เภสัชวิทยาของพืชสมุนไพรและอาหารพื้นบ้านเสริมสร้างภูมิคุ้มกันและยับยั้งโควิด

โดย ภญ.ดร.ผกากรอง ขวัญข้าว
หัวหน้าศูนย์หลักฐานเชิงประจักษ์ ด้านการแพทย์แผนไทยและสมุนไพร
โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร

เมื่อเชื้อโควิดแวะมาทักทาย

เมื่อร่างกายของเราได้รับเชื้อ SAR-CoV-2 (เชื้อไวรัสโควิด) ปอดจะกลายเป็นอวัยวะหลักที่เชื้อรุกรานจนทำให้ปอดอักเสบ จากนั้นเชื้อจะเริ่มรุกลามไปยังอวัยวะอื่น ทำให้มีอาการต่างๆตามมา (นอกเหนือจากระบบทางเดินหายใจ) โดยมักปรากฏให้เห็นในช่วง post covid syndrome เชื้อไวรัสจะพยายามเข้าสู่เซลล์โดยใช้ “spike protein” เมื่อเข้าสู่เซลล์ได้แล้วจะเริ่มแบ่งตัว ซึ่งจะทำได้มากน้อยเพียงใดขึ้นกับระดับภูมิคุ้มกันในร่างกายของเรานั่นเอง อาการหลังได้รับเชื้อโควิดจะแตกต่างกันไปตามแต่สายพันธุ์ สายพันธุ์ที่รุกรานเร็วที่สุดคือเดลต้า เนื่องจากสาเหตุสำคัญ 2 ประการ ได้แก่ 1) ความสามารถในการแพร่พันธุ์อย่างรวดเร็วของตัวไวรัสเอง 2) อาการของผู้ได้รับเชื้อจะเหมือนไข้หวัดธรรมดา ผู้ป่วยมักไม่ได้สังเกตอาการ และออกไปใช้ชีวิตตามปกติจึงแพร่พันธุ์ออกไปได้อย่างรวดเร็วนั่นเอง ผู้ป่วยที่ได้รับเชื้อโควิดแล้ว ในระยะ 1 สัปดาห์แรก จะไม่สามารถตรวจเจอได้ด้วย ATK (Antigen test kit) เนื่องจากปริมาณของเชื้อยังไม่มากพอ หากร่างกายมีภูมิคุ้มกันดี ร่างกายจะกำจัดเชื้อดังกล่าวออกไปได้เอง มีผู้ป่วยบางรายที่มีสุขภาพแข็งแรงมาก หรือเป็นนักกีฬา แม้จะตรวจพบเชื้อ แต่หลายรายกลับไม่พบอาการใดๆเลย เนื่องจากภูมิคุ้มกันสูงมาก

<em>โดย ภญดรผกากรอง ขวัญข้าว หัวหน้าศูนย์หลักฐานเชิงประจักษ์ ด้านการแพทย์แผนไทยและสมุนไพร โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์<em>

รู้จัก Post-COVID syndrome และ ภาวะพายุไซโตไคน์ (cytokine storm) 

