เกษตรกรรมถาวร Bill Mollison

นอกเหนือจาก มาซาโนบุ ฟูกูโอกะ ผู้เขียน “ปฏิวัติยุคสมัยด้วยฟางเส้นเดียว” ชาวญี่ปุ่นแล้ว Bill Mollison นักคิดด้านเกษตรนิเวศชาวออสเตรเลียน่าจะเป็นอีกคนที่เป็นที่รู้จักค่อนข้างมากในประเทศไทย

Permaculture” หนังสือหายากเล่มนี้พิมพ์เผยแพร่เมื่อปี 2537 พิมพ์ขึ้นจากคำบรรยายของ บิล มอลลิสัน (Bill Mollison) ผู้ก่อตั้งแนวคิดและแนวปฏิบัติ “Permaculture” ซึ่งมาจากคำภาษาอังกฤษ 2 คำคือ permanent และ agriculture เพื่อหมายถึงวิถีเกษตรกรรมที่มั่นคงยั่งยืน จัดพิมพ์โดยชมรมศิษย์เก่าบูรณะชนบทและเพื่อน จากคำบรรยายของบิลระหว่างเดินทางจัดฝึกอบรม “เกษตรกรรมถาวร” ในประเทศไทยในช่วงปลายปี 2535 โดยมี รศ.ภรณ์ ภูมิพันนา เป็นผู้ถอดความและเรียบเรียง

บิล มอลลิสัน (Bill Mollison) เกิดเมื่อปี ค.ศ.1928 ที่เมือง Stanley ซึ่งเป็นหมู่บ้านประมงเล็ก ๆ ในรัฐทัสมาเนีย ประเทศออสเตรเลีย เขาออกจากโรงเรียนตั้งแต่อายุ 15 ปี และช่วยครอบครัวทำขนมปังขาย ต่อมาเขาได้ออกทะเลเป็นนักล่าปลาฉลาม และนักเดินเรือ ในช่วงระยะนั้นจนถึงปี ค.ศ.1954 เขาทำงานอีกหลายอย่างเช่น เป็นเจ้าหน้าที่ป่าไม้เป็นคนงานในโรงสี เป็นพรานดักสัตว์ คนขับรถแทรกเตอร์ และนักอนุรักษ์ธรรมชาติ

เขาได้ทำงานอยู่กับ CSIRO สังกัดหน่วยสำรวจสัตว์ป่าของรัฐ ในปี 1954 และออกพื้นที่ทำงานในฐานะนักชีววิทยาอยู่ถึง 9 ปี ในปี 1963 เขาทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์ทัสมาเนียอยู่ 1 ปี และกลับมาทำงานสำรวจสัตว์น้ำ ห่วงโซ่อาหาร และสภาพคุณภาพน้ำในทะเลสาบและปากแม่น้ำทุกแห่งของรัฐทัสมาเนีย

บิล มอลลิสัน กลับมาเรียนต่ออีกครั้งในปี 1966 และใช้เวลาว่างเลี้ยงสัตว์ ล่าปลาฉลาม เต้นรำ และสอนพิเศษที่โรงเรียนสตรี เขาจบการศึกษาและได้รับปริญญาทางด้าน Bio-geography และเข้าสอนในมหาวิทยาลัยทัสมาเนีย และต่อมาก็ได้ค้นคิดวิชาจิตวิทยาสิ่งแวดล้อม (Environmental Psychology) ขึ้นมา นอกจากนี้ในระหว่างที่สอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยอยู่ประมาณ 10 กว่าปีนั้น บิล มอลลิสัน มีผลงานวิจัยออกมา 3 เล่มเป็นผลงานวิจัยเกี่ยวกับประวัติศาสตร์และสายตระกูลของชาวอะบอริจินในทัสมาเนีย

