คนทิสอทะเล

ข้อมูลทางพฤกษศาสตร์

ชื่อสามัญ : Beach Vitex, Round-leaf Vitex

ชื่ออื่น ๆ : กูนิง (มาเลย์-นราธิวาส); คนทิ (ประจวบคีรีขันธ์); คนทิสอทะเล (เพชรบุรี, ประจวบคีรีขันธ์)

วงศ์ : LAMIACEAE

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Vitex trifolia L. subsp. litoralis Steenis

ชื่อพ้องวิทย์ : Vitex rotundifolia L. f.

ลักษณะสำคัญ : ไม้พุ่มทอดนอนแผ่กว้าง มีรากตามข้อ ใบประกอบส่วนมากมีใบเดียว พบน้อยที่มีใบย่อย 2-3 ใบ รูปไข่กว้าง กลม หรือไข่กลับ ยาว 2.5-5 ซม. แผ่นใบมีขนสั้นนุ่ม ก้านใบสั้นหรือไร้ก้าน ดอกออกที่ปลายกิ่งเป็นช่อ ยาวได้ถึง 10 ซม. กลีบเลี้ยงและกลีบดอกด้านนอกมีขนและต่อมกระจาย กลีบเลี้ยงรูปสามเหลี่ยม ยาว 4-5 มม. ขยายในผลเล็กน้อย ดอกสีม่วง หลอดกลีบดอกส่วนเลยกลีบเลี้ยงยาว 6-7 มม. กลีบบน 2 กลีบ กลีบล่าง 3 กลีบ รูปรีกว้าง ยาว 3-4 มม. กลีบกลางยาว 6-8 มม. มีขนอุยด้านใน เกสรเพศผู้ยื่นพ้นปากหลอดกลีบดอก ผล 5-6 มม. กลม

ระบบนิเวศและการกระจาย : แพร่กระจายตามชายฝั่งทะเลจากแอฟริกา ผ่านเอเชียจนถึง ออสเตรเลียตอนเหนือ และหมู่เกาะแปซิฟิก ขึ้นตามเนินทรายชายฝั่ง ป่าชายหาด ป่าชายเลน จนถึงในป่าสัก ป่ารุ่นสอง ที่ระดับความสูงถึง 1100 เมตร

การเพาะปลูก : บางแห่งนับเป็นวัชพืช เป็นพืชที่ชอบแดดจัด ดินปนทราย ระบายน้ำดี ทนความเค็มสูงทั้งในอากาศและในดิน รวมทั้งทนแล้งดีมาก ออกดอกได้ตลอดทั้งปี

การขยายพันธุ์ : เมล็ด

ส่วนของพืชที่ใช้ประโยชน์ : ยอดอ่อน นำมาทำชาสมุนไพร

แหล่งเก็บหา : ป่าชายเลน ป่าชายหาด

ความเป็นพิษ : พืชชนิดนี้สามารถกระตุ้นปฏิกิริยาการแพ้ต่าง ๆ เช่น จาม ปัญหาระบบทางเดินหายใจ เวียนศรีษะ ปวดศรีษะและคลื่นไส้

หมายเหตุ : คนทิสอทะเล ช่อดอกออกที่ปลายกิ่ง ใบส่วนมากมีใบเดียว ผลกลม กลีบเลี้ยงติดทน คล้ายกับคนทิสอ Vitex trifolia L. subsp. Trifolia หรือBlue Vitex, Indian three-leaf Vitex เป็นไม้พุ่มสูง ใบประกอบมี 3 ใบย่อย ใบขนาดใหญ่และเรียวแคบกว่า

เมนูอาหารผักยืนต้น

ข้อมูลทางโภชนาการ

สรรพคุณทางยา

ทั้งต้น รสเผ็ดร้อน แก้พยาธิ แก้ฟกบวม แก้เสมหะ แก้ลม แก้ริดสีดวงคอ

การใช้ประโยชน์อื่นๆ

  • ปลูกเป็นไม้ประดับกันอย่างแพร่หลาย
  • ปลูกเป็นแนวรั้วเพื่อป้องกันการพังทลายของเนินทราย และช่วยปกคลุมดินได้ดี
  • ใบประกอบด้วยน้ำมันหอมระเหย 0.11-0.28% และเรซิน องค์ประกอบหลักของน้ำมันคือ l-d pinene และ camphene ซึ่งมี น้ำมัน 55% terpinyl acetate 10% และ diterpene alcohol อีก 20 %
  • ดอกไม้และเมล็ดนำมาใช้ทำมาลัย
  • ใบไม้เผาเป็นยาไล่แมลง และยุง น้ำมันจากใบมีฤทธิ์ขับไล่ยุงได้ดี พืชมีศักยภาพในการเป็นสารกำจัดศัตรูพืช
  • เป็นไม้เชื้อเพลิง