ชวน (ว่าที่) ผู้ว่าฯ ออกแบบอนาคตเมืองด้วยพื้นที่อาหาร

เมื่อวิกฤตอาหาร ส่งผลต่ออนาคตความมั่นคงทางอาหารของเมือง นี่จึงเป็นโจทย์ใหญ่ของว่าที่ผู้บริหาร กทม. ในวาระของคนกรุงเทพฯ ที่กำลังร่วมออกแบบอนาคตเมืองผ่านเรื่องพื้นที่อาหาร

ภาคประชาสังคมหลายองค์กร นำโดย มูลนิธิชีววิถี หรือ ไบโอไทย ร่วมด้วย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), โครงการอียูรับมือโควิด ภายใต้การสนับสนุนจากสหภาพยุโรป, มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย), มูลนิธิแอ็คชั่นเอด ประเทศไทย, โครงการสวนผักคนเมือง, มูลนิธิชุมชนไท, มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล, สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา, มูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ, The Active และ Thai PBS จึงร่วมกันสร้างพื้นที่สนทนาและเปิดข้อเสนอเชิงนโยบายในงาน “ปากท้องของคนกรุงฯ: ชวน (ว่าที่) ผู้ว่าฯ ออกแบบอนาคตเมืองด้วยพื้นที่อาหาร” ช่วงต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา

The Active สรุปภาพรวมกิจกรรม นำเสนอในรูปแบบ Visual Note

เราเข้าสู่วิกฤตอาหารแล้ว อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ทั้งปัจจัยเรื่องดัชนีอาหารทั่วโลก ที่สูงขึ้นจากปี 2564 มากถึง 24% อัตราเงินเฟ้อที่สูงสุดในรอบ 13 ปี รวมทั้งการที่ทั่วโลกเริ่มมีมาตรการจำกัดการส่งออกอาหาร และสต็อกอาหารจำนวนมาก เหล่านี้นอกจากจะส่งผลโดยตรงต่อราคาอาหาร ที่แพงขึ้นต่อเนื่อง ยังมีปัญหาอาหารไม่ปลอดภัย และความเป็นเมืองที่ผลิตอาหารได้น้อยสวนทางกับความต้องการบริโภคเยอะ ขณะที่วัตถุดิบกลับถูกผูกขาดจากร้านสะดวกซื้อ

เมื่อสัดส่วนค่าอาหารต่อค่าใช้จ่ายมีมากเกือบครึ่ง หรือร้อยละ 48 จากค่าใช้จ่ายทั้งหมด ยิ่งทำให้การมีอาหารการกินที่ดี มีคุณภาพ และปลอดภัย เป็นเรื่องเข้าถึงได้ยากของคนในชุมชนเมือง โดยเฉพาะคนจน ที่พวกเขาต้องแบกรับภาระมากกว่าคนรวย ขาดความมั่นคงทางอาหารอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ขณะที่บริบทของการหาเลี้ยงปากท้องก็ถูกคุกคาม เช่น การที่พื้นที่ค้าขายนอกระบบถูกเบียดขับออกจากเมือง

ผศ.บุญเลิศ วิเศษปรีชา นักวิชาการจากคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชวนตั้งคำถามว่า ทุกวันนี้การจัดการพื้นที่เมืองจะเชื่อมโยงกับนโยบายอย่างไร เพื่อทำให้ต้นทุนเรื่องค่าอาหารลดลง เพราะส่วนใหญ่ยังผูกขาดขั้นตอนการขายปลีก

“ผัดกะเพรา หมูปิ้ง มันทำให้คนเล็กคนน้อยในบ้านเรา อาจไม่ถึงขั้นหิวโหย แต่ยังมี ผู้สูงอายุ ที่ถูกแย่งชิงจากตู้กดน้ำ คนกลุ่มนี้จะได้รับการช่วยเหลือ นอกจากเบี้ยยังชีพ 600-700 บาท อย่างไร บางคนได้เบี้ยยังชีพ แต่ในเชิงนโยบายยังไม่ได้ช่วยเขา จึงอยากชวนให้มองเห็นความเชื่อมโยงของแต่ละภาคส่วน”