Post-COVID syndrome หรือ กลุ่มอาการที่เกิดหลังจากติดเชื้อโควิดนั้นเกิดจาก ภาวะพายุไซโตไคน์ (cytokine storm) คือ เมื่อร่างกายได้รับเชื้อโควิดแล้ว ร่ายกายจะพยายามกำจัดเชื้อด้วยภูมิคุ้มกันแต่กำเนิด (innate immunity) ซึ่งขึ้นจำนวนภูมิคุ้มกันในผู้ป่วยรายนั้นๆว่าเยอะเพียงพอที่จะต่อสู้กับเชื้อไวรัสได้มากเพียงใด ระหว่างนั้นเอง ภูมิคุ้มกันจะปล่อยสารเคมีชนิดหนึ่งออกมาเพื่อกำจัดเชื้อไวรัสทำให้ร่างกายเกิดการอักเสบและนำมาสู่ภาวะ Post-COVID syndrome เพราะฉะนั้น แม้ผู้ป่วยจะหายจากอาการป่วย และไม่พบเชื้อโควิดแล้ว แต่ยังสามารถมีอาการเจ็บป่วยได้ต่อไปอีกระยะหนึ่ง ได้แก่ เหนื่อย อ่อนเพลีย กล้ามเนื้ออ่อนแรง ปวดเมื่อยตามตัว หายใจลำบาก ไอ (เพราะปอดเกิดการอักเสบ) เจ็บหน้าอก ลิ่มเลือดอุดตัน โรคไตเรื้อรัง ลิ่มเลือดอุดตัน ผมร่วง ซึมเศร้า วิตกกังวล ปวดหัว นอนไม่หลับ เป็นต้นนักเภสัชวิทยาและแพทย์มีสมมุติฐานว่าในเมื่อหนึ่งในสาเหตุของการเกิด Post-COVID syndrome น่าจะเกิดจากกระบวนการอักเสบของร่างกายที่เกิดขึ้นระหว่างได้รับเชื้อไวรัส เพราะฉะนั้น ฟ้าทะลายโจรซึ่งมีคุณสมบัติในการต้านเชื้อไวรัส ต้านการอับเสบ เสริมสร้างภูมิคุ้มกัน น่าจะทำให้อาการ Post-COVID syndrome ลดลงได้ ขณะนี้อยู่ระหว่างทำการวิจัย รวมถึงการศึกษาศึกษาเปรียบเทียบโปรตีนในเลือดของผู้ป่วยที่มีมีภาวะ Post COVID-19 syndrome กับผู้ที่ไม่มีภาวะดังกล่าว ด้วยหลักการ Proteomic ซึ่งเป็นเรื่องที่ในอนาคตจะเป็นสิ่งที่มีความสำคัญมาก

สมุนไพรรักษาโควิดได้จริงหรือ

เมื่อคนไข้ได้รับเชื้อโควิด ร่างจะกายมีการอับเสบ โดยปกติแล้วแพทย์จะให้ยาแผนปัจจุบันชนิดที่มีฤทธิ์ขัดขวางโปรตีนชนิด interleukin-6 (blocking interleukin-6) ซึ่งเป็นโปรตีนที่เกี่ยวข้องกับการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกัน แต่ปัจจุบันพบว่ามียาสมุนไพรบางตัวสามารถออกฤทธิ์เช่นเดียวกัน แต่ใช้ง่ายกว่า ในขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาของนักเภสัชวิทยา จากการศึกษาทาง molecular docking (การจำลองภาพ 3 มิติของการจับกันระหว่างโมเลกุล)  ของสมุนไพรบางชนิด ได้แก่ กระชายขาว และฟ้าทะลายโจร พบว่ามีแร่ธาตุและสังกะสีที่เชื่อว่าป้องกันไม่ให้เชื้อไวรัสเข้าสู่เซลล์ได้ ด้วยกลไกการเข้าจับบริเวณ spike หรือ ACE receptor ของเชื้อไวรัส กลไกนี้ยังคงเป็นข้อถกเถียงอยู่ เนื่องจากการศึกษาของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ซึ่งทำการศึกษาในเซลล์พบว่าไม่ป้องกันไวรัสเข้าเซลล์ แต่เนื่องจากการศึกษานี้ทำเพียง 1 dose  เท่านั้น ทำให้นักเภสัชวิทยาจำนวนมากเชื่อว่าหากทำการทดลองในโดสที่หลากหลายพอจะทำให้เห็นความแตกต่างได้อย่างมีนัยยะสำคัญ อย่างไรก็ตามการศึกษาตัวยาสมุนไพรในระดับโมเลกุลเป็นเรื่องสำคัญมาก ในประเทศจีน หรืออินเดีย มีความก้าวหน้าและรวดเร็วมาก มีการสำรวจอย่างละเอียดในระดับโมเลกุลว่ายาตัวใดสามารถจับ หรือทำปฏิกิริยากับเชื้อได้ดี จึงทำให้สามารถพัฒนายารักษาโควิดได้รวดเร็ว

<em>โดย ภญดรผกากรอง ขวัญข้าว หัวหน้าศูนย์หลักฐานเชิงประจักษ์ ด้านการแพทย์แผนไทยและสมุนไพร โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์<em>

