นนทบุรี, 20 ธันวาคม 2564 – การเข้าหารือของนาย ดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) พร้อมคณะ กับกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอ ว็อทช์) และองค์กรเครือข่ายภาคประชาสังคม #No CPTPP [1] ต่อกรณีการเข้าร่วมเป็นประเทศสมาชิกของความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ CPTPP ได้ข้อสรุปว่า จะยังไม่มีการนำ CPTPP เข้าให้คณะรัฐมนตรีเห็นชอบเพื่อยื่นเจตจำนงเข้าร่วมความตกลงนี้กับประเทศสมาชิกหากยังไม่มีการศึกษาข้อมูลอย่างรอบด้าน
เอฟทีเอ ว็อทช์ และเครือข่ายฯ เป็นตัวแทนของประชาชนกว่า 400,000 [2] คนที่ร่วมลงชื่อคัดค้านการที่ไทยจะเข้าร่วมความตกลง CPTPP ต้อนรับการเข้าพบหารือของดอน ปรมัตถ์วินัย และคณะ พูดคุยถึงข้อกังวลในผลกระทบที่รุนแรงและระยะยาวต่อประชาชน และนำเสนอให้กนศ.ยุติความพยายามที่จะนำเรื่องการเข้าร่วมความตกลง CPTPP ให้คณะรัฐมนตรีเห็นชอบ เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประเทศ
อย่างไรก็ตาม ดอน ปรมัตถ์วินัย ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศได้รับทราบถึงจุดยืนของภาคประชาสังคม และกล่าวว่า “เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่เกี่ยวข้องกับหลายภาคส่วนไม่ใช่รัฐบาลอย่างเดียว ข้อมูลที่กนศ.ให้มากับข้อมูลของ FTA Watch และองค์กรเครือข่ายภาคประชาสังคม #NoCPTPP นั้นแตกต่างกันมาก คนละมุมกันเลย วันนี้เราได้ทราบแล้ว เพราะอย่างนั้นอย่าเพิ่งเรียกร้องอะไร เดี๋ยวเราจะเอากลับไปคุยกัย กนศ. แล้วมาแก้ไข ไม่อยากให้การประชุมครั้งนี้เป็นเรื่องของการเรียกร้อง”
นอกจากนี้ ดอน ปรมัตถ์วินัย ยังได้รับปากกับกลุ่ม FTA Watch และเครือข่ายภาคประชาสังคมว่า จะยังไม่นำ CPTPP เข้าครม. จนกว่าจะมีการศึกษาที่ชัดเจนและครอบคลุมถึงผลกระทบทุกฝ่ายอย่างแท้จริงรอบด้านตามข้อกังวลของภาคประชาสังคม
ในการสัมภาษณ์เพิ่มเติมหลังการประชุมหารือ นิมิตร์ เทียนอุดม ตัวแทน FTA Watch ได้ย้ำถึงจุดยืน 4 ข้อของภาคประชาชนซึ่งได้รวมอยู่ใน ข้อเสนอแนะจากรายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ สภาผู้แทนราษฎร และข้อเสนอของสภาองค์กรของผู้บริโภค คือ
หนึ่ง การเข้าร่วมความตกลง CPTPP คือการยอมรับข้อตกลงที่เกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญาหลายฉบับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอนุสัญญาระหว่างประเทศเพื่อการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ หรือ UPOV 1991 ซึ่งเป็นอนุสัญญาที่เอื้อผลประโยชน์ให้กับอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร ซึ่งมีผลกระทบด้านลบต่อเกษตรกร ทั้งราคาเมล็ดพันธุ์ที่จะแพงขึ้น สิทธิเกษตรกรที่ถูกลิดรอน และการทำลายความหลายหลากทางชีวภาพ
สอง การเข้าร่วมความตกลง CPTPP จะทำให้ประเทศไทยต้องยอมรับการนำเข้าสินค้าที่ปรับสภาพเป็นของใหม่ โดยเฉพาะส่วนที่เป็นเครื่องมือทางการแพทย์ และขยะพลาสติกและอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจะยิ่งซ้ำเติมปัญหาสิ่งแวดล้อมและสุขภาพจากขยะอิเล็กทรอนิกส์และขยะสารพิษที่ประเทศไทยเผชิญอยู่ให้หนักหน่วงขึ้นไปอีก
สาม การเข้าร่วมความตกลง CPTPP จะเปิดโอกาสให้นักลงทุนต่างชาติที่เป็นเอกชนฟ้องร้องรัฐบาล ถ้ารัฐบาลออกหรือบังคับใช้กฎหมายหรือนโยบายใด ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อผลประกอบการของนักลงทุนต่างชาติ แม้ว่าจะเป็นไปเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของประชาชน โดยจะส่งผลให้รัฐบาลต้องระงับการออกหรือบังคับใช้กฎหมายเพื่อประโยชน์ของประชาชน และชดเชยค่าเสียหายจำนวนมหาศาลให้กับนักลงทุนต่างชาติที่เป็นเอกชน โดยใช้เงินภาษีของประชาชนจ่าย