วรรณา แก้วชาติ ตัวแทนจากเครือข่ายสลัมสี่ภาค ระบุว่า คนกรุงเทพฯ มีสัดส่วนของผู้มีรายได้น้อยค่อนข้างมาก แต่ขาดศักยภาพในการเข้าถึงอาหาร จึงเรียกร้องให้ กทม. ออกแบบนโยบายใช้ประโยชน์จากพื้นที่ว่างเปล่า เพื่อพัฒนาผู้ผลิตภาคเกษตรชุมชนเมือง และให้มีตลาดชุมชน ให้คนรายได้น้อยเข้าถึงสินค้าและนำสินค้าไปขายในราคาถูกแบบมีคุณภาพ

ส่วน วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ เลขาธิการมูลนิธิชีววิถี บอกว่า ทั่วโลก กำลังเข้าสู่วิกฤตอาหาร บางประเทศขาดแคลน ซึ่งหลายประเทศในภูมิภาคต่าง ๆ เริ่มกักตุนอาหาร ขณะที่ไทยก็เริ่มมีราคาสินค้าแพง ความไม่ปลอดภัยทางอาหาร จากผลสำรวจ 1-2 ปี สัดส่วนของผักผลไม้ไม่ปลอดภัยมีหลายแห่ง จึงตั้งคำถามและอยากให้มีการออกแบบนโยบายให้คนเล็กคนน้อยที่เป็นผู้เลี้ยงคนเมือง เข้าถึงการซื้อขายสินค้า ที่ไม่ใช้การถูกผูกขาดกับร้านขนาดใหญ่ อย่าง สี่มุมเมือง ตลาดไทย ตลาดเจริญศรี ฯลฯ เพราะคนที่กระทบมากที่สุดคือคนจน

ขณะที่ สุภา ใยเมือง ผู้อำนวยการมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) กล่าวว่า กรุงเทพฯ มีพื้นที่เกษตรลดลง บางพื้นที่ยังปลูกผัก ผลไม้ เป็นนาข้าว แต่ก็ลดลง โดยส่วนใหญ่คนเข้าถึงตลาด การทำสวนผักคนเมือง ในปี 2553 สำรวจพบว่ามีชุมชนหลายชุมชนปลูกผัก พอปี 2563 เห็นว่ามีพื้นที่อาหารเพิ่มขึ้น และพบว่ามีปฏิสัมพันธ์กันระหว่างเมือง แต่ละทำอย่างไรให้คนเมืองบางส่วนที่อยากเข้าถึงอาหารอย่างเท่าเทียม เพราะถ้าผลิตอาหารได้เอง 1 เดือนประหยัดได้ราว 1,000 บาท

“ทำอย่างไรให้สมดุลกับเศรษฐกิจ เพราะหากเชื่อมโยงกับนโยบาย จะทำให้ผู้คนมีปฏิสัมพันธ์กัน รู้จักการผลิต การเพาะปลูก เรากินอาหาร และเป็นขยะที่เป็นเศษอาหารประมาณ 50% ถ้าเอาขยะมาเป็นวงจร ปุ๋ย และมาเพาะปลูกใหม่ เราก็ทำได้ ถ้านโยบายเชื่อมโยงกัน”

