ข้อมูลทางพฤกษศาสตร์
ชื่อสามัญ : Bael fruit tree, Bengal quince, Wood apple
ชื่ออื่น ๆ : กะทันตาเถร ตุ่มตัง ตูม (Pattani) พะโนงค์ (Khmer) มะปิน (Northern) มะปีส่า (Karen-Mae Hong Son)
วงศ์ : RUTACEAE
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Aegle marmelos (L.) Corrêa ex Roxb.
ชื่อพ้องวิทย์ : –
ลักษณะสำคัญ : เป็นไม้โตช้า กิ่งก้านเรียวเล็กและห้อยลง เปลือกต้นสีน้ำตาลอ่อนหรือเทา ผิวเรียบหรือมีร่องเล็กตามยาว หลุดลอกได้ มีหนามแหลม ยาว 1.2-2.5 ซม. หนามคู่หรือเดี่ยว ถ้าเกิดแผลจะมีน้ำยางเมือกๆ ใบเรียงสลับ เป็นใบประกอบ 3 ใบ มีก้านใบยาว 3-5 ซม. ใบย่อยมีลักษณะรูปไข่หรือหอก ใบย่อยตรงกลางมีขนาดใหญ่สุด 5-14 x 2-6 ซม. ขอบใบเรียบหรือมีหยักมนๆ ปลายใบแหลม แผ่นใบเรียบ แผ่นใบด้านบนมีสีเขียว ค่อนข้างเป็นมัน แผ่นใบด้านล่างมีสีจางกว่า หากนำใบส่องใต้แดดจะมองเห็นมีต่อมน้ำมันเป็นจุด ๆ ดอก 1.5-2 ซม. สีเขียวอ่อนหรือเหลือง กลิ่นหอม กลีบเลี้ยงแบน 4(5) พู กลีบดอก 0.6-0.8 ซม. เกสรตัวผู้มากมาย ดอกมักออกพร้อมกับใบอ่อน ดอกแทงออกเป็นช่อตามซอกใบบริเวณปลายกิ่ง ออกดอกเพียงครั้งเดียวใน 1 ปี ผล 5-12 ซม. กลมหรือมนรี ผิวเรียบ เป็นมัน เปลือกหนาและแข็งมาก ผลอ่อนสีเขียว เมื่อสุกมีสีเหลือง ส่งกลิ่นหอม เนื้อในมีสีเหลืองหรือส้มอมเหลือง มี 8-15 ช่อง แต่ละช่องมี 6-10 เมล็ด เรียงเป็นวงกลมรอบแกนผล เมล็ดรูปขอบขนาน มีขนหนาแน่นปกคลุม
ระบบนิเวศและการกระจาย : พบที่อินเดีย เนปาล พม่า หมู่เกาะอันดามันและนิโคบาร์ ในไทยพบได้ทุกภาค ชายป่าดิบแล้ง ป่าเบญจพรรณและวัด ความสูงถึง 1200 เมตร
การเพาะปลูก : สามารถปลูกได้ในเขตร้อนและกึ่งร้อน ทนต่อสภาวะที่รุนแรง อุณหภูมิเฉลี่ยต่อปีสามารถอยู่ในช่วง -6 -48 oC ชอบดินอุดมสมบูรณ์และระบายน้ำดี มันยังเติบโตได้ในพรุ ดินเป็นด่างจัดหรือบนหิน pH 5-8 ทนแล้งได้ดี ต้นกล้าเริ่มให้ผลเมื่อปลูกไป 6-7 ปี การขยายพันธุ์หลังจากต้นอายุ 5 ปี และให้ผลผลิตสูงสุดที่อายุ 15 ปี อาจให้ผลผลิตมากถึง 800 ผลต่อฤดูกาล เฉลี่ย 150-200 ผล ผลสุกในฤดูแล้งเมื่อใบร่วงหมดและมีการออกดอกในฤดูกาลถัดไป พืชตอบสนองได้ดีต่อการตัดแต่งกิ่ง
การขยายพันธุ์ : มีหลายวิธี เพาะเมล็ดเป็นวิธีง่ายที่สุด ต้นกล้าแสดงรูปแบบที่มีความแตกต่างกัน ขนาด ผิวเปลือกต้น ปริมาณและคุณภาพของเนื้อใน และจำนวนเมล็ด หรือชำราก และติดตา
ส่วนของพืชที่ใช้ประโยชน์ : ยอดอ่อน ดอกและผลสุก
แหล่งเก็บหา : วัด ชายป่า สวนยกร่อง สวนสมรม
ความเป็นพิษ : กล่าวกันว่าใบอาจเป็นสาเหตุทำให้แท้งและเป็นหมันในสตรี เปลือกใช้เป็นยาเบื่อปลา
