มะรุมที่สวนชีววิถี สูงใหญ่จนถึงชั้นสองของอาคาร

ข้อมูลทางพฤกษศาสตร์

ชื่อสามัญ : Moringa , Drumstick tree, Horseradish tree

ชื่ออื่นๆ : บะค้อนก้อม (ภาคเหนือ) ; ผักอีฮุม บักฮุ้ม (ภาคอีสาน) ; กาแน้งเดิง (กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี); ผักเนื้อไก่ (เงี้ยว-แม่ฮ่องสอน); ผักอีฮึม, ผักอีฮุม, มะค้อนก้อม (ภาคเหนือ); มะรุม (ภาคกลาง, ภาคใต้); เส่ช่อยะ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน)

วงศ์ : วงศ์ MORINGACEAE

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Moringa oleifera Lam.

ชื่อพ้องวิทย์ : Guilandina moringa L., Hyperanthera moringa (L.) Vahl, Moringa zeylanica Burmann)

ลักษณะสำคัญ : ไม้โตเร็ว เรือนยอดโปร่ง บาง ใบประกอบ 3 ชั้น เรียงเวียน ยาวได้ถึง 60 ซม. มีต่อมที่โคนก้านใบและแผ่นใบ ต่อมมีก้าน ใบย่อยมี 4-6 คู่ รูปรีหรือรูปไข่ ยาว 1-2 ซม. ใบอ่อนมีขนประปราย ปลายกลมหรือเว้าตื้น โคนกลมหรือรูปลิ่ม ก้านใบสั้น ช่อดอกแยกแขนง ออกตามซอกใบ ยาวได้ถึง 30 ซม. ใบประดับขนาดเล็ก ก้านดอกเทียมยาว 0.7-1.5 ซม. ก้านดอกสั้น กลีบเลี้ยง 5 กลีบ รูปใบหอกขนาดเล็ก พับงอกลับ ดอกสีครีมคล้ายรูปดอกถั่ว มี 5 กลีบ รูปใบพาย ยาว 1-2 ซม. กลีบหลังตั้งขึ้น 4 กลีบล่างพับงอกลับ ผลแห้งแตก มี 3 ซีก รูปทรงกระบอกเป็นสัน ยาวได้ถึง 50 ซม. เมล็ด 0.8-1.5 ซม.กลมแกมรูปสามเหลี่ยม มีปีกบาง กว้าง 0.5-1 ซม.

ระบบนิเวศและการกระจาย : มีถิ่นกำเนิดในอินเดีย และปากีสถาน ปลูกทั่วไปในเอเชียเขตร้อน

การเพาะปลูก : เติบโตได้ดีที่สุดที่อุณหภูมิกลางวันแต่ละปีอยู่ในช่วง 20-35 oC ทนได้ 7-48 oC ทนต่อความหนาวเย็น สามารถฟื้นคืนได้หลังจากถูกแช่แข็ง ชอบปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยต่อปี 700-2200 มม. ทนได้ 400-2600 มม. ปลูกได้ง่ายในดินหลายชนิดที่ระบายน้ำดี แสงแดดจัด ไม่ทนต่อความเค็ม อดทนเป็นพิเศษต่อดินตื้นและทนต่อความสมบูรณ์ต่ำ ชอบ pH ช่วง 5.5-7 ทนได้ 5-8.5 ให้ผลผลิตมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำ เติบโตได้ดีในที่กำบังลม ภายใน 1-3 เดือน สามารถสูงถึง 2.5 เมตร ออกดอกหลังปลูก 2 ปีแรก หากปักชำอาจให้ผลผลิตเร็วกว่านั้น 6-12 เดือน การออกดอกมักเกิดขึ้นพร้อมกับการแตกยอดใหม่ ดอกมีกลิ่นหอมหวาน ช่วยเรียกผึ้งและกลุ่มนกกินปลีมาผสมเกสร แนะนำให้ตัดแต่งอย่างต่อเนื่อง สูง 1.5 เมตรต่อปี