และสุดท้าย ข้อบทในความตกลง CPTPP ที่เกี่ยวข้องกับระบบทรัพย์สินทางปัญญา จะก่อให้เกิดผลกระทบร้ายแรงต่อระบบสุขภาพและการสาธารณสุขของประเทศไทย เนื่องจากจะทำให้ยารักษาโรคแพงขึ้นอย่างมหาศาล จากงานวิจัยการประเมินผลกระทบของ CPTPP ชี้ให้เห็นว่า ประเทศไทยจะมีค่าใช้จ่ายด้านยาเพิ่มขึ้นเกือบ 400,000 ล้านบาท เพราะประเทศต้องพึ่งพายานำเข้าและมีสิทธิบัตรเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 71 ในปัจจุบัน เป็นร้อยละ 89 และอุตสาหกรรมผลิตยาในประเทศจะมีส่วนแบ่งตลาดลดลงมากกว่า 100,000 ล้านบาท แน่นอนว่านี่จะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงโดยตรงต่อระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่เป็นผลงานอวดชาวโลกของไทย
เอฟทีเอ ว็อทช์ และเครือข่ายฯ จะยังคงจับตามองการเคลื่อนไหวของคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) ในการพิจารณาศึกษาผลกระทบของ CPTPP อย่างใกล้ชิดต่อไป
หมายเหตุ
[1] เครือข่ายภาคประชาสังคม #NoCPTPP ประกอบด้วย
- FTA Watch
- มูลนิธิชีววิถี
- กรีนพีซ ประเทศไทย
- มูลนิธิเข้าถึงเอดส์
- เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย
- เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก 4 ภาค
- มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย)
- กลุ่มศึกษาปัญหายา
- ศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา
- มูลนิธิสาธารณสุขกับการพัฒนา
- มูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์
- มูลนิธิบูรณะนิเวศ
- มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
- มูลนิธิสุขภาพไทย
- เครือข่ายเฝ้าระวังธุรกิจสุรา
- เครือข่ายงดเหล้า
- TUNONICOTINE
- โครงการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะด้านทรัพยากรแร่
- กลุ่มนิเวศวัฒนธรรมศึกษา
- เครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่
- กลุ่มคนรักษ์บ้านเกิดบำเหน็จณรงค์ (คัดค้านเหมืองโปแตชและโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.ชัยภูมิ)
- กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้าน (คัดค้านเหมืองทองคำ ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย)
- กลุ่มรักษ์อำเภอวานรนิวาส (คัดค้านการขุดเจาะสำรวจแร่โปแตช อ.วานรนิวาส จ.สกลนคร)
- กลุ่มรักษ์น้ำซับคำป่าหลาย (คัดค้านการขอประทานบัตรทำเหมืองหินทราย ต.คำป่าหลาย อ.เมือง จ.มุกดาหาร)
- กลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได (คัดค้านการทำเหมืองหิน ต.ดงมะไฟ อ.สุวรรณคูหา จ.หนองบัวลำภู)
- กลุ่มรักษ์บ้านแหง (คัดค้านการขอประทานบัตรทำเหมืองถ่านหินลิกไนต์ ต.บ้านแหง อ.งาว จ.ลำปาง)
- กลุ่มรักษ์ลำคอหงษ์ (คัดค้านการขอประทานบัตรทำเหมืองโปแตช อ.โนนสูง จ.นครราชสีมา)
- กลุ่มคนเหล่าไฮงามไม่เอาเหมืองแร่ (คัดค้านการขอประทานบัตรทำเหมืองทรายแก้ว ต.เหล่าไฮงาม อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์)
- สมาคมพิทักษ์สิทธิชุมชนเขาคูหา (คัดค้านการทำเหมืองหินปูน ต.คูหาใต้ อ.รัตภูมิ จ.สงขลา)
- สมัชชาคนจน
- เครือข่าย People Go Network
- คณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (ครช.)
- มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW)
- เครือข่ายบริการเพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรม We Fair
- เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ (WWN)
[2] ประชาชนกว่า 400,000 คนร่วมลงชื่อคัดค้านผ่านช่องทางออนไลน์ของ Greenpeace Thailand’s petition และ Change.org/NoCPT