โดย วีระพงษ์ เกรียงสินยศ
เลขาธิการมูลนิธิสุขภาพไทย
ภูมิปัญญาไทยโบราณอยู่คู่กับการดูแลสุขภาพของคนไทยมาอย่างช้านาน โดยเฉพาะความรู้ด้านการใช้พืชผักสมุนไพร เมนูอาหารในบ้านเราหลายชนิดก็เปรียบดั่งยารักษาโรค โดยเฉพาะอาหารพื้นเมืองที่อุดมไปด้วยเครื่องเทศ เช่น ยำหัวปลี หรือแกงเห็ด เพราะฉะนั้นเมื่อป่วยไข้คราใด ลองหยิบจับพืชผักพื้นบ้านใกล้มือมาใช้แบบปู่ย่าตายายของเราดูเสียหน่อยก็ไม่เลว
ขิง: ชุ่มคอ แก้ไอ ไล่เสมหะ
ลองนำขิงไปต้มพอเดือด นำน้ำขิงที่ได้มาผสมน้ำผึ้ง มะนาว มาจิบกินระหว่างวันจะช่วยไล่เสมหะ ชุ่มคอ แต่ระวังอย่าต้มนานเกินไป เพราะน้ำมันหอมระเหยจะหายไปเสียหมด หรือสำหรับสายแข็ง หากรู้สึกว่าเผ็ดร้อนน้อยเกินไปแนะนำให้นำขิงสดมาปั่น เติมน้ำเล็กน้อยให้เจอจางแล้วรับประทานจะได้ความเผ็ดร้อนของขิงที่เข้มข้นแบบถึงใจเลยทีเดียว
ใบกะเพรา: คู่เมนูไทย ลดไข้ แก้ไอ แก้หอบหืด
นอกจากจะเด็ดกะเพราะหลังบ้านมาผัดกินแล้ว ลองนำใบกะเพรา ใบคนทีเขมา (รสร้อน) ใบเสนียด (รสเย็น) ผสมกันในอัตราส่วนเท่ากัน เติมน้ำผึ้ง แล้วดื่มรับประทาน จะช่วยลดไข้ ลดอาการไอ และแก้หอบหืดได้ดี แม้จะเป็นเป็นตำรับยาพื้นบ้านที่ยังไม่มีงานวิจัยใดๆรองรับ แต่เป็นทางเลือกที่ดีในการบรรเทาอาการเบื้องต้นสำหรับสมาชิกในบ้านก่อนไปพบแพทย์
ฟ้าทะลายโจร: ขมถึงใจ แก้ไข้ ไอ เจ็บคอ
หนึ่งในพระเอกที่อยู่คู่ตำรับยาไทยมาอย่างยาวนาน คือฟ้าทะลายโจร ซึ่งมีรสขม(มาก) แต่กลับทำให้เจริญอาหาร กินข้าวได้มาก คนโบราณมักใช้แก้ไข แก้ไอ แก้เจ็บคอ แก้ท้องเสีย แก้อักเสบ บำรุงร่างกาย และเสริมสร้างภูมิคุ้มกันด้วย แม้ในอดีตยังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ หรือกาศึกษาระดับโมเลกุล แต่จากการรวบรวมสถิติการใช้กับคนไข้เมื่อปี 2528 โดย เภสัชกร สุพจน์ อัศวพันธุ์ธนกุล ทำให้พอจะยืนยันถึงภูมิปัญญาการใช้ฟ้าทะลายโจรของคนโบราณได้เป็นอย่างดี โดยการกินฟ้าทะลายโจรสามารถใช้ได้ทั้งแบบใบแห้ง ใบสด หรือยาแคปซูล หากเริ่มมีอาการไข้ ไอ เจ็บคอ ลองใช้ใบสด/แห้ง 5-10 นำมาชงใส่น้ำร้อนดื่ม แม้เป็นการสกัดสารสำคัญด้วยน้ำเปล่า แต่ก็มีฤทธิ์เพียงพอในการบรรเทาอาการไข้เบื้องต้น (จากประสบการผู้ใช้พบว่าการใช้ปริมาณสาร 60-120 มิลลิกรัม ก็สามารถรักษาอาการไข้หวัดทั่วไปได้แล้ว)