การขยายพันธุ์ : ทั้งแบบอาศัยเพศ เพาะเมล็ด หว่านได้ทันทีทั้งในแปลงเพาะหรือแปลงปลูก ไม่ต้องเตรียมเมล็ด งอกภายใน 1-2 สัปดาห์ ภายใน 3เดือนพร้อมย้ายปลูกลงแปลง อัตราการงอกของเมล็ดสดอยู่ที่ประมาณ 80 % ลดลงเหลือประมาณ 50% หลังเก็บไว้ 1 ปี เมล็ดมีชีวิตอยู่ได้ 2 ปี และแบบไม่อาศัยเพศ การต่อกิ่ง การปักชำ สามารถชำกิ่งขนาดใหญ่ ยาว 1-1.5 เมตร เส้นผ่านศูนย์กลางไม่เกิน 4 ซม. ทำเป็นรั้วกั้นที่มีชีวิตได้ทันที และการติดตา

ส่วนของพืชที่ใช้ประโยชน์ : ยอดอ่อน ใบอ่อน ดอกและฝักอ่อนใช้ปรุงอาหาร เมล็ดจากฝักแก่ใช้ยาสมุนไพร น้ำมันจากการหีบเมล็ด นำมาใส่ในสลัด

แหล่งเก็บหา : ทั่วไป ริมถนนข้างทาง สวนหน้าบ้าน สวนผลไม้ สวนยกร่อง

เมนูอาหารผักยืนต้น

แม้จะเป็นพืชยืนต้นที่คนรู้จักกันมานาน แต่สำหรับมะรุมของครัวไทยโบราณก็ดูเหมือนจะมีแต่เอาฝักแก่มาแกงส้มหรือต้มขูดเอาเนื้อฝักกินเป็นน้ำพริกเพียงเท่านั้น จนกระทั่งเมื่อราวสิบกว่าปีที่แล้ว ที่มีการเผยแพร่สรรรพคุณด้านการเป็นแหล่งโปรตีนและวิตามินเอที่สำคัญของมะรุมตลอดจนการออกฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระจากสารที่มีในใบและเมล็ดแก่ จึงทำให้ราคามะรุมถืบตัวสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์

นอกจากฝักแก่ซึ่งให้รสชาติหวานเฉพาะตัวเมื่อสุกในน้ำแกงส้มแล้ว ฝักอ่อนกินดิบและลวกสุกได้อร่อยเหมือนฝักแคหรือถั่วฝักยาว ดอกมะรุมก็กินกับผักลวกหรือใส่แกงส้มได้รสชาติดี ยอดและใบอ่อนมะรุมทั้งกินสดและลวก แกงจืดแกงส้มได้อร่อย ในแอฟริกานิยมตากแห้ง บดเป็นผงสีเขียวโรยอาหารได้ทุกชนิด เป็นแหล่งวิตามินเอที่สำคัญมาก

เมล็ดแก่ถ้ากะเทาะเปลือกบางๆ สีน้ำตาลออก ก็เป็นลูกอมรสหวานชุ่มคอของคนโบราณ หรือใส่ในต้อมเปอะแกงอ่อมบางชนิดได้รสหวานลึกๆ ทำนองเดียวกันกับใส่ใบหม่อน ดังนั้นจึ้งใช้เป็นเครื่องปรุงรสหวานกลมกล่อมได้ดี ถ้าควบคุมปริมาณให้เหมาะสม ไม่ใส่มากเกินไป

จาก หนังสือผักยืนต้น กินผักอายุยืน โลกอายุยาว โดย กฤช เหลือลมัย

ข้อมูลทางโภชนาการ

ใบมะรุมสดต่อ 100 กรัม
พลังงาน 37 กิโลแคลอรี่
คาร์โบไฮเดรต 8.53 กรัม
ใยอาหาร 3.2 กรัม
ไขมัน 0.20 กรัม
โปรตีน 2.10 กรัม
น้ำ 88.20 กรัม
วิตามินเอ 4 ไมโครกรัม 1%
วิตามินบี 1 0.0530 มิลลิกรัม 5%
วิตามินบี 2 0.074 มิลลิกรัม. 6%
วิตามินบี 3 0.620 มิลลิกรัม 4%
วิตามินบี 5 0.794 มิลลิกรัม 16%
วิตามินบี 6 0.120 มิลลิกรัม 9%
วิตามินบี 9 44 ไมโครกรัม 11%
วิตามินซี 141.0 มิลลิกรัม 170%
ธาตุแคลเซียม 30 มิลลิกรัม 3%
ธาตุเหล็ก 0.36 มิลลิกรัม 3%
ธาตุแมกนีเซียม 45 มิลลิกรัม 13%
ธาตุแมงกานีส 0.259 มิลลิกรัม 12%
ธาตุฟอสฟอรัส 50 มิลลิกรัม 7%
ธาตุโพแทสเซียม 461 มิลลิกรัม 10%
ธาตุโซเดียม 42 มิลลิกรัม 3%
ธาตุสังกะสี 0.45 มิลลิกรัม 5%