รู้จักโรค รู้จักยา หมั่นหาข้อมูลรอบด้าน

หากท่านมีผู้ป่วยโควิดในครอบครัวแล้ว ก่อนการใช้ยาสมุนไพรขอให้สังเกตอาการเป็นอันดับแรก (ควรมีเครื่องอ็อกซิมิเตอร์ (OXIMETER) สำหรับวัดค่าออกซิเจนและอุณหภูมิไว้ที่บ้าน) หากผู้ป่วยมีอาการน้อย เช่น ไข้ อ่อนเพลีย ปวดหัว ปวดเมื่อย ผื่นแพ้ ท้องเสีย เจ็บคอ ยังสามารถใช้สมุนไพรช่วยบรรเทาอาการได้ แต่หากเริมมีการหายใจติดขัด เจ็บหน้าอก สูญเสียการเคลื่อนไหวร่างกาย หรือเริ่มดูแลตัวเองไม่ได้ จะทำให้ผู้ป่วยสังเกตอาการตัวเองได้ยาก อาจต้องพิจารณาเรื่องการใช้ยาให้มากขึ้น

สิ่งที่สำคัญที่สุดในการใช้ยาสมุนไพรคือ ผู้ใช้ต้องมีความเข้าใจโรคที่ตนเองเป็น และสรรพคุณของสมุนไพรที่จะนำมาใช้เป็นอย่างดี ผู้ป่วยจำนวนมากใช้ยาสมุนไพรโดยขาดความเข้าใจทั้ง 2 ส่วน ผู้ป่วยบางรายได้สูตรแก้ไข้มาจากไลน์กลุ่มโดย ต้มฟ้าทะลายโจร กระชาย และขิงรวมกันเพื่อแก้ไข้ แต่กลับไม่ได้ผล เนื่องจากเป็นการส่งต่อข้อมูลที่ขาดความน่าเชื่อถือ หากพิจารณาจากฤทธิ์ของสมุนไพรแล้ว กระชาย และขิง มีฤทธิ์ร้อน หากผู้ป่วยกินในระยะไข้ จะไม่สามารถลดไข้ได้ ผู้ป่วยต้องทำความเข้าใจว่าอาการไข้เป็นสัญญาณชีพของคนไข้ที่ต้องติดตามและควบคุมอย่างสม่ำเสมอ หากปล่อยทิ้งไว้ให้มีไข้สูง หรือยาวนานจะส่งผลต่ออัตราการเต้นของหัวใจ ชีพจร และความดันโลหิต การเลือกใช้สมุนไพรให้ตรงกับระยะของโรคเป็นสิ่งสำคัญมาก ควรพิจารณาดังนี้

ระยะก่อนติดเชื้อ

ในระยะก่อนติดเชื้อ แนะนำให้กินอาหารเพื่อเป็นยาเสริมภูมิคุ้มกัน เน้นกลุ่มเครื่องเทศ เช่น กระชาย ขิง หอม หูเสือ ตะไคร้ กะเพรา ยาตรีผลา และกระเทียม ซึ่งปัจจุบันมีหลายรูปแบบ เช่น กระเทียมดำ กระเทียมที่สกัดด้วยน้ำ หรือกระเทียมสกัดด้วยน้ำมัน แต่ไม่ว่ารูปแบบใดก็มีฤทธิ์เสริมภูมิคุ้มกันได้ทั้งสิ้น และในผู้มีประวัติสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อโควิด-19 แนะนำให้ใช้ยาฟ้าทะลายโจรในขนาดรักษาแม้จะยังตรวจพบเชื้อก็ตาม

ระยะติดเชื้อแล้ว

ในระยะติดเชื้อแล้วสามารถใช้ยาสมุนไพรเพื่อบรรเทาอาการในผู้ป่วยที่ไม่รุนแรง ควรกินยาฟ้าทะลายโจรให้เร็วที่สุดเท่าที่ทำได้ หากมีเสมหะเหนียวในคอ แนะนำให้ใช้ฟ้าทะลายโจรบดหยาบ (อาจผสมมะนาว และน้ำผึ้งเพื่อให้รับประทานง่าย) กวาดคอเพื่อดึงเสมหะออกมาร่วมกับการกินน้ำมะขามป้อม ส่วนยาขิง ยาแก้ไอมะขามป้อม ยาสุมรมไอน้ำ จะสามารถบรรเทาอาการได้ดี (แต่ไม่ได้ช่วยฆ่าเชื้อโควิด) ยาปราบชมพูทวีป ให้เริ่มกินเมื่อมีอาการแล้ว