หอมแดง: สดชื่น สดใส หลับสบายตลอดคืน
บ่อยครั้งที่อากาศเปลี่ยน เด็กๆในบ้านทยอยกันน้ำมูกไหลหายใจไม่ออก ก็ได้หอมแดงในครัวคุณยายนี่แหละช่วยเอาไว้ ลองเพิ่มหอมแดงในเมนูโปรดอย่างไข่เจียว หรือจะนำใส่ถุงผ้าวางไว้ข้างเตียงนอนก็ไม่เลว น้ำมันหอมระเหยจากหอมแดงจะช่วยทำให้เด็กๆหายใจโล่ง สดชื่น ไล่น้ำมูกได้เป็นอย่างดี หรือจะลุกไปล้างจมูกด้วยน้ำเกลืออย่างแพทย์แผนปัจจุบันแนะนำก็ไม่ว่ากัน
หัวแห้วหมู: วัชพืชกินได้
หัวแห้วหมูเป็นสมุนไพรที่มีความโดดเด่นมากในแถบเอเชียทั้งใน อินเดียว ลาว และจีน มีรสหวานเย็นเล็กน้อย นอกจากจะใช้เข้าตำรับยาแล้วจึงมักอยู่ในตำรับอาหารประจำวันด้วย เช่น ผสมในน้ำแกงกระดูกหมู หัวแห้วหมูอาจดูคล้ายวัชพืช หากใครไม่รู้อาจเด็ดทิ้งเด็ดขว้างเอาได้ง่ายๆ แต่แท้จริงแล้วมีคุณสมบัติช่วยแก้หอบหืด และโรคกลุ่มทางเดินอาหารเช่น ท้ออืดท้องเฟ้อ อาหารไม่ย่อย การนำมาใช้ไม่ยากนัก เพียงแค่นำหัวแห้วหมูสด 15 กรัม ทุบพอแหลก แล้วต้มรับประทานแต่น้ำ หรือตำให้ละเอียดผสมน้ำผึ้งรับประทานก็ย่อมได้
หรือหากอยากใช้เป็นตำรับยาต้ม สามารถปรุงเองได้ที่บ้าน โดยโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ได้เผยแพร่ตำรับยาลดอาการหอบหืดไว้ว่า ให้ใช้หัวแห้วหมู ใบหนุมาน ใบมะคำไก่ แก่นฝาง แสมสาร เถาวัลย์เปรียง อย่างละ 30 กรัม ใส่หม้อต้มกับน้ำ 3 ลิตรจนเดือดนาน 15 นาที นำน้ำมารับประทานครั้งละ 1 ถ้วย (150 cc.) ก่อนอาหาร เช้า กลางวัน เย็น สามารถบรรเทาอาการหอบหืด ซึ่งเป็นอาการเบื้องต้นของโควิดได้
อย่างตำราโบราณก็มีการบันทึกถึงการใช้หัวแห้วหมูไว้ ในหนังสือ ตำรายาพิเศษ ของ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ (2352-2453) ได้บันทึกถึงสมุนไพรชนิดนี้ไว้ว่า
“นิทานหนึ่งนั้นว่า สมภาร (พระ) ฉันแห้วหมูเป็นยา เคี้ยวกินทุกวัน ฉันกับน้ำชา หลายปีล่วงมา เห็นคุณหลายประการนั่ง ทนทำกิจประกอบการงานพากเพียรเขียนอ่านได้ทั้งคืนวันฟันแน่นไม่หัก เปนศุขขบฉัน ร่างกายเธอนั้น ไม่แก่ชราพี่น้องแก่ไป ท่านผู้นั้นไซร้ ผ่องใสผิดตา เปล่งปลั่งดังหนุ่ม เบาบางโรคา ผู้อ่อนพรรษา ดูแก่กว่าไป กำลังเจริญมาก เดินคล่องว่องไวจักษุสว่างใส ไม่มืดตามกาล อายุล่วงมากแต่ไม่พิการ กิจในวิหาร หมั่นทำทั่วไปฯ ”