“เมือง” ต้องเป็นทั้งผู้ผลิต และผู้บริโภค เพื่อความสมดุลของอาหาร

วรางคนางค์ นิ้มหัตถา จากโครงการสวนผักคนเมือง มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) เป็นตัวแทนประมวลข้อเสนอ “การสร้างพื้นที่อาหารของเมือง” เพื่อนำเสนอต่อผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. เพื่อความเชื่อมโยงเป็นข้อเสนอเชิงนโยบาย โดยระบุว่า ในสถานการณ์ที่กำลังเผชิญหน้ากับโรคระบาด สิ่งแวดล้อม และวิกฤตเศรษฐกิจ นโยบายพื้นที่อาหารของเมือง จึงเป็นเรื่องสำคัญ ที่ต้องให้ความสำคัญ โดย กทม. สามารถมีบทบาทขับเคลื่อนให้เกิดพื้นที่อาหารของเมืองได้ใน 10 ประเด็น คือ 1) กทม. ควรมีวิสัยทัศน์และนโยบายในการสร้างความมั่นคงทางอาหารให้ประชาชนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มคนเปราะบาง 2) การจัดหาที่ดินและทรัพยากรสำหรับการผลิตและตลาดอาหาร 3) สนับสนุนโครงสร้างพื้นฐาน 4) พัฒนานวัตกรรมการผลิตปุ๋ยอินทรีย์จากการหมุนเวียนทรัพยากรของเมือง 5) สนับสนุนงบประมาณแก่กลุ่มคนชุมชนต่าง ๆ เพื่อทำสวนผักหรือตลาดท้องถิ่น 

6) สร้างความเชื่อมโยงให้เด็ก นักเรียน ผู้ป่วยได้รับอาหารที่ดีและปลอดภัย 7) เพิ่มโอกาสผู้ค้ารายย่อยได้ประโยชน์จากเศรษฐกิจอาหาร 8) สร้างระบบสวัสดิการให้ทุกคนเข้าถึงอาหารและจัดการตนเองได้เมื่อเกิดภัยพิบัติและเหตุฉุกเฉิน 9) สร้างกลไกเฝ้าระวัง ส่งเสริมและสนับสนุนให้มีร้านอาหารและแหล่งจำหน่ายผักผลไม้และวัตถุดิบอาหารที่ปลอดภัย และ 10) พัฒนาระบบสนับสนุน เช่น ผังเมืองที่ปกป้องพื้นที่อาหาร เป็นต้น

หลังตัวแทนประชาชนบอกสิ่งที่ต้องการ ผ่านการนำเสนอปัญหาและความฝันของเมือง วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ผู้สมัครจากพรรคก้าวไกล เป็นคนแรกที่แสดงวิสัยทัศน์ เขาเริ่มต้นด้วยการบอกว่า “ไม่สบายใจ” ทุกครั้งที่มีตัวแทนประชาชนมาร้องขอ เพราะประชาชนเป็นผู้มีอำนาจ เป็นคนที่เป็นเจ้าของกรุงเทพฯ ไม่ใช่แค่ผู้อยู่อาศัยหรือผู้ถูกปกครอง เขาบอกว่าคนถืออำนาจ ควรเป็นคนถืองบประมาณด้วย ทั้งเรื่องตลาด พืชผักสวนครัว เกษตรอินทรีย์ ศูนย์ฝึกอาชีพ ตามที่ประชาชนนำเสนอมา ต้องจัดงบประมาณลงไป เปลี่ยนจากอำนาจและงบประมาณในมือของข้าราชการ สำนักงานเขต หรือผู้ว่าฯ กทม. เพราะถึงเวลาที่ต้องจัดสรรงบประมาณกว่า 4 พันล้านบาท โดยกระจายลงไปทั้ง 2,000 ชุมชน หรือแม้แต่ชุมชนที่ยังไม่ถูกจัดตั้งหรือชุมชนที่ขึ้นทะเบียนทั้ง 50 เขต เขาเรียกสิ่งนี้ว่า “การคืนอำนาจให้ประชาชน” ทั้งหมดนี้จะทำให้ประชาชนทำโครงการต่าง ๆ ได้ตามความต้องการ เพื่อตอบโจทย์ปากท้องของคนกรุง

