กิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา: คุยเรื่องสวนชีววิถี และวิธีกินให้เป็น

แมกไม้สีเขียวเริ่มหนาตาขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่เราขับรถไปตามเส้นทางคดเคี้ยวสายหนึ่งในจังหวัดนนทบุรี ไม่นาน กลุ่มอาคารสีน้ำตาลที่มีสระน้ำกว้างและแปลงผักนานาชนิดอยู่ตรงกลางก็ปรากฏตัวขึ้น ที่นี่คือ สวนชีววิถี (Growing Diversity Park) บ้านหลังใหม่ของมูลนิธิชีววิถีและมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืนที่เป็นมากกว่าแค่ออฟฟิศของเหล่านักขับเคลื่อนเรื่องอาหาร เราก้าวเข้าไปในสวน ก่อนจะนั่งลงสนทนากับกิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา รองผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี และผู้ประสานงานเครือข่าย ‘กินเปลี่ยนโลก’ ของมูลนิธิซึ่งหลายคนคงคุ้นชื่อ ชาหอมกรุ่นจากใบสะระแหน่ที่เพิ่งเก็บสดจากแปลงถูกเสิร์ฟให้ลองชิม ขณะบทสนทนาของเรากับกิ่งกรว่าด้วยบ้านหลังนี้ดำเนินไปอย่างออกรส

อาจกล่าวได้ว่า ที่มาของสวนชีววิถีเกิดจากความเข้าใจต้นตอปัญหาด้านการกินของคนเมือง องค์กรของเราอยากให้เกิดความมั่นคงทางอาหารที่หมายถึงทุกคนเข้าถึงอาหารที่ดีมีคุณภาพ แต่ประเทศไทยไม่ได้ผลิตอาหารแบบนั้น และทำลายระบบอาหารแบบนั้นไปเสียเยอะ ซึ่งถ้าคนเมืองตั้งคำถามว่าแล้วจะหาอาหารที่ดีต่อสุขภาพ อาหารที่ปลอดภัยได้จากที่ไหน เราบอกไม่ได้เพราะทุกคนก็ต้องหาของใกล้บ้าน ดังนั้น คุณต้องไปแหวกหาให้เจอ หมายถึงต้องเลือกเป็นแยกแยะเป็น มีความรู้เพียงพอจึงจะกำจัดความเสี่ยงออกไปได้บ้าง  แต่ขณะเดียวกัน เราก็พบว่าความรู้เกี่ยวกับอาหารของคนในเมืองค่อนข้างจำกัด นั่นคือเหตุผลที่เมื่อ 2 มูลนิธิย้ายบ้านหลังใหม่ จึงอยากให้สวนชีววิถีไม่ใช่แค่ที่ทำงาน แต่เป็นพื้นที่สื่อสารประเด็นที่ทำงานอยู่กับคนเมือง ผลลัพธ์ที่ออกมาจึงเป็นการส่งต่อ ‘ความรู้’ เรื่องอาหารผ่านการสร้างแปลงผักที่เปรียบเหมือนโมเดลสาธิตการทำเกษตรของจริง แล้วชวนคนเมืองมาเรียนรู้ผ่านการลงมือทำ

“บางทีการเห็นอะไรที่จับต้องได้ก็ดีกว่าไม่เห็นเลย เมื่อก่อนเวลามีคนถามเรื่องการปลูกผัก ความหลากหลายทางชีวภาพ การกินผักพื้นบ้าน เราต้องพาเขาไปดูที่อื่น ใกล้สุดคือที่อำเภอสนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา ตอนนี้ที่นี่ก็เหมือนโมเดลให้เขามาดูเป็นไอเดีย แล้วเราก็เชื่อว่าความรู้เกิดจากการปฏิบัติ เลยอยากชวนคนมาปฏิบัติ เราจัดเวิร์กช็อปค่อนข้างถี่ ตั้งแต่เวิร์กช็อปสอนให้รู้จักเมล็ดพันธุ์ สอนวิธีการปลูก ปรุงดิน จนถึงวิธีแปลงเศษอาหารในบ้านเป็นปุ๋ยที่ดี ซึ่งช่วยให้ไม่ต้องทิ้งอะไร สิ่งเหล่านี้จะทำให้คุณมองอาหารด้วยความเข้าใจมากขึ้น รู้จักอาหารที่กินมากขึ้น เพราะเราบอกไม่ได้ว่าซื้อสิ่งนี้ปลอดภัย 100% แต่ถ้าเข้าใจจะรู้ว่าพืชมีศัตรู เพราะฉะนั้นดินต้องดีจึงจะหลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีได้ หรือพืชมีฤดูกาล เพราะฉะนั้นไม่ควรกินถั่วในฤดูนี้นะ กระบวนการทำเครื่องปรุงส่วนหนึ่งเป็นอาชีพของชาวบ้าน เป็นความรู้ในการถนอมอาหาร แปรรูปอาหารที่เกิดขึ้นในท้องถิ่นและทุกวันนี้ก็ยังมีอยู่ในแต่ละท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นกะปิ ปลาร้า น้ำปลา น้ำตาล ซีอิ๊ว น้ำส้ม แต่เครื่องปรุงแบบนี้อยู่แต่ในพื้นที่เหล่านั้น ขณะที่คนเมืองไปซื้อเครื่องปรุงในห้างซึ่งปรุงรสตามเทคโนโลยีทางอาหาร เติมสารเข้าไปให้เครื่องปรุงไม่ขม ไม่ตกตะกอน ให้สีไม่ดำ ซึ่งมันจำเป็นหรือเปล่า เพราะที่จริงของธรรมชาติต้องเปลี่ยนสี เพราะเกิดกระบวนการออกซิเดชัน (oxidation) หรือของหมักมาต่อให้กรองหลายชั้น ยังไงก็มีตะกอน” ว่าแล้วกิ่งกรก็ลุกไปหยิบเต้าเจี้ยวของกินเปลี่ยนโลกกระปุกหนึ่งจากชั้นวางมา แล้วชี้จุดสีขาวในขวดให้เราดู