มีน้ำที่เรามองเห็นได้และน้ำที่เรามองไม่เห็น
นี่คือภูมิปัญญาของ “อาจารย์ประภัทร ปริปุณณะ” ปราชญ์ชาวบ้านและอดีตข้าราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ท่านรับราชการในกระทรวงเกษตรฯมายาวนาน แต่เห็นว่าหน่วยงานของรัฐยังไม่ได้ผลิตงานวิชาการเพื่อเป็นที่พึ่งให้กับเกษตรกรรายย่อยได้ใช้ประโยชน์อย่างที่ควรจะเป็น ดังความตอนหนึ่งในหนังสือที่กล่าวว่า “นักวิชาการเกษตรก็ไม่เห็นผู้ใดทำการค้นคว้าวิจัยให้ได้ผลพอที่จะให้ประชาชนยึดถือเป็นแนวทางหรือตัวอย่างได้” โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดการเรื่องน้ำ
ท่านได้ถอดประสบการณ์การปลูกไม้ยืนต้นในพื้นที่แห้งแล้งที่ “สวนอีสานร่มเย็น” ทุ่งเมืองเพีย อำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น แล้วเขียนขึ้นมาแจกจ่ายเพื่อเป็นวิทยาทานให้แก่คนไทยเมื่อปี 2532 ก่อนที่ท่านจะถึงแก่กรรมในปี 2538
ประสบการณ์นี้ อาจเป็นแนวทางสำหรับเกษตรกร ผู้สนใจการเกษตร และคนรักต้นไม้ นำไปปรับใช้ ในสภาพที่ระบบชลประทานของเรามีสัดส่วนน้อยนิดเมื่อเปรียบเทียบกับพื้นที่เกษตรกรรมทั้งหมด
นิเวศเกษตร และ สวนชีววิถี ขอนำเนื้อหาจากคู่มือ “การปลูกไม้ยืนต้นในพื้นที่แห้งแล้ง” ซึ่งพิมพ์เผยแพร่เมื่อปี 2532 โดย “ศูนย์เทคโนโลยีเพื่อสังคมและนิเวศวิทยา” มาเผยแพร่อีกครั้ง ซึ่งนอกเหนือจากจะนำใช้สำหรับการปลูกไม้ยืนต้นแล้ว ยังสามารถปรับใช้สำหรับการปลูกพืชชนิดอื่นๆก็ได้ ตามเจตนารมณ์ของอาจารย์ที่มุ่งหวังเผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์สาธารณะและพัฒนาความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้ให้ขยายและงอกงามต่อๆไป