ส่วนมุมมองเชิงนโยบายที่วิโรจน์ให้ความสำคัญมากเป็นพิเศษ สำหรับเรื่องที่สัมพันธ์กับปากท้องของคนกรุง คือ การจัดหาที่ดินและทรัพยากรสำหรับการผลิตและตลาดอาหาร เขาต้องการนำที่รกร้างของ กทม. และเอกชน โดยหามาตรการจูงใจให้เอกชน/เจ้าของที่ดิน มอบสิทธิ์ให้ กทม. ทำพื้นที่ตลาด, นำระบบ FAR Bonus หรือมาตรการส่งเสริมการพัฒนาด้วยการเพิ่มอัตราส่วนพื้นที่อาคารรวมต่อพื้นที่ดิน เพื่อสร้างแรงจูงใจและสร้างความเป็นธรรมเสนอให้แก่เอกชนที่ต้องการสร้างอาคารสูงในเมือง โดยเสนอให้ทำประโยชน์เพื่อสังคมในสิ่งที่สังคมต้องการ โรงอาหารที่อนุญาตให้คนยากจนเข้าไปใช้ได้ จัดพื้นที่ทำเกษตรอินทรีย์ และทำพื้นที่สาธารณะ

ขณะที่การสนับสนุนงบประมาณแก่กลุ่มคนชุมชนต่าง ๆ เพื่อทำสวนผักหรือตลาดท้องถิ่น วิโรจน์บอกว่า จะต้องจัดสรรงบประมาณใหม่ และกันออกมา 4,000 ล้านบาทในจุดเริ่มต้น แล้วกระจายลง 2,000 ชุมชน ชุมชนละ 500,000 หรือ 1 ล้านบาท ขึ้นอยู่กับขนาดชุมชน สำหรับชุมชนที่ยังไม่จัดตั้ง หรือคนที่อยู่ในหมู่บ้านต่าง ๆ อีก 50 เขต ก็จัดลงไปอีก 2,000 ล้านบาท โดยกันเอาไว้บางส่วนสำหรับคนกรุงเทพฯ มาโหวตร่วมกันว่าจะทำโครงการอะไรที่ตอบโจทย์

ส่วนเรื่องระบบสวัสดิการให้ทุกคนเข้าถึงอาหารและจัดการตนเองได้เมื่อเกิดภัยพิบัติและเหตุฉุกเฉิน ให้เอาเงินจากภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมาเติมเข้าไป เช่น สวัสดิการผู้สูงอายุที่ตอนนี้ 600 บาทเป็นส่วนใหญ่ ก็จะเติมอีก 400 เพื่อให้ผู้สูงอายุได้ 1,000 บาท สำหรับเด็กแรกเกิดถึง 6 ปี ตอนนี้บางคน เฉพาะที่ครอบครัวยากจน จะได้แค่ 600 บาท ก็จะเติมอีก 600 เป็น 1,200 บาท ใครที่ไม่ได้เลยก็จะได้ 1,200 บาท ผู้พิการได้อยู่ที่ 800 บาท ก็จะเติมให้ได้ 1,200 บาทต่อเดือน

รสนา โตสิตระกูล ผู้สมัครอิสระ ตอบประเด็นคำถามของประชาชน โดยเฉพาะคนที่อยู่ในชุมชนแล้วสะท้อนว่าไม่ได้รับความสนใจจาก กทม. รสนา ระบุว่า 1 ใน 9 นโยบายที่นำเสนอไปก่อนหน้านี้ มีเรื่องสำคัญคือการจัดสรรงบประมาณ 50 ล้านบาท สำหรับ 50 เขต กระจายภารกิจและกระจายงบประมาณ เพื่อให้ประชาชนแต่ละเขตสามารถนำเสนอโครงการที่ต้องการทำ

