นิเวศสวนทุเรียน

ทุเรียนเป็นผลไม้ที่ปลูกได้ในพื้นที่หลากหลายแตกต่างตามภูมินิเวศของไทย ปัจจุบันมีทั้งการปลูกแบบอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ การปลูกแบบอินทรีย์ และการปลูกเพื่อการอนุรักษ์ ปัจจุบันการค้าขายทุเรียนไม่ได้ถูกจำกัดแค่ในสวนทุเรียนหรือพ่อค้าคนกลางอีกต่อไป การขายทุเรียนออนไลน์ส่งตรงจากชาวสวนตัวจริงกลายเป็นที่นิยมอย่างมาก เราชาวสวนทุเรียนแต่ละท้องที่จึงมีวิถีการปรับตัวไปพร้อมกับโลกที่เปลี่ยนแปลงแตกต่างกัน

สวนบุญทวี เพราะสิ่งสำคัญที่สุดคือระบบนิเวศที่ดี

สวนบุญทวี ตั้งอยู่ใน อ.ขลุง จ.จันทบุรี มีเนื้อที่มากกว่า 40 ไร่ พี่ปู กัลยา สำอาง เจ้าของสวนบุญทวีเล่าให้เราฟังว่าในอดีตเป็นสวนผลไม้เคมี เน้นปลูกทุเรียนพันธุ์ชะนีเป็นหลัก แม้จะได้ผลผลิตมาก แต่ภายหลังเกิดวิกฤติ ผลผลิตเริ่มมีราคาตกต่ำ จนกระทั่งตนเองเริ่มปรับเปลี่ยนวิธีการทำสวนเป็นแบบยกร่อง (เดิมปลูกแบบแนวราบ) จากเดิมที่เป็นทุเรียนทั้งหมดก็ปลูกมังคุดและลองกองเพิ่มด้วย สวนบุญทวีดำเนินต่อมาเรื่อยๆจนกระทั่งรุ่นลูกเริ่มหันมาทำเกษตรอินทรีย์ ไม่ใช้สารเคมีกำจัดหญ้าแต่ใช้คนเดินตัดแทน หญ้าที่ตัดแล้วจะทำหน้าที่เป็นปุ๋ยพืชสดคลุมโคนต้นทุเรียนอีกที ใช้น้ำหมักชีวภาพในการควบคุมโรคพืช (ส่วนหนึ่งได้จากการเรียนรู้ที่ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติโป่งแรด) การเรียนรู้ใช้สมุนไพร 7 รสในการควบคุมศัตรูพืช ไม่นานก็พบว่าหากระบบนิเวศดี สินค้าเกษตรอินทรีย์สามารถมี ลูกสวย น้ำหนักดี ดูสะอาดสะอ้าน ราคาดีได้จริง เมื่อทำสวนอินทรีย์มาสักพักพบว่าคุณภาพดินเริ่มดีขึ้น ไม่มีลักษณะดินเป็นกรด เมื่อระบบนิเวศในสวนสมบูรณ์ขึ้นแล้ว ธรรมชาติก็สามารถเกื้อกูลกันเองได้ อย่างไรก็ดีรสชาติของทุเรียนจะแตกต่างกันไปแต่ละท้องถิ่น และรสชาติอาจแปรผันไปเรื่อยๆด้วย ชาวสวนควรตอนกิ่งหรือเก็บเมล็ดทุเรียนพันธุ์แรกๆของสวนเอาไว้ด้วย

การปรับตัวตามสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนไปในแต่ละปีก็เป็นเรื่องสำคัญ พี่ปูเล่าว่าช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาแล้งมาก ส่งผลกระทบทั้งต่อทุเรียนและลำไย โดยเฉพาะทุเรียนที่เป็นพืชต้องการน้ำมาก การที่ต้นทุเรียนอยู่บนผืนดินที่มีหญ้าปกคลุม รากจะช่วยดูดซับน้ำไว้กับดิน และลดการระเหยของน้ำ ทำให้ดินยังคงมีความชุ่มชื้นอยู่ (หากใช้ยาฆ่าหญ้าจะทำให้ผิวดินแห้งเนื่องจากแสงแดดจะกระทบผิวดินโดยตรงทำให้ดินขาดความชุ่มชื้น) ที่สำคัญคือหมั่นตรวจวัดความชื้นดินและสภาพหน้าดินอย่างสม่ำเสมอ การปลูกพืชแบบผสมผสานก็เป็นสิ่งสำคัญ ควรปลูกไม้กันลมได้ไว้ในสวนบ้างเพื่อป้องกันภัยพิบัติ แต่ต้องปรับไปตามบริบทของตนเอง การทำเกษตรอินทรีย์ในช่วงแรก หากเกิดปัญหา หรืออุปสรรคใหม่ๆย่อมทำให้ชาวสวนรู้สึกท้อแต่หากมีการรวมกลุ่ม มีเพื่อนทำเกษตรอินทรีย์ด้วยกัน หมั่นเรียนถูกผิดกับคนที่เคยทำมาก่อนแล้ว การร่วมแลกเปลี่ยนพึ่งพากันจะช่วยแก้ปัญหาให้ผ่านไปได้อย่างสวยงาม

การตลาดแบบสวนบุญทวี เพราะทุเรียนอินทรีย์ออนไลน์เป็นไปได้จริง

ปัจจุบันทุเรียนจากสวนบุญทวีมีทั้งขายล้งและขายออนไลน์ หากส่งขายกับล้ง ล้งจะเป็นผู้เข้ามารับซื้อแล้วกำหนดราคาตามเกรด แต่หากขายออนไลน์ สวนจะกำหนดราคาได้เองโดยยึดหลักการที่อยากให้คนไทยด้วยกันได้กินทุเรียนดีที่ราคาจับต้องได้ สวนบุญทวีขายทุเรียนที่ 150 บาท/กก. เท่ากันทุกปี ทุกสายพันธุ์ (ยกเว้นสายพันธุ์โบราณ เช่น ก้านยาว ราคา 200 บาท/กก.) การเริ่มขายทุเรียนอินทรีย์ออนไลน์เป็นสิ่งใหม่ที่ต้องค่อยๆปรับตัวและเรียนรู้มาก การทำทุเรียนอินทรีย์ต่างจากการใช้เคมีมาก เมื่อใกล้วันตัดทุเรียน ชาวสวนต้องปีนขึ้นไปบนต้นทุเรียนเพื่อเคาะดูว่าพร้อมตัดหรือยัง ทำเช่นนี้อย่างสม่ำเสมอเพราะต้องเริ่มตัดทุเรียนตอนแก่จัดแล้วส่งไปให้ผู้ซื้อเท่านั้น แน่นอนว่าอาจเกิดความผิดพลาดบ้างแต่ทางสวนพร้อมจะรับผิดชอบ และผู้ซื้อก็พร้อมจะเข้าใจกับธรรมชาติของแต่ละสายพันธุ์ นอกจากการขายออนไลน์เองแล้ว ปัจจุบันสวนบุญทวียังร่วมกับเพจธรรมธุรกิจ บริการส่งเงาะและทุเรียนอินทรีย์ออนไลน์ให้แก่ผู้บริโภคด้วย ปัจจุบันจะเห็นว่าการขายผัก-ผลไม้อินทรีย์ไม่ได้ยากอีกต่อไป สิ่งสำคัญคือผู้ผลิตอย่างเราต้องรักษามาตรฐานให้ดี