% ร้อยละของปริมาณแนะนำที่ร่างกายต้องการในแต่ละวันสำหรับผู้ใหญ่

ข้อมูลจาก : USDA Nutrient database

สรรพคุณทางยา

ใบ : รสเฝื่อน รักษาโรคเลือดออกตามไรฟัน ตำพอกรักษาบาดแผล

ดอก: รสจืด ขับปัสสาวะ บำรุงกำลัง

ฝัก : รสหวานเย็น ดับพิษร้อน ถอนพิษไข้ แก้ปัสสาวะพิการ

เมล็ด : รสจืดมัน แก้ไข้ ตำพอกแก้ปวดตามข้อ แก้บวม

เปลือกต้น : รสร้อนเฝื่อน ขับลมในลำไส้ ทำให้ผายเรอ แก้ลมขึ้นเบื้องสูง คุมธาตุอ่อนๆ แก้ฝี แก้พยาธิ เป็นยาอายุวัฒนะ ต้มเป็นกระสายยาแก้หอบหืด โบราณว่า เปลือกสดตำอมไว้ข้างแก้ม ดื่มสุราไม่เมา แต่ถ้าดื่มมากๆก็ไม่แน่นัก

กระพี้ : รสร้อนเฝื่อน แก้ไข้สันนิบาตเพื่อลม

ราก : รสเผ็ดหวานขม กระตุ้นหัวใจ บำรุงหัวใจ แก้บวม บำรุงไฟธาตุ มีคุณเสมอกุ่มบก

การใช้ประโยชน์อื่นๆ

  • น้ำมันจากเมล็ดจากฝักที่แก่แล้ว เรียกว่า oil of ben มีสีเหลือง คุณสมบัติไม่ทำให้แห้ง ไม่เหม็นหืน ใช้จุดไฟตะเกียง ใช้ในอุตสาหกรรมความงามและน้ำหอม ในอดีตเคยใช้เป็นน้ำมันหล่อลื่นในนาฬิกาและเครื่องจักร และเมล็ดมีสรรพคุณเป็นยาปฏิชีวนะ
  • ช่วยป้องกันลม บังแดดและช่วยพยุงต้นไม้ในสวน ใช้ทำรั้วมีชีวิต และเป็นชนิดพันธุ์บุกเบิกที่ดีมากในการสร้างสวนป่า สามารถให้อาหารได้ภายใน 2-3 เดือน
  • เมล็ดบดผงใช้แยกน้ำอ้อย เป็นสารช่วยตกตะกอน มันสามารถทำหน้าที่คล้ายกับสารส้ม ที่ใช้แกว่งในน้ำให้ใสขึ้น ทำให้ตะกอนนอนก้นเร็วขึ้น กากจากเมล็ดที่เหลือจากการสกัดน้ำมันยังสามารถนำไปใช้ทำน้ำให้บริสุทธิ์ เมล็ดประกอบด้วยโปรตีน ประจุบวก polyelectrolyte) ทำหน้าที่เป็นตัวตกตะกอน
  • เปลือกไม้เมื่อถูกตีจะผลิตเส้นใยใช้ทำเชือกและเสื่อเล็ก ๆ เปลือกยังใช้สำหรับฟอกหนัง ให้สีย้อมสีน้ำเงิน
  • ใบที่บดแล้วใช้ล้างหม้อ กระทะและกำแพง
  • กากจากเมล็ดที่สกัดน้ำมันออกแล้วนำไปทำปุ๋ยบำรุงดิน
  • เนื้อไม้มีความนุ่มมาก เบา ใช้เป็นเยื่อกระดาษ กระดาษแก้ว เป็นไม้ฟืนได้แต่ทำถ่านไม่ดี มีความหนาแน่น 0.5-0.7 ให้พลังงาน 4600 kcal/kg