สำหรับการติดเชื้อในเด็ก โดยปกติแล้วมักไม่ค่อยแสดงอาการ แต่หากมีอาการแนะนำให้นำหัวหอมต้มน้ำแล้วอาบ เนื่องจากมีสารสำคัญชนิด เควอซิติน (Quercetin) ที่มีฤทธิ์ช่วยขยายหลอดลมและต้านไวรัส อาจบุเป็นลูกประคบแล้วสูดดมไอน้ำ หรือทำซุปหัวหอมรับประทานก็ย่อมได้ ในขณะที่ยาฟ้าทะลายโจรก็สามารถใช้ในเด็กได้เช่นกัน โดยขณะนี้มีข้อมูลรับรองความปลอดภัยของการใช้ยาดังกล่าวในเด็กอายุ 4 ปีขึ้นไปรับรองแล้ว แต่เนื่องจากฟ้าทะลายโจรมีรสขมมาก จึงแนะนำให้นำผงฟ้าทะลายโจรปั้นเป็นลูกกลอนแล้วผสมลงในผลไม้รสหวาน เช่น กล้วย แล้วให้เด็กรับประทาน (ยาฟ้าทะลายโจรชนิดน้ำมีรสขมเกินไป และชนิดแคปซูลจะมีเม็ดใหญ่เกินไป เด็กจึงไม่สามารถใช้ได้)

ระยะหลังติดเชื้อ

ระยะนี้ผู้ป่วยจะเหนื่อย และอ่อนเพลียมาก หากไม่มีอาการใด แนะนำให้รับประทานอาหารย่อยง่าย และกลุ่มเครื่องเทศ ร่วมกับอาหารเสริมภูมิคุ้มกัน สามารถดาวน์โหลดตัวอย่างเมนูอาหารได้

โดยทางรพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศรได้ทดลองนำเมนูอาหารดังกล่าวใช้กับผู้ป่วยก่อน-หลังติดเชื้อ พบว่าได้ผลดีมาก โดยเฉพาะซุปหัวหอม และตำรับยาบำรุงปอด ในขณะที่ยาปราบชมพูทวีป และยาอภัยสาลี มีพริกไทยเป็นส่วนประกอบ และผู้ป่วยที่ใช้ยาบางประเภท เช่น วาฟฟารีน (Warfarin) อาจเกิดผลข้างเคียงได้ จำเป็นต้องใช้ภายใต้การดูแลการกำกับดูแลของแพทย์

อย่างไรก็ตาม ตามหลักการวิจัยยาสมัยใหม่นั้น การจะจัดว่าสมุนไพรตัวใดสามารถใช้รักษาโรคใดตามแนวทางการแพทย์แผนปัจจุบันได้นั้น จำเป็นต้องมีข้อมูลวิจัยสนับสนุนอย่างรอบด้าน หากขาดด้านใดด้านหนึ่งไปจะถือว่ายังไม่เหมาะสมที่จะนำมาใช้ แต่ในสถานการณ์ปัจจุบันของโรคโควิดยังไม่มียาตัวใดที่มีข้อมูลครบทุกด้านทั้งสิ้นไม่ว่าจะเป็นยาแผนปัจจุบันหรือสมุนไพร

ฟ้าทะลายโจรต้านไวรัสโควิดได้จริงหรือ?

