น โดยอาหารที่ให้ควรมีโปรตีน16-18% (หากทำอาหารเอง ควรมีพืชอาหารสัตว์ เช่น หญ้าขน ต้นกล้วยใบกล้วย กระถิน เป็นส่วนผสมหลักเพื่อให้ไก่ได้รับสารอาหารที่ครบถ้วน) เมื่อย่างเข้าฤดู ร้อนและฤดูฝนไก่มักขาดสารอาหารควรให้อาหารเสริม เช่น ใบกล้วย เปลือกหอยป่น กระดองปูป่น ให้ไก่ได้กินสัปดาห์ละ3-4วันจะเป็นผลดีต่อสุขภาพของไก่

โรคและการป้องกัน

วิธีป้องกันโรคตามหลักสุขภิบาล ต้องดูแลทำความสะอาดโรงเรือนและภาชนะต่าง ๆ ด้วยน้ำสะอาดอย่าปล่อยให้เล้าชื้นแฉะ สร้างเล้าให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก กำจัดแหล่งน้ำสกปรก รอบ ๆ บริเวณเล้าและบริเวณใกล้เคียง มีน้ำสะอาดให้ไก่กินตลอดเวลา ถ้ามีไก่ป่วยให้แยกออกจากฝูง ถ้าจำเป็นก็ให้กำจัดทิ้งเสีย และจัดการเผาหรือฝังให้เรียบร้อย จะช่วยป้องกันโรคได้เป็นอย่างดีอย่าทิ้งซากไก่ที่เป็นโรคลงแหล่งน้ำเป็นอันขาดเพราะเชื้อโรคจะแพร่ระบาดได้

พืชสมุนไพรป้องกันโรค  

พืชสมุนไพรป้องกันโรคในไก่เป็นภูมิปัญญาพื้นบ้านของชุมชน สร้างภูมิคุ้มกัน ให้กับไก่พื้นเมืองภายในเล้า ในการเลี้ยง และดูแลรักษาไก่ ให้มีสุขภาพแข็งแรง ไม่เป็นโรคระบาด โดยเฉพาะโรคไข้หวัด และโรคอหิวาต์(โรคห่า) นั้น ใช้ ฟ้าทะลายโจรและบอระเพ็ดผสมให้ไก่กิน ฟ้าทะลายโจรนี้ใช้ได้ทั้งต้นนำมาสับผสมเข้ากับบอระเพ็ดแล้วนำมาผสมลงในอาหารที่ผสมเอง  ผสมให้ไก่กินทุกวันฟ้าทะลายโจรจะช่วยในเรื่องของการป้องกันโรคหวัดไก่และคุมโรคอหิวาต์(โรคห่า)ที่มักเกิดขึ้นเป็นประจำทุกปีในช่วงหน้าหนาว เป็นการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับไก่ ทำให้ไก่มีสุขภาพแข็งแรงไม่เป็นโรคหรือติดโรคง่ายเวลาที่มีการระบาด ต้องดูแลน้ำให้สะอาด เพราะเชื้อมักมากับน้ำ ให้ใช้ตะไคร้มาต้มหรือสับแช่น้ำให้ไก่กินช่วยป้องกันโรคได้ ไม่ให้เกิดความเสียหายจากโรคระบาดที่จะเกิดขึ้นใช้สมุนไพรพื้นบ้านแทนยาปฏิชีวนะ เพื่อเสริมสร้างสุขภาพ ป้องกันโรคระบาดในไก่พื้นเมืองไว้ก่อน

ตลาดไก่พื้นเมือง

ไก่พื้นเมืองที่เกษตรกรนิยมเลี้ยงไว้ เมื่อมีอายุ5เดือนขึ้นไป เกษตรกรจะทำการคัดเลือกไก่ลักษณะดีเก็บไว้เป็นพ่อแม่พันธุ์ หรือนำตัวผู้ลักษณะดีมาเลี้ยงแยกเพื่อเตรียมออกชน หรือขายไปในตลาดไก่ชน ซึ่งแต่ละครอบครัวก็จะคัดไก่ไว้ไม่มาก ส่วนที่เหลือก็จะเลี้ยงไว้เป็นอาหาร หรือขายเป็นรายได้เสริมแก่ครอบครัว โดยทั่วไปไก่พื้นเมืองที่จำหน่ายกันเป็นที่ต้องการของ ผู้บริโภคอย่างสูง โดยมีขนาดประมาณ 1.5-2 กิโลกรัม ผู้บริโภคทั่วไปนิยมซื้อไก่รุ่นหนุ่มสาว โดยเฉพาะไก่สาวที่กำลังจะไข่หรือเริ่มไข่ ราคาไก่หน้าฟาร์มอยู่ที่กิโลกรัมละ70-80 บาท ส่วนถ้าเป็นไก่ที่ชำแหละแล้วในตลาดจะอยู่ที่กิโลกรัมละ130-150บาท ช่องทางการตลาดไก่พื้นเมืองเป็นตลาดท้องถิ่น เช่น ตลาดนัด ตลาดเทศบาหรือซื้อขายกันในหมู่บ้าน รวมถึงมีพ่อค้าคนกลางมาซื้อส่งไปขายตลาดใหญ่ในตัวจังหวัด

อนาคตตลาดไก่พื้นเมือง

ตลาดไก่พื้นเมืองในปัจจุบันยังมีขนาดเล็กเมื่อเทียบกับตลาดไก่เนื้อทั่วไป ชาวบ้านผู้เป็นฐานการผลิตส่วนใหญ่เลี้ยงไว้เพื่อบริโภคภายในครัวเรือน บางส่วนชำแหละขายแต่จำนวนไม่มากนัก มีไม่เพียงพอและต่อเนื่อง การจัดการระบบการเลี้ยงในเชิงธุรกิจยังมีค่อนข้างน้อย แนวทางในการพัฒนาการผลิตไก่พื้นเมืองให้มีจำหน่ายสม่ำเสมอตลอดปียังไม่เป็นที่นิยม ของเกษตรกร

อย่างไรก็ตามแนวโน้มที่จะส่งเสริมให้ตลาดไก่พื้นเมืองมีการเติบโตมากขึ้น ควรศึกษาวิจัยระบบการเลี้ยงในเชิงธุรกิจที่คุ้มกับการลงทุนสร้างมาตรฐานการผลิตอย่างถูกต้องตามหลักสุขลักษณะ นำจุดขายของไก่พื้นเมืองกลับมาใช้ประโยชน์ทางการค้า เช่น รสชาติดี เลี้ยงในระบบเกษตรกรรมยั่งยืนและแบบอารมณ์ดี