นอกจากนี้ยังต้องการสำรวจพื้นที่ใน กทม. ส่วนที่เป็นพื้นที่ว่างเปล่าต้องจัดสรรให้เป็นพื้นที่ในเมือง ต้องการทำเกษตรอินทรีย์ การมีอาหารใกล้ตัว เป็นเรื่องสำคัญ เพื่อลดปัญหาของการเดินทาง เพราะค่าใช่จ่ายแพง จากปัญหาเศรษฐกิจ ก็จะสามารถลดเรื่องคาร์บอนได้ ระยะทางทำให้สิ้นเปลืองพลังงาน การมีแหล่งอาหารใกล้บ้าน ที่ไม่จำเป็นต้องใช้สารเคมี จะสัมพันธ์กับการแยกขยะอาหาร ที่นำไปสู่การหมักก๊าซชีวภาพ พร้อมสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนแยกขยะ เช่น สนับสนุนการให้ก๊าซหุงต้ม เพื่อลดค่าใช้จ่ายให้กับประชาชน

นี่จึงเป็นที่มาของโครงการแยกขยะอาหารออกจากขยะเปียก เพราะว่าขยะอาหารในกรุงเทพฯ นั้น เป็น 55 % ของขยะทั้งหมด แล้วการแยกขยะสามารถนำไปสู่การหมักเพื่อทำเป็นก๊าซชีวภาพหรือก๊าซหุงต้ม ขยะที่นำมาหมักแล้ว นอกจากได้ก๊าซ เมื่อก๊าซหมดแล้ว จะกลายเป็นปุ๋ย เพราะฉะนั้นปุ๋ย สามารถที่จะเอามาสนับสนุนเกษตรอินทรีย์ในเมือง นอกจากนี้ จะสำรวจพื้นที่ในกรุงเทพฯ ส่วนที่เป็นพื้นที่ว่างเปล่า จัดสรรให้เป็นพื้นที่เกษตรกรรมในเมืองสำหรับประชาชน ที่เป็นทั้งคนจนเมืองและคนที่ต้องการทำเกษตรอินทรีย์

ขณะที่การสร้างระบบสวัสดิการให้ทุกคนเข้าถึงอาหารและจัดการตนเองได้เมื่อเกิดภัยพิบัติและเหตุฉุกเฉิน เธอพูดถึง ครัวปันกันอิ่ม ที่ทุกคนสามารถมากินอาหารในร้านอาหารที่ยินดีรับเงินบริจาค เป็นเหมือนกับเป็นคูปองสำหรับกินอาหาร

ทำข้อตกลง หรือ MOU กับรัฐบาล เพื่อที่จะใช้ที่ดินเหล่านั้นเพื่อเกษตรในเมือง หรือจะทำเป็นพื้นที่ในการปลูกต้นไม้ เพราะจำเป็นต้องเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเมืองให้ได้ในระดับที่เป็นไปตามมาตรฐานโลก ก็คือ 9 ตารางเมตรต่อคน

ขณะที่ น.ต. ศิธา ทิวารี อีกหนึ่งผู้สมัครจากพรรคไทยสร้างไทย ที่เข้าร่วมรับฟังภาคประชาชนในงาน บอกว่า แม้มีหลายนโยบายที่ใกล้เคียงกับผู้สมัครอีกสองคน แต่ก็พร้อมที่จะสนับสนุนกัน โดยบอกว่า การที่เคยเป็นข้าราชการ และเคยเป็น ส.ส. กรุงเทพฯ เขตคลองเตย ทำให้เข้าใจปัญหาของเมือง เรื่องแรกที่อยากให้ความสำคัญ คือ เรื่องการจัดการงบประมาณ ด้วยการใช้เทคโนโลยีเข้ามาจัดการ โดยประชาชนจะมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการงบประมาณของกรุงเทพฯ โดยระบบจะรับรู้ว่าตัวตนเป็นใคร อยู่ในพื้นที่หรือไม่ และเป็นกลุ่มคนที่ทำนโยบายหรือโครงการด้านใด เขายังสะท้อนปัญหาของมุมมองของผู้บริหารของเมืองหรือระดับเขต ที่ไม่เข้าใจความต้องการของประชาชนในระดับพื้นที่ โดยจะใช้ระบบ DAO หรือ Decentralized autonomous organizations เพื่อกระจายอำนาจในการใช้งบประมาณ