แม้ในวันนี้จะมีข้อมูลของฟ้าทะลายโจรที่ทำการศึกษาวิจัยในคนไม่มากนัก แต่ข้อมูลในระดับโมเลกุลมากทีเดียว จากการรวบรวมงานวิจัยหลายชิ้นพบว่าฟ้าทะลายโจรสามารถป้องกันเชื้อไวรัสโควิดเข้าสู่เซลล์ได้จริง และลดโอกาสการเกิดเชื้อดื้อยาในอนาคต เนื่องจาก สารแอนโดรกราโฟไลด์ (Andrographolide) ในฟ้าทะลายโจรสามารถเข้าจับกับโครงสร้างของเชื้อโควิดได้หลายตำแหน่ง ทำให้เชื้อไวรัสไม่สามารถเข้าสู่เซลล์มนุษย์ได้ ได้แก่

  1. ACE2 receptor คือ บริเวณตัวตัวรับไวรัสที่เซลล์ปอดของมนุษย์
  2. RNA-dependent RNA polymerase (RdRP) ซึ่งเป็นตำแหน่งเดียวกับที่ยา Favipiravir ออกฤทธิ์
  3. Main Protease (Mpro) คือ เอนไซม์สำคัญที่มีส่วนทำให้ในการช่วยไวรัสเพิ่มจำนวนและแบ่งตัว
  4. 3-CL protease, PL protease คือ เอนไซม์ที่ทำหน้าที่ตัดโปรตีนชิ้นยาวที่ไวรัสสร้างขึ้นและทำหน้าที่สร้างลูกหลานไวรัสให้แพร่กระจายออกไป ให้กลายเป็นโปรตีนชิ้นเล็กๆ การยับยั้งกระบวนการนี้จะทำให้ไวรัสไม่สามารถสร้างสำเนาตัวใหม่ได้
  5. Spike Protein คือ ส่วนหนามของโปรตีนที่เป็นโครงสร้างส่วนนอกของไวรัส เป็นบริเวณที่ไวรัสใช้ในการเข้าจับกับเซลล์ในร่างกายมนุษย์

งานวิจัย Anti-SARS-CoV-2 Activity of Andrographis paniculata Extract and Its Major Component Andrographolide in Human Lung Epithelial Cells and Cytotoxicity Evaluation in Major Organ Cell Representatives (2021) จากมหาวิทยาลับมหิดล ตีพิมพ์เมื่อ เมษายน 2021 ทดลองเปรียบเทียบฟ้าทะลายโจร กับยา Remdesivir (เป็นยาที่เลือกมาใช้ในการทดลองนี้ และถูกอนุญาตให้ใช้ในสหรัฐอเมริกา) มีกลไกการออกฤทธิ์ที่แตกต่างกัน กล่าวคือ ฟ้าทะลายโจรจะออกฤทธิ์ยับยั้งไวรัสในช่วงเชื้อแบ่งตัว (เริ่มสร้างลูกหลานไวรัสและส่งออกไปยังเซลล์ใหม่) ในขณะที่ยา Remdesivir จะออกฤทธิ์ยับยั้งในระยะแรกของการแบ่งตัว หากพิจารณาตามกลไกดังกล่าวจึงคาดว่ายา Favipiravir และฟ้าทะลายโจรน่าจะใช้ร่วมกันได้ในลักษณะเสริมฤทธิ์ แต่มีโอกาสที่จะเป็นพิษต่อตับ ขณะนี้อยู่ในระหว่างการรวบรวมข้อมูลของผู้ป่วยทั้งหมดมาวิเคราะห์

มีงานวิจัยบางชิ้นพบว่าสารแอนโดรกราโฟไลด์ ในฟ้าทะลายโจรสามารถเพิ่มประสิทธิภาพของภูมิคุ้มกันแต่กำเนิด ((innate immunity) และลดการปริมาณของสารที่ทำให้เกิดการอักเสบได้ด้วย จึงทำให้ในกรณีของผู้ป่วยกลุ่มสีเขียว (มีอาการไม่มาก หรือไม่มีอาการ) เมื่อได้รับยาฟ้าทะลายโจรจึงไม่กลายเป็นกลุ่มสีเหลือง (มีอาการแต่ไม่รุนแรง เช่น หอบเหนื่อย หายใจเร็ว) หรือกลายเป็นกลุ่มสีแดง (อาการรุนแรง ปอดอักเสบ ปอดบวม) เนื่องจากอาจลดภาวะพายุไซโตไคน์ (cytokine storm) ได้ ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการศึกษาเพิ่มเติม

อย่างไรก็ตาม งานวิจัยเรื่องฟ้าทะลายโจรฉบับแรกเป็นของประเทศไทย โดย ศ.นพ.วิษณุ ธรรมลิขิตกุล คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล หลังจากนั้นมีการพัฒนายาออกมา ชื่อว่า ยา Kan Jang (ประกอบด้วยสารสกัดของฟ้าทะลายโจร และสมุนไพรอื่น) ที่ช่วยบรรเทาอาการหวัดให้ลดลง ภายหลังสูตรดังกล่าวถูกนำมาศึกษาพัฒนาเป็นยารักษาโควิดในประเทศสวีเดน

มีฟ้าทะลายโจรในบ้านให้อุ่นใจ แต่ใช้อย่างไรดี?

ในปัจจุบัน ประเทศที่ใช้ฟ้าทะลายโจรในการรักษาโควิดอย่างเป็นทางการ คือ เวียดนาม ลาว และอินโดนีเซีย ในขณะที่จีนจะใช้ฟ้าทะลายโจรร่วมร่วมกับยาชนิดอื่น สำหรับการใช้ฟ้าทะลายโจรเองภายในบ้าน ควรรีบใช้ทันทีหากเริ่มมีไข้ หรือเจ็บคอแม้เพียงเล็กน้อย (ใช้ให้เร็วที่สุดเท่าที่ทำได้โดยที่ไม่ต้องรอผลตรวจโควิด) เนื่องจากจะช่วยปรับภูมิคุ้มกัน และยับยั้งการแบ่งตัวของไวรัส หากทิ้งระยะเวลาไว้นานเกินไปหลังได้รับเชื้อ ไว้รัสจะแบ่งตัวมากขึ้น ทำให้ร่างกายเกิดการอักเสบ และการใช้ยาสมุนไพรอาจไม่สามารถรักษาอาการได้ทันท่วงที (เนื่องจากธรรมชาติของยาสมุนไพรแม้จะออกฤทธิ์ในหลายกลไก แต่จะไม่ออกฤทธิ์รุนแรงเหมือนยาเคมี) โดยทั่วไปแล้ว การได้รับปริมาณสารแอนโดรกราโฟไลด์ 180 มิลลิกรัม/วัน ก็เพียงพอแล้ว แต่ต้องปรับให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย หากผู้ป่วยได้รับฟ้าทะลายโจรแล้วมีอาการอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ จุกเสีย (โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ) ควรปรับขนาดการใช้ยา และใช้ร่วมยาสมุนไพรชนิดอื่น เช่น น้ำขิง เพราะฉะนั้นการใช้สมุนไพรต้องหมั่นปรับยาและสังเกตอาหารอย่างต่อเนื่อง

ตามคำแนะนำของบัญชียาหลักแห่งชาติจะระบุไว้ว่าห้ามใช้ฟ้าทะลายโจรเกิน 3-5 วัน แต่เป็นการอ้างอิงจากองค์ความรู้ของยาตะวันตก ในความเป็นจริงแล้วสมุนไพรมีฤทธิ์ร้อนเย็นต่างกัน ผู้ป่วยแต่ละรายจะมีความเหมาะสมในการใช้ต่างกัน โดยทั่วไปแล้วควรกินติดต่อกัน 5 วัน หากอาการดีขึ้นแล้วให้หยุดยา แต่ในบางรายหากไม่มีอาการข้างเคียง อาจใช้ต่อไปได้เล็กน้อยเมื่อมีไข้ แต่ต้องหมั่นสังเกตอาการข้างเคียงอื่นร่วมด้วย เช่น หากมีอาการท้องเสีย อาหารเป็นพิษ อาจต้องพิจารณา 2 ประเด็นคือ 1) ผู้ใช้อาจมีเชื้อโควิดอยู่แล้ว อาการท้องเสียเกิดจากอาการของโควิด ไม่ใช่ฟ้าทะลายโจร หรือ 2) หากผู้ป่วยไม่ได้เป็นโควิด แล้วเกิดอาการท้องเสีย ร่วมกับคลื่นไส้ อาเจียน เป็นผื่นคัน หรือหายใจไม่ออก อาจเกิดจากฤทธิ์ของฟ้าทะลายโจร เนื่องจากฟ้าทะลายโจรมีฤทธิ์เย็น หากผู้ใช้เป็นคนหนาวง่าย การกินยาในปริมาณที่เยอะ และยาวนานอาจก่ออาการข้างเคียงดังกล่าว ควรปรับใช้ยาชนิดอื่น เช่น จันทลีลา หรือ ยาห้าราก ยาเขียว ก็ใช้ได้เช่นกัน

กระชาย

จากการศึกษาทาง Molecular docking ของ ม.มหิดล พบว่าสารสำคัญของสมุนไพร 3 ชนิด ได้แก่ ฟ้าทะลายโจร ขิง และกระชาย จะเข้าจับกับ ACE2 receptor (ตัวรับไวรัสที่เซลล์ปอด) และ Main Protease (Mpro) ได้ดี จึงคาดว่ากลไกการทำงานของสารสำคัญในสมุนไพรที่น่าจะเป็นไปได้ คือ 1. Block endocytosis pathway (กลืน และหลอมรวมเข้าไปในเซลล์) 2. Inhibition of virus protease (ยับยั้งโปรตีนที่ทำหน้าที่แบ่งตัวของไวรัส)และ 3. Anti-inflamatory ลดการอักเสบ ปัจจุบันมีการศึกษาในสัตว์ทดลองที่มีภาวะปอดอักเสบพบว่ากระชายสามารถใช้ได้ผลดี

ขิง

จากการศึกษา Molecular docking  ของสารสำคัญในขิง 4 ชนิด ได้แก่ 1. Zingiberene 2. Zingerone 3. Gingerenone 4. Shogaol  พบว่ากลไกการออกฤทธิ์ของสาระสำคัญดังกล่าวมีคุณสมบัติ ต้านเชื้อไวรัส SAR-CoV-2 ต้านเชื้อแบคทีเรีย เพิ่มภูมิต้านทาน ลดการถูกทำลายเนื้อเยื่อปอด ยับยั้ง oxidation stress (การเกิดอนุมูลอิสระที่เกิดขณะร่างกายกำลังต่อสู้กับเชื้อไวรัส) และบรรเทาอาการอักเสบในสัตว์ทดลองที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิด lung injury ได้ด้วย

ในงานวิจัย The effects of combination of Zingiber officinale and Echinacea on alleviation of clinical symptoms and hospitalization rate of suspected COVID-19 outpatients: a randomized controlled trial (2021) จากประเทศอิหร่านบ่งชี้ว่าการให้ขิงแคปซูลร่วมกับการรักษาปกติในผู้ป่วยโควิดสามารถบรรเทาอาการไอ ไข้ ปวดเนื้อตัว และอาการของระบบทางเดินหายใจได้ดี

โกฐจุฬาลัมพา

โกฐจุฬาลัมพาสายพันธุ์ Artemisia annua L. คือสายพันธุ์ดั้งเดิมที่ถูกใช้เป็นโครงสร้างต้นแบบของยาต้านมาลาเรีย) ในปัจจุบันการศึกษาโกศจุฬาลัมพากับเชื้อ SAR-CoV-2 ในระดับเซลล์มีอยู่ 2 ชิ้น ได้แก่ 1)คณะวิจัยจากม.โคลอมเบีย พบว่าสารสกัดรวมในน้ำร้อนจากใบแห้งของโกฐจุฬาลัมพา มีประสิทธิภาพสูงในการยับยั้งเชื้อโควิดสายพันธุ์แอฟริกา และอังกฤษ ได้ โดยคาดว่าสารที่มีบทบาทสำคัญในการยับยั้งเชื้อโควิดไม่ใช่สาร artemisinin แต่เพียงอย่างเดียว แต่น่าจะมาจาการทำงานของสารอื่นในโกฐจุฬาลัมพาร่วมด้วย 2) คณะนักวิจัยจากเดนมาร์ค ร่วมกับเยอรมัน และฮ่องกงพบว่ายา artesunate (สำหรับรักษาโรคมาลาเรีย) มีฤทธิ์ในการต้านไวรัสโควิดมากที่สุด รองลงมาคือยา artemether สารสกัดโกฐจุฬาลัมมพา และ ยา artemisinin ตามลำดับ ทั้งนี้มีความเป็นไปได้ว่า artesunate น่าจะสามารถยับยั้งเชื้อโควิดเข้าสู่เซลล์ได้ด้วย

