ข้อมูลทางพฤกษศาสตร์
ชื่อสามัญ : Bilimbi, Bilimbing, Cucumber tree, Tree sorrel
ชื่ออื่นๆ : มูงมัง (เกาะสมุย), กะลิงปริง ลิงปลิง ลิงปลิง ปลีมิง (ระนอง), บลีมิง (นราธิวาส), มะเฟืองตรน, หลิงปลิง (ภาคใต้)
วงศ์ : วงศ์กระทืบยอด (OXALIDACEAE)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Averrhoa bilimbi L.
ชื่อพ้องวิทย์ : –
ลักษณะสำคัญ : ไม้โตช้า ทรงพุ่มกระจัดกระจาย ใบประกอบ แบบขนนก มีขนนุ่มปกคลุม ออกดอกเป็นช่อตามลำต้นและกิ่งก้าน สีม่วงแดง กลีบดอก 5 กลีบ มีกลิ่นหอม ผลสดฉํ่านํ้า รูปไข่ ขนาดกว้าง 1.5-2 ซม. ยาว 4-8 ซม. สีเขียว ผลสุกสีเหลือง
ระบบนิเวศและการกระจาย : ถิ่นกำเนิดหมู่เกาะโมลุกกะในอินโดนีเซีย มักขึ้นป่าที่ราบลุ่มต่ำ ริมน้ำ ประเทศไทยนำเข้าไม้ผลสกุลนี้มา 2 ชนิดและเป็นที่นิยมรับประทานมาก คือตะลิงปลิง และมะเฟือง
การเพาะปลูก : พืชในที่ราบลุ่มเขตร้อนชื้น เติบโตได้ดีที่อุณหภูมิตอนกลางวันช่วง 23-30 oC แต่ทนได้ถึง 10-36 oC ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยต่อปี 1200-2300 มม. ทนได้ 700-4000 มม. ทนต่อความแห้งแล้ง นาน 2-3 เดือน ชอบแดดจัด โตช้าในที่ร่มรำไร ขึ้นได้ในดินทุกชนิดหากมีการระบายน้ำดี ดีที่สุดเป็นดินร่วนลึก ดินร่วนปนทรายหรือดินเหนียวที่มีอินทรียวัตถุมาก โตได้ดีในที่มีต้นไม้บังลม pH 5.5-6.5 ทนได้ 5-8.3 ให้ผลหลังปลูก 5-6 ปี สามารถทาบกิ่งได้เมื่อต้นอายุ 2-3 ปี ให้ผลผลิตมากถึง 50-150 กิโลกรัมต่อต้น
การขยายพันธุ์ : เมล็ด ตอนกิ่ง มักออกรากช้า การติดตาและทาบกิ่ง นิยมมากในฟิลิปปินส์เหมาะกับการทำสวนเชิงการค้า หรือตัดชำรากแยกต้น
ส่วนของพืชที่ใช้ประโยชน์ : ดอก ผลสุกมีรสเปรี้ยว ทำยำ ส้มตำ หรือจิ้มกับน้ำพริกเกลือ
แหล่งเก็บหา : สวนข้างบ้าน สวนสมรม สวนยกร่อง สวนผลไม้
เมนูอาหารผักยืนต้น
คนที่เคยกินหรือชอบการกินมะเฟืองจะรู้ัสึกว่าตะลิงปลิงดิบคล้ายมะเฟืองดิบ ทั้งเนื้อ ความฉ่ำน้ำและรสชาติ ดังนั้นจึงใช้แทนกันได้ทั้งในยำ แกงส้ม โรยหน้า ผัดไทย ทำน้ำผลไม้ หรือที่นิยมกันในหลายแห่ง ก็คือตำน้ำพริก โดยใช้เนื้อลูกดิบแทนความเปรี้ยวจากส้มอื่นๆ
ลูกดิบนอกจากใส่ในแกงกะทิมันๆ ได้ดี ยังใส่ต้มยำน้ำใสๆ เช่น ต้มไก่ ต้มปลาได้ความเปรี้ยวที่ไม่จัดนัก แต่มีรสความนุ่มนวลปนต่างส้มอื่นๆ
นอกจากการปรุงอาหารคาว บางแห่งนิยมแช่อิ่มลูกดิบกินเป็นของหวานด้วย ส่วนดอกตะลิงปลิงตากแห้งชงเป็นชาดื่มร้อนๆ ช่วยบรรเทาอาการไอ