เทิดศักดิ์ ทัศนียะเวช สวนทุเรียนเมืองนนท์ การตลาดตรงสู่ผู้บริโภค

ตามประวัติศาสตร์แล้วคาดว่าน่าจะมีการปลูกทุเรียนในจังหวัดนนทบุรีมาแล้วไม่น้อยกว่า 300 ปี เทิดศักดิ์ ทัศนียะเวช เจ้าของสวนผลไม้ชั้นดีที่มีทุเรียนราคาสูงถึง 5,000 บาท/กก. (พันธุ์ก้านยาว) และ 1,500 บาท/กก. (พันธุ์หมอนทอง) ที่มีคิวยาวขนาดต้องสั่งจองล่วงหน้า พี่เทิดศักดิ์เล่าให้เราฟังว่า เอกลักษณ์ของการทำสวนทุเรียนแบบนนทบุรีคือการทำสวนยกร่อง และทำโคก เน้นการปลูกพืชแบบต่างระดับ ได้แก่ ชั้นที่ 1 ปลูกทุเรียน ชั้นที่ 2 ปลูกมังคุดกับกล้วย และชั้นที่ 3 คือปลูกต้นทองหลาง เนื่องจากต้นทองหลางเป็นปุ๋ยอินทรีย์ชั้นดีของทุเรียนโดยใช้ได้ทั้งแบบสด หรือหมักในร่องสวนและยังช่วยให้เนื้อทุเรียนมีรสชาติดีขึ้นด้วย

แม้ว่าทุกวันนี้สวนทุเรียนของพี่เทิดศักดิ์จะไม่ใช่สวนอินทรีย์ร้อยเปอร์เซ็น แต่ตนเองก็พยายามลดการใช้สารเคมีให้น้อยที่สุด จะไม่ใช้สารกำจัดโรคพืชกลุ่มราและแบคทีเรียเลยแต่หันมาใช้วิธีธรรมชาติแทน ปุ๋ยหมักหาได้จากขี้ม้า (ใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มาและน้ำหมักอินทรีย์ก่อนใช้) โดยโรยรอบโคนต้น 35 กก./ต้น (หากเป็นปุ๋ยเคมีต้องใช้มากกว่า  50 กิโลกรัม/ไร่) ในขณะที่การกำจัดศัตรูพืชใช้วิธีให้แมลงจัดการกันเอง เช่น ตนเองมักสังเกตเห็นว่าในสวนมีแตนจำนวนมากซึ่งกินตัวอ่อนของเพลี้ยไก่แจ้เป็นอาหาร แต่ไรแดงยังเป็นศัตรูที่กำจัดยากอยู่ ตนเองจะใช้สารเคมีเฉพาะในกรณีจำเป็นเท่านั้น

ภัยพิบัติร้อยแปด วิบากกรรมของชาวสวนผลไม้ในจังหวัดนนทบุรี

หลังจากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ปี 2554 นนทบุรีเป็นจังหวัดที่ได้รับความเสียหายมากเป็นอันดับต้นๆ พี่เทิดศักดิ์เล่าให้เราฟังว่าพืชที่รอดชีวิตหลังน้ำท่วมคือทองหลาง แต่ที่น่าประหลาดใจคือการผุดขึ้นของเห็ดตับเต่าในสวน เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงที่ใช้ยาฆ่าหญ้าจะไม่พบเห็ดตับเต่าในสวนเลย เพราะเห็ดตับเตาเป็นพืชที่ต้องเกาะกับรากของหญ้าบนหน้าดินที่ชุ่มชื้น ปัจจุบันตนเองจึงตั้งใจเพาะเห็ดตับเต่าควบคู่ไปกับสวนทุเรียนเพราะนอกจากจตัวชี้วัดความชื้นในสวนแล้วยังเป็นรายได้เสริมได้อีกด้วย หลังจากภัยพิบัติน้ำท่วมเริ่มผ่านไป ชาวสวนยังต้องเผชิญกับสารเคมีที่ติดมากับขยะในน้ำ ทำให้ดินเสีย ตนเองแก้ไขโดยใช้ปุ๋ยคอก เถ้าภูเขาไฟ แกลบ และทรายแมว มาปรับปรุงดินให้ดินมีโพรงอากาศมากขึ้น นอกจากภัยจากน้ำ ยังมีอีกหลากหลายต่างประเดประดังเข้ามา เช่น เวลาพายุพัด หากสังเกตให้ดีจะพบว่าลมจะพัดเข้าสวนเป็นช่อง ควรปลูกมะม่วง มะพร้าว หรือไม้ตะเคียนเอาไว้เป็นแนวปะทะลมเพื่อลดการสูญเสียของผลผลิต และสร้างรายได้อีกเช่นกัน อย่างไรก็ดี เรื่องภัยพิบัติกับชาวสวนผลไม้เมืองนนท์คงไม่ใช่เรื่องที่จะสงบง่ายๆ ปัจจุบันวิกฤติฝุ่นละออง PM 2.5 และความร้อนแฝงจากเมืองใหญ่ส่งผลให้ฝุ่นเกาะตามใบทุเรียน คำแนะนำคือให้ใช้น้ำยาล้างจานเจือจางฉีดพ่นตามใบแล้วล้างด้วยน้ำสะอาดอีกครั้ง ถึงแม้ชาวสวนทุเรียนนนท์จะเจอภัยธรรมชาติมามากมายแค่ไหน แต่ครั้งที่รุนแรงที่สุดคงหนีไม่พ้นวิกฤติการณ์ดินเค็ม