หมายเหตุ : เป็นต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ในวัฒนธรรมความเชื่อของชาวฮินดู ใบเป็นสิ่งที่ใช้ทำความเคารพรูปพระศิวะ พบปลูกมากทางปากีสถาน และอินเดีย ในไทยมักปลูกในพื้นที่ของวัด ซึ่งผลสุกใช้ทำเครื่องดื่มสำหรับพระ
มะตูมแบ่งได้ 3 ชนิดตามแนวสมุนไพร คือ
1.มะตูมไข่ ผลกลม คล้ายลูกมะขวิด เปลือกบาง
2.มะตูมบ้าน ผลกลมยาว เปลือกหนา เมื่อแก่จะแข็งเป็นกะลา นิยมนำมาใช้ปรุงยา
3.มะตูมนิ่ม ผลกลมยาว เปลือกนิ่ม พบที่ราชบุรี และทางเหนือ
เมนูอาหารผักยืนต้น
ข้อมูลทางโภชนาการ
สรรพคุณทางยา
ใบสด : รสฝาดปร่าซ่าขื่นมัน คั้นเอาน้ำดื่ม แก้หวัด แก้หลอดลมอักเสบ แก้บวม แก้เยื่อตาอักเสบ
ผลอ่อน : รสฝาดร้อนปร่าขื่น หั่นผึ่งให้แห้ง บดเป็นผงหรือต้มกินแก้ธาตุพิการ แก้ท้องเสีย แก้บิด แก้โรคกระเพาะอาหาร เจริญอาหาร ขับผายลม บำรุงกำลัง
ผลแก่ : รสฝาดหวาน ทุบให้แตก ต้มใส่น้ำตาลทรายแดง เรียกว่า น้ำอัฐบาล ดื่มแก้เสมหะและลม บำรุงไฟธาตุ ช่วยย่อยอาหาร
ผลสุก : รสหวานเย็น ต้มดื่มหรือเอาเนื้อรับประทาน แก้ลมเสียดแทงในท้อง แก้มูกเลือด บำรุงไฟธาตุ ช่วยย่อยอาหาร
เปลือก : รากและลำต้น รสฝาดปร่าซ่าขื่น แก้ไข้จับสั่น ขับลมในลำไส้
ราก : รสฝาดปร่าซ่าขื่นเล็กน้อย แก้พิษฝี พิษไข้ แก้สติเผลอ รักษาน้ำดี ขับลมให้เรอ
ทั้งห้า : รสฝาดปร่าซ่าขื่น แก้ปวดศรีษะ ตาลาย เจริญอาหาร ลดความดันโลหิตสูง
ผลมะตูมนิ่ม : รสฝาดหวาน เป็นยาอายุวัฒนะ ขับผายลม เจริญอาหาร บำรุงกำลัง
การใช้ประโยชน์อื่นๆ
- แปรรูปเป็นมะตูมเชื่อม ควรมีอายุผลตั้งแต่ 4-7 เดือน และต้องเป็นผลดิบ หากผลมีอายุมากจะทำให้เนื้อเหลว ไม่สามารถเชื่อมเป็นแผ่นในรูปเดิมได้
- บางครั้งปลูกเป็นแนวรั้วหนาม เป็นกำแพงที่มีประสิทธิภาพมาก
- ลำต้นใช้เป็นตะเกียบ
- เปลือกของผลสุกใช้ฟอกย้อม ให้สีเหลืองสำหรับผ้าดิบและผ้าไหม
- น้ำมันหอมระเหยได้จากเปลือกผลอุดมด้วย limonene oil ใช้ทำน้ำหอม น้ำมันแต่งผมและสบู่ ที่ได้จากใบ ประกอบด้วย d-limonene, 56% a-d-phellandrene, cineol, citronellal, citral; 17% p-cyrnene, 5% cumin aldehyde
- สารสกัดจากใบพบว่ามีฤทธิ์ฆ่าเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลซึ่งเป็นศัตรูพืชข้าวที่สำคัญ
- เปลือกผลแห้งใช้เป็นถ้วย ภาชนะขนาดเล็ก หรือตกแต่งให้สวยงามเป็นกล่องใส่ยา
- ยางหรือยางไม้ที่หุ้มเมล็ดนั้นมีมากในผลที่ยังไม่สุก นำมาใช้เป็นกาวโดยเฉพาะนักอัญมณี บางครั้งนำมาใช้แทนสบู่ เนื้อในผลมีสารที่มีลักษณะซํกล้างจึงนำมาใช้ซักผ้า
- ไม้สีเทาขาวมีกลิ่นหอมมากเมื่อตัดใหม่ ผิวละเอียดแข็ง แต่ไม่ทน ทำงานง่าย มักใช้ในงานแกะสลัก และทำวัตถุขนาดเล็ก เช่น ด้ามมีด สาก หวี และเป็นไม้เชื้อเพลิง