ในปี 1974 เขาและ David Holmgren ได้ค้นคว้าและเรียบเรียงแนวคิดเรื่องเพอร์มาคัลเซอร์ขึ้น และจัดพิมพ์หนังสือ Permaculture One และ Permacutture Two ขึ้นเผยแพร่
ปี 1978 บิล มอลลิสัน เลิกงานสอนในมหาวิทยาลัย และอุทิศแรงงานทั้งหมดของเขาในการเผยแพร่แนวคิดและทฤษฎี Permaculture ออกไปทั่วโลก ให้การสนับสนุนการพิมพ์บทความ หลักสูตร และรายงานการศึกษา รวมทั้งให้คำแนะนำต่าง ๆ แก่โครงการฟาร์มในชุมชนในเมืองและให้กับรัฐบาลท้องถิ่น
ในปี 1979 เขาและผู้ร่วมอุดมการณ์ซึ่งมีทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ได้จัดตั้งสถาบันขึ้นเรียกว่า Permaculture Institute ในชุมชน Tagari โดยเขาดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการสถาบัน สถาบันแห่งนี้เป็นสถานที่ฝึกสอนการออกแบบที่เป็นจริงได้ในทางปฏิบัติให้กับนักศึกษาทั่วโลก ในเรื่องการใช้ประโยชน์จากดิน น้ำ และการปลูกพืชแบบยั่งยืน
ในปี 1981 บิล มอลลิสัน ได้รับรางวัล Right Livelihood Award ( หรือ Nobel Prize ทางเลือก) ในผลงานเรื่อง การออกแบบสิ่งแวดล้อม รวมทั้งได้ก่อตั้งกองทุน Trust in Aid เพื่อฝึกผู้ที่จะถ่ายทอดแนวคิดเกษตรกรรมถาวร ให้กับผู้ที่สนใจต้องการศึกษาโดยเฉพาะประชาชนยากจนต่างๆ ในโลก ด้วยความมุ่งหมายที่จะสร้างแกนนำผลักดันเกษตรกรรถาวรไปสู่ประชาชนทั่วโลก
โดยแนวความคิดเรื่อง Permaculture นั้นเกี่ยวข้องกับการออกแบบการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์อย่างยั่งยืน เป็นปรัชญาและแนวทางการใช้ที่ดิน ซึ่งเป็นการสอดประสานร่วมกันของภูมิอากาศขนาดย่อม พืชล้มลุกระยะสั้นและพืชยืนต้น สัตว์ ดิน การจัดการน้ำ และความต้องการของมนุษย์ จนเกิดเป็นชุมชนผู้ผลิตที่เชื่อมโยงกันอย่างลึกซึ้ง

คำว่า Permaculture ไม่เพียงหมายถึง การเกษตรที่ถาวร (Permanent + Agriculture) เท่านั้น แต่ยังหมายถึง วัฒนธรรมถาวร (Permanent + Culture) ด้วย โดยเหตุที่ว่าวัฒนธรรมต่าง ๆ ไม่สามารถจะอยู่รอดได้ยาวนาน หากปราศจากฐานเกษตรยั่งยืนและการใช้ที่ดินอย่างมีจริยธรรม

Permaculture จึงไม่ใช่แค่เพียงการออกแบบระบบฟาร์มเพื่อปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ การก่อสร้างอาคารบ้านเรือน และโครงสร้างพื้นฐาน (น้ำ พลังงาน การคมนาคม) แต่ Permaculture ยังครอบคลุมถึงการจัดการความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งเหล่านี้ โดยวิธีการออกแบบเพื่อจัดวางองค์ประกอบให้เกื้อกูลกันอย่างลงตัวภายใต้เงื่อนไขแต่ละภูมินิเวศ

Permaculture มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างระบบที่เหมาะสมสอดคล้องกับสภาพเงื่อนไขทางนิเวศวิทยาและมีความเป็นไปได้ทางเศรษฐกิจ ทั้งนี้เพื่อตอบสนองความต้องการของมนุษย์ ไม่ทำลาย หรือสร้างมลพิษให้กับสภาพแวดล้อม มิฉะนั้น จะไม่ก่อให้เกิดความยั่งยืนของระบบในระยะยาวไปพร้อมกัน Permacultureเลือกใช้ลักษณะธรรมชาติของพืชและสัตว์ที่สดอคล้องกันกับเงื่อนไขของท้องถิ่นและออกแบบสิ่งปลูกสร้าง เพื่อสร้างระบบที่จะเกื้อหนุนต่อการดำรงชีวิตทั้งในเมืองและชนบท ด้วยการใช้พื้นที่น้อยที่สุด

Permaculture วางอยู่บนพื้นฐานของการสังเกตระบบธรรมชาติ ภูมิปัญญาท้องถิ่นของการทำเกษตร และความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสมัยใหม่ แม้ว่าจะอาศัยหลักการของนิเวศวิทยา แต่ Permaculture ก็สามารถสร้างสภาพนิเวศวิทยาสำหรับการเพาะปลูกที่สามารถผลิตอาหารให้กับคนและสัตว์ได้มากกว่าที่สภาพนิเวศวิทยาในธรรมชาติ

บิลถึงแก่กรรมเมื่อ 24 กันยายน 2016 แต่แนวคิดและแนวปฏิบัติที่เรียกว่า Permaculture ได้ถูกเผยแพร่ไปอย่างกว้างขวางจนถึงปัจจุบัน

หากไม่สามารถหาหนังสือเล่มดังกล่าวได้ มีหนังสือภาษาไทยอีกเล่ม เรื่อง ความรู้เบื้องต้นเพอร์มาคัลเชอร์ เขียนโดย Bill Mollison และ Mia Slay แปลโดย วิฑูรย์ ปัญญากุล และ รวิมาศ ปรมศิริ เมื่อปี 2558 จัดพิมพ์และเผยแพร่โดยมูลนิธิสายใยแผ่นดิน

ที่มาของเนื้อหา : นิเวศเกษตร