ดินเค็มเค็ม ปัญหาใหญ่ที่แก้ไม่ตก

สถานการณ์น้ำเค็มในปัจจุบันทำให้เหล่าชาวสวนทยอยขายที่ดินทิ้งกันไปเป็นจำนวนมาก น้ำเค็ม หรือดินเค็มจะทำให้ทุเรียนยอดด้วน ไม่ได้ผลผลิต เกษตรกรได้รับคำแนะนำจากกรมพัฒนาที่ดินว่าให้ใช้เถ้าภูเขาไฟโรยแล้วใช้น้ำเปล่าล้างความเค็มในดินอีกครั้ง แม้จะได้ผลบ้างไม่ได้ผลบ้าง แต่ทำให้เกษตรกรต้องเร่งขุดบ่อน้ำบาดาล และเรียนรู้เทคโนโลยีเครื่องวัดน้ำเค็มกันอย่างชำนาญ คาดการณ์ว่าวิกฤติดินเค็มครั้งนี้อาจทำให้ทุเรียนในสวนมีรสชาติไม่อร่อยเหมือนเดิม อาจต้องใช้เวลาฟื้นตัวยาวนานกว่า 10-15 ปีทีเดียว

สวนทุเรียนป้านา ป่าละอู ทุเรียนนอกถิ่นแห่งภาคตะวันตก

รจนา คงอินทร์ หรือ ป้านาเจ้าของสวนทุเรียนป้านาป่าละอู หัวหิน ประจวบคีรีขันธ์ เล่าให้เราฟังถึงที่มาที่ไปกว่าจะมาเป็นทุเรียนอินทรีย์ ต้องลองผิดลองถูกกับทุเรียน 70 ต้นบนที่ดิน 6 ไร่ แม้ไม่ใช่เรื่องง่ายแต่ก็ไม่ยากเกินไปนัก ป้านาใช้เวลาปรับปรุงดินนาน 3-4 ปี ปลูกผสมผสานกับพืชผลอื่นๆ ทุเรียนจึงเริ่มงอกงาม จนกระทั่งปัจจุบันได้ผลผลิตมากถึง 2 ตัน/ปี สวนทุเรียนของป้านาไม่ใช่สวนยกร่อง แม้เป็นการปลูกทุเรียนแบบพืชสวนธรรมดา แต่มีเทคนิคการเก็บที่ละเอียดอ่อน โดยต้องให้คนปีนขึ้นไปบนต้นจากนั้นตัดทุเรียนที่แก่จัดใส่กระป๋องแล้วโรยรอกลงมาจากต้นเพื่อไม่ให้ลูกทุเรียนบอบช้ำแม้แต่น้อย ปัจจุบันป้านาทำการตลาดกับกลุ่มลูกค้าเก่าอย่างต่อเนื่อง โดยขายที่ตลาดสุขใจ และทองหล่อ ด้วยความโดดเด่นของทุเรียนจากป่าละอูที่มีรสชาติแตกต่างจากแหล่งอื่น เนื้อที่แห้งละเอียด หวานมัน แถมราคาก็ไม่แรงเกินไปที่จะลิ้มลองนัก (หมอนทอง 350 บาท/กก. ก้านยาว 500 บาท/กก. และนวนทองจันทร์ 300 บาท/กก.) เป็นที่ถูกใจหนุ่มสาวคนเฒ่าคนแก่ยิ่งนักทำให้ขายหมดเกลี้ยงทุกครั้งไป

ยังทำฟาร์ม (Young Tam Farm) ทุเรียนพื้นเมืองออนไลน์

บ่อยครั้งที่เราจะได้เห็นภาพมังคุดขาวๆ ทุเรียนอวบๆที่เพิ่งเก็บลงมาจากต้นจากมุมน่าหวาดเสียวบนต้นไม้ยอดสูงของสาวน้อยเจ้าของสวนผลไม้ ผ่านเพจเฟสบุ๊ค “ ยังทำฟาร์ม (Young Tam Farm)” ก็ทำให้อดน้ำลายไหลไม่ได้ อุ๊ สุภาวดี สุวรรณฤทธิ์ เจ้าของเพจเล่าให้เราฟังถึงวิธีการจัดการสวน รวมถึงการขายผลไม้ออร์แกนิคออนไลน์ ให้เราฟังว่า ตนเองตั้งใจทำสวนผลไม้ให้คนรักสุขภาพ ต้องการอาหารปลอดภัยในราคาที่เป็นมิตร เธอเริ่มจากลดการใช้ยาฆ่าหญ้า ปัญหาเชื้อราไฟทอปธอร่าในทุเรียนเธอเลือกจัดการโดยใช้น้ำหมักชีวภาพแทน (ได้สูตรมาจากการอบรมที่ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง) และเริ่มปลูกพืชแบบผสมผสาน ทำให้เกิดลูกค้ากลุ่มแรกๆของฟาร์มเป็นกลุ่มผู้แพ้สารเคมีขึ้นตามความต้องการของเธอ ด้วยราคาสินค้าที่ไม่แพงนัก (ทุเรียนราคา 120-150 บาท/กก.) ค้าขายตามความเป็นจริง ไม่นานก็ได้รับการบอกต่อ และกลายเป็นสวนผลไม้ออร์แกนิคที่ได้รับความนิยมมากในโลกออนไลน์

ยังทำฟาร์ม

เพราะทุกภาพมีเรื่องราว

นอกจาก ยังทำฟาร์ม จะมีคาเฟ่หน้าร้านที่ใช้ผลไม้ในสวนมาแปรรูปเป็นขนมน่าตาน่ารักแล้ว ยังเน้นการตลาดแบบออนไลน์เป็นสำคัญ การใช้เรื่องราวของของเหล่าผลไม้ลูกเล็กใหญ่ในสวนเล่าเรื่องเรื่องผ่านภาพกลายเป็นแรงจูงใจลูกค้าทั้งหน้าเก่าหน้าใหม่อย่างต่อเนื่อง แม้ในช่วงแรกการขนส่งผลไม้ตามออร์เดอร์ของลูกค้าจะเป็นเรื่องทุลักทุเลอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะทุเรียนซึ่งแพ็คยากและส่งกลิ่นแรง แต่ในปัจจุบันเมื่อตลาดของกินออนไลน์เป็นที่ยอมรับมากขึ้นก็ไม่ใช่ปัญหาอีกต่อไป

ความแตกต่างทางภูมิศาสตร์ที่ใช้ปลูกพืชผลในแต่ละที่สร้างเสน่ห์ให้รสชาติและเนื้อสัมผัสของทุเรียนที่แตกต่างกัน กลายเป็นอัตลักษณ์เฉพาะของแต่ละท้องถิ่น เพราะดิน ความชื้น สภาพอากาศที่แตกต่างกัน การทำในระบบอินทรีย์จึงต่างจากการทำแบบอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่เน้นปริมาณผลผลิตมาก พืชผลแต่ละลูกมักมีรสชาติและกลิ่นที่เหมือนกันคล้ายกับอาหารกระป๋องจากโรงงาน หากคุณๆได้ลองสั่งซื้อ สั่งชิมจากเจ้าของสวนเกษตรเองแล้วหละก็ รับรองว่าจะเป็นประสบการณ์ทางรสสัมผัสที่ยากจะลืมเลือน.

เนื้อหาจาก