เป็นการกล่าวถึงการใช้หัวแห้วหมูของคนโบราณ โดยเชื่อว่ามีสรรพคุณหลากหลายประการ
นอกจากสมุนไพรเดี่ยวที่กล่าวมาแล้ว การใช้ยาตำรับก็เป็นการรักษาที่ได้ผลดี เช่น ตำรับยาห้าราก สำหรับแก้ไข้ เป็นตำรับยาที่ถูกใช้การอย่างแพร่หลาย ประกอบด้วย รากของพืช 5 ชนิด ได้แก่ รากยานาง รากคนทา รากเท้ายายม่อม รากมะเดื่อชุมพร และรากชิงชี่ ในบางพื้นที่สูตรยาจะปรับไปตามแต่ละท้องถิ่น เช่น ในภาคใต้จะใช้รากน้ำนองแทนชิงชี่ เนื่องจากเป็นสมุนไพรประจำถิ่น
รู้จักรสอาหาร ร่างกายต้านทานโรค
รสต่างๆของอาหารนอกจากจะช่วยให้อร่อยลิ้นแล้ว มีสรรพคุณทางยาเฉพาะที่แตกต่างกัน ได้แก่ รสฝาด มีสารสำคัญคือเทนนิน (tannin) มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ สมานแผล ยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย มักพบในแก่น เปลือกต้น หรือยอดของพืชผัก เช่น กล้วยดิบ มะตูมอ่อน ยอดจิก ยอดฝรั่ง ยอดมะม่วงหิมพาน์ ผักเม็ก ยอดกระโดน สมอไทย สมอพิเภก มะขามป้อม (ตรีผลา) รสเผ็ดร้อน มีน้ำมันหอมระเหย ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อโรค พบในสมุนไพรจำพวก ขิง ข่า กระชาย กระเทียม พริก พริกไทย และพลูคาว เป็นต้น รสเปรี้ยว มีวิตามินซีจากธรรมชาติ ช่วยต้านอนุมูลอิสระ เสริมสร้างภูมิคุ้มกัน บรรเทาอาการหวัด และการแพ้ต่างๆ ได้แก่ ผักผลไม้รสเปรี้ยว เช่น กระเจี๊ยบแดง มะกอก มะกรูด มะนาว มะขามป้อม ตะลิงปลิง ส้มป่อย สมอไทย เป็นต้น การกินอาหารให้หลากหลาย ครบทุกรส (รสแท้จริงตามธรรมชาติ) จะสร้างสมดุลให้กับร่างกาย จึงเป็นทางเลือกหนึ่งในการดูแลสุขภาพเบื้องต้น เสริมสร้างภูมิคุ้มกันทางธรรมชาติได้เป็นอย่างดี
สังคมไทยโบราณเชื่อว่าการ “กินได้ นอนหลับ ขับถ่ายดี” คือหัวใจหลักของสุขภาพ หมั่นดื่มน้ำในอุณหภูมิปกติอย่างเพียงพอ ฝึกสติ สมาธิ จะช่วยสร้างมิคุ้มกันในร่างกายให้แข็งแรง คำบอกเล่าง่ายๆที่สั่งสอนกันมาแต่โบราณอาจยังไม่เห็นผลนัก จนวันที่เราเจ็บป่วยทั้งร่างกายและจิตใจ ในวันที่เกิดวิกฤติหนักหน่วง การเข้าถึงศูนย์กลางการรักษาเป็นเรื่องยากลำยาก การย้อนกลับไปดูแลสุขภาพของตนเองและครอบครัวด้วยหลักการพื้นฐาน ภูมิปัญญาและทรัพยากรที่มีอยู่ก่อนจึงเป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม