Permaculture แนวคิดที่เหมาะสมกับระบบนิเวศ

โดย ชูเกียรติ  โกแมน ศูนย์เรียนรู้เกษตรในเมือง

งานโรงเรียนอธิปไตยทางอาหารหลักสูตรที่ 1 ปี 2562-63

เรียบเรียงโดย ปิยาพร อรุณพงษ์, อังคณา ราชนิยม

“การทำเกษตรภายใต้ข้อจำกัดแบบเมือง จึงต้องจัดการสวนแนวตั้ง แนวคิดการจัดการภายใต้ข้อจำกัดเช่นนี้ จึงต้องมีการประยุกต์และปรับใช้สิ่งรอบตัว โดยเฉพาะการนำ “เศษอาหาร/ขยะเหลือใช้” มาทำเป็นปุ๋ยในเมือง”

ฐานประสบการณ์

บริบทเมืองที่มีข้อจำกัดบนที่ดินขนาด 600 ตารางเมตร ที่ต้องตอบโจทย์ “ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ” ก่อนที่จะมองการสร้าง “ความมั่นคงทางอาหาร” บนหลักคิดสำคัญ  คือ  1) การใช้ประโยชน์สูงสุดจากทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด  2) การใช้ประโยชน์จากของเหลือใช้ เริ่มต้นจากการใช้ทรัพยากร โดยนำซากพืชซากสัตว์ ขยะ มา “สร้างดิน”  นอกจากนั้นยังจะต้องมีใจรักและมีความรู้เพื่อสามารถเข้าใจและบริหารจัดการได้อย่างถูกต้อง ไม่เพียงรู้ในเรื่องทักษะ แต่ยังต้องรู้จักตัวเองด้วย

มนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศ  ดังนั้นความเป็นส่วนหนึ่งไม่ได้หมายความว่าเราทำทุกสิ่งได้ทั้งหมด   จึงจำเป็นต้องเรียนรู้พึ่งพาอย่างอื่น คนอื่นด้วย นอกจากการพึ่งตนเอง  ซึ่งก็คือการพึ่งพากัน  ดังนั้นในระบบนิเวศเกษตรเราจำเป็นต้องให้สิ่งมีชีวิตชนิดอื่นทำงานด้วย และเราก็ทำในหน้าที่ของเรา

การเริ่มต้นทำเกษตรจากสิ่งที่มี เช่น อาหาร ขยะ กิ่งไม้ ใบไม้ สามารถเอามาเพาะปลูกเปลี่ยนเป็นปัจจัยการผลิตได้ทั้งหมด และการมีความรู้ โดยเฉพาะเรื่องดิน การทราบว่าดินเกิดจากสารอินทรีย์วัตถุ เราก็สามารถนำเอาสิ่งต่างๆ รอบตัว มาเปลี่ยนมาใช้กับดินได้

สำหรับเรื่องน้ำนั้น ในพื้นที่ กทม. ไม่มีแหล่งน้ำ ลำคลอง เหมือนต่างจังหวัด แต่ในกรุงเทพฯ ใช้น้ำประปา ดังนั้นจึงจำเป็นต้องออกแบบการเกษตรให้ประหยัดที่สุด  ถูกใช้ประโยชน์สูงสุด โดยนำน้ำส่วนเกินมาใช้อีกครั้ง ซึ่งพื้นฐานเหล่านี้ต้องใช้ความรู้ทั้งหมด

ความรู้ส่วนหนึ่งเกิดจากการใช้เวลาอยู่ในสวนเกษตร การดูแล และสุดท้ายให้สวนเป็นไปตามระบบ ซึ่งการ run ระบบ เริ่มต้นขึ้นเมื่อเราไปอยู่ในสวน เรียนรู้ ว่าสวนต้องการให้เราทำอะไร แค่ไหน จนถึงจุดที่ “เรากับสวนสามารถสื่อสารกันได้” หรือมีการเรียนรู้ถึง “จุดที่สวนสื่อสารกับเรา”

แนวทางการออกแบบระบบฟาร์ม บ้าน สวน และชุมชนยั่งยืน

1.จะต้องวางเป้าหมายให้ชัด

2.การจะมีเป้าหมายชัดได้จะต้องรู้จักตัวเองและรู้จักข้อจำกัดของตัวเอง

3.รู้จักระบบนิเวศของแปลงตนเอง รู้ข้อเด่น ข้อจำกัด สภาพดิน น้ำ สิ่งแวดล้อมฯลฯ

4.เลือกพืชให้เหมาะสมกับระบบนิเวศ

5.สำหรับการปลูกในพื้นที่จำกัด ต้องมีการใช้องค์ความรู้ เช่น ความรู้เรื่องดิน การจัดการแปลง จัดการระบบน้ำที่          เหมาะสม การใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม การจัดการสวนให้มีพื้นที่มากขึ้นโดยทำสวนแนวตั้ง

6.การใช้วัสดุอย่างคุ้มค่าและหมุนเวียน

7.ระบบป่าครอบครัว เป็นวนเกษตร เป็นเกษตรที่ยั่งยืนเช่นกัน

8.การทำเกษตรมีเป้าหมายให้สามารถพึ่งตนเองได้  มีกิน มีความมั่นคงทางอาหาร มีใช้

9.ต้องมีหลักประกันทางเศรษฐกิจและชีวิต จากแปลงเกษตร

10.ต้องมีใจ ใส่ใจ และรู้จักปรับเปลี่ยนชีวิตให้เหมาะกับวิถี

11.ศึกษา เรียนรู้ ฝึกฝน และปรับประยุกต์ใช้

1) Permaculture เป็นหลักการเชื่อมโยงพื้นที่ปลูกกับผลผลิตภายใต้บริบทต่างๆ ซึ่งเป็นกรอบแนวคิด Framework ที่สำคัญในการออกแบบและจัดการสวน ทั้งนี้เพื่อเป้าหมายคือการสร้างมูลค่าและคุณค่าจากที่ดินได้มากขึ้น แต่ก็ต้องรู้ข้อจำกัด และการเรียนรู้การพึ่งพากัน

Permaculture ใช้แรงงานภายในพื้นที่ และพึ่งพาพลังหรือแรงงานภายนอกให้น้อยที่สุด การจัดระบบให้เอื้อหรือใกล้เคียงกับระบบนิเวศน์ในธรรมชาติให้มากที่สุด ที่สำคัญ คือต้องสร้างและจัดการให้ระบบนิเวศน์ดูแลกันเองได้ หัวใจ คือ ใช้พลังงานให้น้อย ให้ระบบนิเวศน์ดูแลตัวเองและกำหนดกิจกรรมหลักในพื้นที่

          หลักเพอร์มาคัลเจอร์ 5 หลักการสำคัญ

  1. การใช้ประโยชน์ทางชีวภาพเป็นหลัก
  2. แต่ละองค์ประกอบต้องมีหลากหลายหน้าที่ (Multifunction)
  3. ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรชีวภาพเป็นหลัก
  4. เน้นความหลากหลายทางชีวภาพ
  5. มีการหมุนเวียนทรัพยากรภายในอย่างมีประสิทธิภาพ

ระบบนิเวศน์ คือ ความสัมพันธ์สิ่งมีชีวิต ในแหล่งที่อยู่อาศัย ณ ที่ใดที่หนึ่ง โดยความสัมพันธ์จะมี 2 ลักษณะ คือ“สิ่งมีชีวิตกับสิ่งมีชีวิต” และ “สิ่งมีชีวิตกับสิ่งไม่มีชีวิต” ความสัมพันธ์และความเชื่อมโยงยังหมายถึง การส่งผ่านพลังซึ่งกันและกันด้วย

สิ่งมีชีวิต อาทิ พืช สัตว์ มนุษย์ จุลินทรีย์ เชื่อมโยงแหล่งที่อยู่อาศัย บ้าน สวน ไร่ นาฟาร์ม ป่า ตลอดจนลำคลอง แม่น้ำ ทะเล และเชื่อมโยงยังสิ่งแวดล้อม ดิน ลม น้ำ แสงแดด

ในสิ่งแวดล้อมนั้นๆ แต่ละองค์ประกอบมีหน้าที่หลากหลาย แหล่งน้ำในภาพ มีหน้าที่ ใช้เพื่อการเกษตร ที่พักผ่อนหย่อนใจในแหล่งท่องเที่ยว บ่อน้ำ ยังเป็นแหล่งอาหาร เป็นที่เลี้ยงเป็ด เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ในน้ำ  ตัวอย่าง หากคางคกมาอาศัยที่บ่อน้ำ และขยายพันธุ์ ก็จะมีคางคกมากขึ้น และจะเป็นสัตว์ที่ควบคุมแมลงในสวนได้ต่อ

Permaculture เป็นการใช้ประโยชน์ จากทรัพยากรชีวภาพเป็นหลัก เช่น จะควบคุมแมลง จะปล่อยให้แมลงควบคุมกันเอง การหาแมลงไปปล่อยไม่ได้เป็นการควบคุมแต่ไปรบกวนระบบนิเวศ เพราะสัตว์ที่ปล่อยไม่ใช่เป็นสัตว์ท้องถิ่นนั้น แต่จะต้องเลือกต้นไม้ที่เป็นแหล่งอาหารที่แมลงที่ต้องการให้อาศัยอยู่นั้นสามารถมาอาศัยร่วมได้

เป็นแนวทางที่เน้นความหลากหลายทางชีวภาพ และทุกอย่างต้องเชื่อมโยง ไม่มีสิ่งมีชีวิตไหนที่อยู่โดดๆ ความหลากหลายที่เห็นระหว่างพืชและสัตว์เป็นส่วนหนึ่ง แต่ความหลากหลายที่ต้องพิจารณา คือ ในดิน น้ำ จะมีจุลินทรีย์  แมลงสัตว์ ดังนั้นการออกแบบฟาร์มจะต้องมีความหลากหลายทางชีวภาพที่สูง

จากภาพแสดงถึงการหมุนเวียนทรัพยากร ภายในอย่างมีประสิทธิภาพ เมื่อมีการเพาะปลูก และเลี้ยงสัตว์ เมื่อสัตว์ตายจะดึงมาใช้ประโยชน์เป็นปุ๋ย และเมื่อได้ผลผลิตก็สามารถใช้กินและจำหน่าย ทั้งพืชและสัตว์

การออกแบบฟาร์ม จะช่วยให้ประหยัดเงินลงทุน ประหยัดเวลา วางแผนการทำงานได้ชัดเจน และใช้ประโยชน์ในที่ดินได้อย่างมีประสิทธิภาพ

2) หลักการออกแบบฟาร์ม โดยใช้แนวคิด permaculture สามารถใช้ในการออกแบบทั้งพื้นที่ขนาดเล็กและขนาดใหญ่ หลักคิดสำคัญในการออกแบบในพื้นที่จำกัด คือ ต้องหาตัวช่วย (เทคโนโลยี การจัดการ)

  1. สำรวจตัวเอง พื้นที่ เพื่อรู้ข้อจำกัด
  2. วิเคราะห์ทรัพยากร ทั้งส่วนที่มีและส่วนที่ขาด
  3. เลือกกิจกรรมหลัก เพื่อสร้างรายได้ทางเศรษฐกิจ ก่อนที่จะปล่อยปลาลงในบ่อ จำเป็นต้องมี แพลงตอนพืช ซึ่งเป็นแหล่งอาหารของปลา โดยเมื่อมีแพลงตอนพืชก็จะมีแพลงตอนสัตว์เข้ามาอยู่อาศัย ในที่นี้กิจกรรมหลัก คือ การปลูกข้าวเพื่อเป็นรายได้หลักในสวน

กรณีกิจกรรมหลัก คือ การปลูกผัก จำเป็นต้องเตรียมดิน โดยเลือกใช้วัสดุเหลือใช้จากเศษอาหารและขยะในเมือง  การออกแบบให้ดูแลแบบยืนได้สำหรับการปลูกผักโดยยกกระบะให้สูง ออกแบบสำหรับการเลี้ยงไก่ เป็ดไข่ ด้วยได้อย่างเชื่อมโยงกัน By product คือ ไก่จะไปควบคุมแมลงวันทอง (ไก่ เป็นสัตว์ที่ควบคุมแมลงศัตรูพืชในระดับผิวดิน)

การปลูกผักในเมือง ต้องมีการเตรียมกล้าผักที่ดี เพื่อให้มีความแตกต่างของผักเมืองที่อาจต้นเล็กกว่าผักในแปลงใหญ่ที่วางขายในตลาด แต่จะมีรสชาติที่อร่อยกว่าผักตลาดทั่วไป

4. ลงมือวางแผนและออกแบบ

3) ความแตกต่างระหว่างเกษตรอินทรีย์และเกษตรกรรมยั่งยืน

แม้ส่วนใหญ่จะเห็นว่าการทำ permaculture จะต้องทำเกษตรในพื้นที่ขนาดเล็ก แต่มองว่าจะใช้ขนาดแปลงแบบไหนก็ได้ขึ้นอยู่กับการออกแบบ แต่มองว่าในอนาคตเกษตรแบบรายย่อยน่าจะเป็นทางรอดมากกว่าเกษตรขนาดใหญ่ เพราะขนาดใหญ่จะมีค่าใช้จ่ายแรงงานสูงกว่า เงินลงทุนจึงต้องเพิ่มขึ้น และจุดที่สำคัญของความต่างกันระหว่างสองแบบ คือ ฟาร์มเกษตรอินทรีย์ สามารถเข้าไปรบกวน แทรกแซงระบบของแปลงได้ แต่ในระบบเกษตรกรรมยั่งยืนหรือ permaculture จะไม่รบกวนหรือแทรกแซงระบบมากแต่จะปล่อยให้ระบบได้เกื้อกูลกันเอง