คณะวิจัยในจีนได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับการใช้ยา Artemisinin-Piperaquine: AP (ยารักษามาลาเรีย) ในผู้ป่วยโควิดที่มีอาการน้อย-ปานกลางจำนวน 23 ราย พบว่าในกลุ่มที่ใช้ยาดังกล่าวสามารถตรวจพบเชื้อโควิดได้เร็วกว่าเมื่อเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้ใช้ แต่มีรายงานว่าผู้ป่วยถึง 12 ราย ที่มีอัตราการเต้นของหัวใจช้าผิดปกติ กล่าวคือ มีช่วงจังหวะไฟฟ้าของหัวใจนานขึ้น (QT prolongation) เพราะฉะนั้นการใช้โกฐจุฬาลัมพาแบบเดี่ยว หรือแบบเข้มข้น จำเป็นต้องระมัดระวังเป็นอย่างมาก ควรใช้ตามตำรับยาแผนไทย เช่น ตำรับยาหอมนวโกศ หรือ จันทลีลา จะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า

ในทางการแพทย์แผนไทยแล้ว จะแนะนำให้ใช้โกฐจุฬาลัมพาในผู้สูงอายุ เนื่องจากเป็นยาฤทธิ์ร้อน ช่วยขับลมได้ดี เหมาะกับผู้สูงอายุซึ่งมีลมค้างในช่องท้องมาก การใช้ยาดังกล่าวจะทำให้ลำไส้ดูดซึมอาหารได้ดีมากขึ้น

จำเป็นไหมต้องกินสมุนไพรสด?

การกินสมุนไพรสดย่อมดีกว่ารูปแบบอื่น แต่ในความเป็นจริงเราไม่สามารถกินสดได้ตลอดเวลา การทำให้แห้งจึงเป็นวิธีการที่เหมาะสมและยอมรับได้ หากเตรียมสำหรับรับประทานเองสามารถนำสมุนไพรตากในที่ร่มและใช้แสงแดดธรรมชาติได้ แต่ต้องคอยสังเกตและควบคุมความชื้นและความร้อนอยู่เสมอ เพราะแสงแดดจัดอาจทำลายสารสำคัญ วิตามิน และเกลือแร่จากสมุนไพร

เสริมภูมิลูกหลานด้วยการทานสมุนไพร

ในเด็กแนะนำให้ใช้สมุนไพรกลุ่มเครื่องเทศ เช่น หอมแดง กระเทียม กะเพรา มะขามป้อม ขมิ้นชัน จะช่วยเสริมให้ภูมิคุ้มกันแบบไม่จำเพาะเจาะจง (Non-Specific Defense Mechanism) ทำงานได้ดี การกินในรูปแบบอาหารก็เพียงพอแล้วเนื่องจากมีความปลอดภัย เช่น ไข่เจียวหอมแดง ผสมขมิ้นชันในนม หรือโยเกิร์ต เป็นต้น งานวิจัยจากศิริราชชี้ให้เห็นว่าเมื่อใช้มะขามป้อม 1 กรัมต้มน้ำจิบ จะช่วยเพิ่ม NK cell (เซลล์ฆ่าเชื้อไวรัส และมะเร็ง) อีกด้วย

จากข้อมูลทั้งหมดจะเห็นได้ว่าสมุนไพรมีบทบาทในการช่วยดูแลผู้ป่วยโควิดได้จริง แต่ควรเน้นเพื่อเสริมภูมิคุ้มกันและกินเป็นอาหารก่อน และยังต้องพิจารณาร่วมกับหลักฐานและการทดลองทางวิทยาศาสตร์อย่างถูกต้องด้วย สิ่งสำคัญคือต้องรู้จักอาการของตัวเอง รู้จักข้อมูลของสมุนไพร ใช้อย่างหลากหลาย และปรับใช้ให้เหมาะสมกับแต่ละคน

เอกสารเพิ่มเติม