แกงเป็ดย่าง ตะลิงปลิง
ลูกตะลิงปลิงอ่อนรสเปรี้ยวจัด กับข้าวสมัยก่อนมีที่ใช้เพื่อตัดรสมันของไขมันสัตว์และกะทิในบางสำรับ เช่นแกงกะทิตะพาบน้ำ แกงเผ็ดเป็ดย่าง รสชาติเมื่อปรุงแล้วคล้ายมะเฟืองดิบ แต่ความที่ลูกเล็กกว่าจึงคงรูปอยู่ได้ดีกว่า คุณสมบัติสำคัญของตะลิงปลิงคือจะไม่คายความเปรี้ยวออกมาจนหมด กับข้าวที่เข้าตะลิงปลิงจึงจะไม่เปรี้ยวมากจนกินไม่ได้
หากต้องการรสเปรี้ยวจัดก็ต้องเคี้ยวเนื้อตะลิงปลิงกินไปด้วย
เครื่องปรุง
น้ำพริกแกงเผ็ด เป็ดย่างพอผิวเกรียมแห้ง ปลาสีเสียดเค็มหั่นชิ้นเล็ก กะทิสด ลูกตะลิงปลิง น้ำปลา น้ำตาลปี๊บ ใบมะกรูด
วิธีปรุง
หั่นเป็ดย่างเป็นชิ้นค่อนข้างหนา เอาลงเคี่ยวไฟอ่อนในหม้อหางกะทิสักครู่ ผัดน้ำพริกแกงเผ็ดในกระทะหัวกะทิที่เคี่ยวไว้จนแตกมัน พอหอมดีจึงตักเป็ดลงผัดคั่วในกระทะ เติมน้ำปลา น้ำตาลปี๊บ เพื่อให้เป็ดรัดตัว แล้วเทกลับลงหม้อ ใส่ปลาเค็ม ลูกตะลิงปลิง เคี่ยวให้สุกจนกลิ่นเปรี้ยวเริ่มหอมโชยขึ้นมา จึงฉีกใบมะกรูดใส่ เติมหัวกะทิจนได้ความข้นมันตามต้องการ ปรุงรสเค็มอีกครั้งให้พอดี
ข้อมูลทางโภชนาการ
ผลตะลิงปลิง (เฉพาะส่วนที่กินได้) ต่อ 100 กรัม
โปรตีน 0.61 กรัม
แคโรทีน 0.035 มิลลิกรัม
วิตามินบี 1 0.010 มิลลิกรัม
วิตามินบี 2 0.026 มิลลิกรัม
วิตามินบี 3 0.302 มิลลิกรัม
วิตามินซี 15.5 มิลลิกรัม
ธาตุแคลเซียม 3.4 มิลลิกรัม
ธาตุเหล็ก 1.01 มิลลิกรัม
ธาตุฟอสฟอรัส 11.1 มิลลิกรัม
ข้อมูลจาก : วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี (EN)
สรรพคุณทางยา
ใบ : รสเฝื่อน แก้ลำไส้ใหญ่อักเสบ ไขข้ออักเสบ แก้กามโรค รักษาสิว พอกแก้คัน แก้คางทูม
ดอก : รสเปรี้ยวฝาด แก้ไอ
ลูก : รสเปรี้ยวฝาด เจริญอาหาร บำรุงร่างกาย สมานแผล ขับเหงื่อ แก้ปวดกระดูก แก้ไข้ แก้ไอ แก้เลือดออกตามไรฟัน แก้ริดสีดวงทวาร
การใช้ประโยชน์อื่นๆ
- พืชอเนกประสงค์ พบปลูกในสวนและบางครั้งปลูกในเชิงการค้า ในไทยหายากในการพัฒนาเป็นสวนเฉพาะขึ้นเพราะความต้องการของตลาดน้อย
- น้ำจากผลเป็นตัวขจัดคราบหรือรอยด่างบนเสื้อผ้า ขัดเครื่องทองเหลืองและเครื่องเคลือบ
- ผลให้สีย้อมสีส้ม กลีบดอกให้สีย้อมสีม่วงนำมาใช้เป็นตัวบ่งชี้ทางเคมี
- เนื้อไม้สีขาว เนื้อแน่น แต่เบา น้ำหนักเพียง 560 กิโลกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ใช้สำหรับงานช่างไม้
- ไม้ใช้เป็นเชื้อเพลิง