ข้อมูลทางพฤกษศาสตร์
ชื่อสามัญ : Noni, Indian mulberry
ชื่ออื่น ๆ : กะมูดู (มาเลย์-นราธิวาส); คูยู่ แยใหญ่ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน, ส่วย); เควาะ (กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี); เคาะขมิ้น มะตาเสือ สะกึย, สะเกย, หัสเกย (ภาคเหนือ); ตะเกรย (ราชบุรี); ตะลุมพุก (ขอนแก่น); ยอเถื่อน (ชุมพร); ยอป่า (ตรัง, สตูล, ภาคเหนือ)
วงศ์ : RUBIACEAE
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Morinda citrifolia L.
ชื่อพ้องวิทย์ : –
ลักษณะสำคัญ : ทรงพุ่มรูปกรวย เรือนยอดหนา หูใบรูปไข่ ยาว 0.5-1.5 ซม. ใบ 13-15×4-14 ซม. รูปรีหรือไข่ ปลายมน โคนแหลมหรือเรียวสอบ เส้นแขนงใบข้างละ 5-7 เส้น มักมีตุ่มใบเป็นขน ก้านใบยาว 0.5-3.5 ซม. ช่อดอก 0.5-1 ซม. ก้านช่อยาว 1-1.5 ซม. บางครั้งมีแผ่นคล้ายใบประดับสีขาว 1-3 ใบ รูปรี ยาว 0.5-1.5 ซม. ดอกรูปแตรแคบ ๆ หลอดกลีบดอกยาว 0.8-1.5 ซม. ด้านในมีขนหนาแน่น มี 5-6 กลีบ รูปใบหอกแกมรูปไข่ ยาว 2-6 มม. ก้านเกสรเพศเมียยาว 0.8-1 ซม. ช่อผล 2.5-5 ซม. แก่สีขาว รูปไข่หรือกลม ผลย่อยจำนวนมากเชื่อมติดกัน
ระบบนิเวศและการกระจาย : พบที่อินเดีย ศรีลังกา ไห่หนาน ไต้หวัน ญี่ปุ่น พม่า ภูมิภาคอินโดจีนและมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ นิวกินี ทางตอนบนของออสเตรเลีย และหมู่เกาะแปซิฟิก ในไทยพบทุกภาค
การเพาะปลูก : ปรับตัวให้เข้ากับภูมิอากาศเขตร้อนและกึ่งเขตร้อน เติบโตได้ดีที่สุดที่ 24-30 oC ทนได้ 12-36 oC ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยต่อปีในช่วง 1500-3000 มม. ทนได้ 700-4200 มม. ชอบดินระบายน้ำดี แดดจัดหรือร่มรำไร pH 5-6.5 ทนได้ 4.3-7 ทนแล้ง ทนลมแรง มีระบบรากแก้วลึก ออกดอกติดผลในปีที่ 3 มีอายุอย่างน้อย 25 ปี
การขยายพันธุ์ : หว่านเมล็ดในแปลงเพาะ จะงอกภายใน 3-9 สัปดาห์ ย้ายกล้าเมื่ออายุ 6 เดือน เมล็ดสามารถลอยน้ำทำให้กระจายพันธุ์ได้ไกลตามชายฝั่ง
ส่วนของพืชที่ใช้ประโยชน์ : ยอดอ่อน ใบเพสลาด ผล
แหล่งเก็บหา : ทั่วไป สวนหลังบ้าน สวนยกร่อง สวนสมรม
เมนูอาหารผักยืนต้น
ลูกยอห่ามๆ นำมาตำแบบส้มตำได้แต่รสจะเผ็ดร้อน ใบอ่อนกินเป็นผักมักจะนำมาแกงคั่ว แกงกระทิ หรือรองกระทงห่อหมก
ข้อมูลทางโภชนาการ
คุณค่าทางโภชนาการใบยอและลูกยอ ต่อ 100 กรัม
ใบยอ
คาร์โบไฮเดรต : 11.1 กรัม
โปรตีน 3.8 กรัม
ไขมัน 0.8 กรัม
เยื่อไยอาหาร 1.9 กรัม
แคลเซียม 350 มิลลิกรัม
ฟอสฟอรัส 86 มิลลิกรัม
เหล็ก 4.9 มิลลิกรัม
วิตามินเอ 9,164 หน่วยสากล
วิตามินบี1 0.3 มิลลิกรัม
วิตามินบี2 0.14มิลลิกรัม
วิตามินซี 78 มิลลิกรัม
ผลดิบของยอ
คาร์โบไฮเดรต 7.5 กรัม
โปรตีน 0.5 กรัม
เยื่อไยอาหาร 1.1 กรัม
แคลเซียม 39 มิลลิกรัม
ฟอสฟอรัส 17 มิลลิกรัม
เหล็ก 0.4 มิลลิกรัม
วิตามินบี1 0.06 มิลลิกรัม
วิตามินบี2 0.04มิลลิกรัม
วิตามินซี 208 มิลลิกรัม
อ้างอิง สุภาภรณ์ ปิติพร,2545.มากคุณค่าน้ำลูกยอ
สรรพคุณทางยา
ใบ : รสขมเฝื่อน คั้นเอาน้ำสระผมฆ่าเหา ทาแก้ปวดข้อนิ้วมือนิ้วเท้า ใบสดย่างไฟหรือปรุงยาประคบ แก้ปวดบวมอักเสบ แก้โรคเกาต์ ต้มดื่มแก้ไข้ บำรุงธาตุ
ดอกและต้น : รสเฝื่อน ปรุงยาแก้วัณโรค
ลูกดิบ : รสร้อนปร่า ต้มดื่ม แก้คลื่นเหียนอาเจียน เผาเป็นถ่านผสมเกลือเล็กน้อย อมแก้เหงือกเปื่อยเป็นขุนบวม ต้มดื่มขับโลหิตระดู ขับเลือดลม ขับลมในลำไส้ ขับผายลม หั่นปิ้งไฟพอเหลืองทำกระสายยา
ราก : รสเฝื่อน ระบายท้อง
การใช้ประโยชน์อื่นๆ
- เปลือกของรากให้สีย้อมสีแดง ในชวานิยมปลูกเป็นสวน นำไปย้อมผ้าบาติก อัตราผลตอบแทนของเปลือกไม้ที่ 500-1000 kg/เฮกแตร์
- ผลสามารถใช้สระผม ทำความสะอาดเหล็ก