ข้อมูลทางพฤกษศาสตร์
ชื่อสามัญ : N/A
ชื่ออื่นๆ : ต้นชะมัง และแมงดาต้น
วงศ์ : LAURACEAE
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Litsea elliptica Blume
ชื่อพ้องวิทย์ : Litsea petiolate Hook.f.
ลักษณะสำคัญ : ไม้เปลาตรง ทรงพุ่มหนาทึบ เปลือกต้นมีกลิ่นคล้ายกลิ่นแมงดา ใบเดี่ยวรูปไข่กว้าง ปลายแหลม ขอบจักฟันเลื่อย
ระบบนิเวศและการกระจาย : ถิ่นกำเนิดในคาบสมุทรมลายู มาเลเซีย อินโดนีเซีย ไทยพบมากทางภาคใต้ ในป่าดิบชื้น ป่าดิบแล้ง มักขึ้นตามเนินเขา สันเขา ระดับความสูง 1200 เมตร
การเพาะปลูก : มักพบในป่า
การขยายพันธุ์ : เมล็ด
ส่วนของพืชที่ใช้ประโยชน์ :ใบอ่อน เป็นผักแนม และใบเพสลาด นำทำน้ำพริกแมงดา
แหล่งเก็บหา : สวนสมรมภาคใต้
หมายเหตุ : ทางใต้พบอีก 3 ชนิด Litsea laeta (Nees) Hook. f., Tetranthera resinosa (Blume) Nees ทำมังพอกรง และ Dehaasia candolleana (Meisn.) Kosterm. สิไทรใบใหญ่ ชนิดที่คล้ายกัน Litsea laeta (Nees) Hook. f. หรือบางทีเรียกต้นแมงดา
เมนูอาหารผักยืนต้น
ทำมังมีทรงพุ่มและใบสวย ปลูกประดับสวนได้ดี ต้นที่มีอายุมากๆอาจสูงได้ถึง 20-30 เมตร ความพิเศษอยู่ที่กลิ่นใบอ่อนและใบเพสลาดซึ่งบางคนเห็นว่าฉุนคล้ายกลิ่นแมงดานา ดังนั้นจึงเอามาปิ้งไฟพอหอม ฉีกใส่ครกตำเป็นน้ำพริกได้อร่อย บางคนดัดแปลงใช้ไม้ทำมังมาทำสาก ซึ่งก็จะทำให้น้ำพริกทุกครกมีกลิ่นหอมฉุนเหมือนกันหมด
ในภาคใต้บางท้องที่ใส่ใบเพสลาดในแกงเผ็ด แกงไตปลา เพิ่มกลิ่นหอมฉุนเหมือนให้แกงหม้อนั้นๆ
โดยลักษณะของใบอ่อนและยอดทำมังควรจะกินเป็นใบสดได้ แต่คงไม่นิยมเท่าใส่ในน้ำพริก เช่นเดียวกับผลอ่อนและผลแก่ ซึ่งไม่พบการยืนยันว่าท้องที่ใดนิยมนำมารับประทาน
ดูเหมือนความรู้เรื่องการกินใบทำมังในฐานะพืชที่ให้กลิ่นฉุนคล้ายแมลงดานาจะเริ่มสูญหายไปทุกขณะ อย่างไรก็ดี ในภาคใต้ยังกินใบทำมังโดยเอาใบเพสลาดไปปิ้งไฟพอให้หอมฉุนขึ้น จากนั้นจึงเอามาปรุงน้ำพริกให้ได้กลิ่นตามต้องการ หรือถ้าหากใช้ไม้ทำมังทำสากตำน้ำพริก สากดุ้นนั้นก็จะบันดาลให้น้ำพริกที่ตำทุกครกมีกลิ่นแมงดานาเท่าเทียมกันหมด
เครื่องปรุง
ใบทำมังเพสลาดปิ้งไฟ หอมแดง กระเทียม พริกขี้หนู เกลือ กุ้งแห้งป่น น้ำตาลปี๊บ
วิธีปรุง
ตำกุ้งแห้ง เกลือ หอมแดง กระเทียม และพริกครึ่งหนึ่งให้ละเอียด เติมพริกที่เหลือ น้ำตาลปี๊บ และใบทำมังฉีกหรือหั่นฝอย จนแหลกเข้ากันดี น้ำพริกครกนี้ไม่เปรี้ยว แต่ถ้าชอบรสเปรี้ยวก็อาจเติมน้ำมะนาวหรือส้มจี๊ดได้เล็กน้อยเลียนแบบรสเปรี้ยวของตัวแมลงดานาในน้ำพริกแมลงดาจริงๆ ได้
ข้อมูลทางโภชนาการ
ใบทำมัง 100 กรัม
คาร์โบไฮเดรต ร้อยละ 65.57
โปรตีน ร้อยละ 13.67
ไขมัน ร้อยละ 3.62
เส้นใยอาหาร ร้อยละ 16.59
พลังงาน 349.54 kcal
วิตามินเอ 2563 ไมโครกรัม
วิตามินบี1 0.54 มิลลิกรัม
วิตามินบี 2 0.42 มิลลิกรัม
แคลเซียม 268 มิลลิกรัม
โซเดียม 57 มิลลิกรัม
เหล็ก 5.2 มิลลิกรัม
ที่มา : วิชุดา เกตุใหม่, ทิพย์ทิวา สัมพันธมิตรและนันทิดา สุธรรมวงศ์. 2554.คุณค่าทางโภชนการและคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระของผักพื้นบ้าน 4 ชนิด ที่คัดเลือกได้ จากอำเภอกงหรา จังหวัดพัทลุง. วาสารมหาวิทยาลัยทักษิณ Vol.13(3).
สรรพคุณทางยา
เปลือกต้น : รสร้อนหอมฉุน ขับผายลม ขับลมในลำไส้ แก้ท้องขึ้นอืดเฟ้อ จุกเสียดแน่น
การใช้ประโยชน์อื่นๆ
- เปลือก ลำต้น ใบและผล มีกลิ่นหอมคล้ายกับแมลงดา หรือแมงดานา หรือ giant water bug (Lethocerus indicus) จัดเป็นแมลงจำพวกมวนน้ำ วงศ์ Belostomatidae
- ไม้ในวงศ์นี้หลายชนิดผลิตเพื่อขายเนื้อไม้เรียกรวมกันภายใต้ชื่อทางการค้าว่า medang แก่นไม้มีสีตั้งแต่สีฟางอ่อนจนถึงสีน้ำตาลแดงและสีน้ำตาลมะกอก พื้นผิวเรียบลื่น ง่ายต่อการเลื่อย ไม้ใช้การก่อสร้างบ้าน ทำครกและสาก