ต่อประเด็น การจัดหาที่ดินและทรัพยากรสำหรับการผลิตและตลาดอาหาร  ศิธา ระบุว่า ต้อมีการจัดการที่ดิน ทั้งพื้นที่ กทม. เอกชน และพื้นที่ของรัฐวิสาหกิจ รวมถึงส่วนราชการ ทั้งในลักษณะของการขอความร่วมมือ และบังคับใช้กฎหมายกรณีของเอกชน กลับมาทำสวนสาธารณะ ทำสวนครัว เพื่อขายให้กับคนมีเงินที่เข้าร่วมโครงการกับ กทม. เพื่อซื้อพืชผักสวนครัวเหล่านี้ นำที่จัดสรรให้กับคนในพื้นที่ที่ต้องการปลูกผัก สมมติมีพื้นที่ 20 ไร่ สามารถทำแปลงได้ 2,000 แปลง แต่ละบ้านก็มาบอกเลยว่าเขาเป็นเจ้าของ 1 แปลง หากมีคนเยอะเป็นเจ้าของ 2 หรือ 3 แปลง

ส่วนนโยบายในการสร้างความมั่นคงทางอาหารให้ประชาชนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มคนเปราะบาง เขาบอกว่า ต้องแก้ปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย ที่ทำกิน ของกลุ่มคนจนเมือง โดยเป็นสิ่งที่ภาครัฐต้องดูแล คนที่เคยอยู่อาศัยบนพื้นที่ต้องมีสิทธิ์ กรรมสิทธิ์ในพื้นที่ และสามารถที่จะอยู่บนที่ดินที่อยู่ในทำเลที่ตัวเองต้องการได้

ขณะที่การเพิ่มโอกาสผู้ค้ารายย่อยได้ประโยชน์จากเศรษฐกิจอาหาร เขามองความจำเป็นของการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย หาบเร่แผงลอย รักษาเอกลักษณ์ของ street food เปลี่ยนเจ้าหน้าที่เทศกิจจากเดิมที่เป็น inspector ทำหน้าที่แบบตรวจสอบเขา ให้เป็น facilitator คือ ต้องสนับสนุนให้พี่น้องประชาชนสามารถขายของได้ โดยไม่กีดขวางทางเท้า ไม่กีดขวางทางจราจร และถูกกฎหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งไม่มีการเบียดเบียนรายได้ของผู้ที่มีรายได้น้อย

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เป็นอีกหนึ่งผู้สมัครในนามอิสระ ที่แม้ไม่เข้าร่วมแสดงวิสัยทัศน์บนเวที แต่ได้อัดคลิปมาโดยระบุว่า อาหารในกรุงเทพฯ มีที่มาจากต่างจังหวัด หากเกิดเหตุขัดข้อง แหล่งอาหารถูกตัดขาด ทำให้คนกรุงเทพฯ ไม่มั่นคงทางอาหาร ต้นทางแหล่งผลิตอยู่ไกล ทำให้ผู้บริโภคไม่รู้ว่าอาหารนั้นปลอดภัยหรือไม่ ขณะที่ช่วงโควิด-19 ระบาด เห็นถึงการขาดแคลนอาหาร การขนส่งมีปัญหา คนขาดรายได้ เกิดความยากจน ไม่สามารถซื้ออาหารได้ เกิดปัญหาความเลื่อมล้ำด้านอาหาร จึงต้องการเสนอนโยบายเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร

การแยกขยะต้นทาง ซึ่งจะได้ปุ๋ย ผลิตปุ๋ยอินทรีย์ใช้เอง จะได้อาหารพืชผักปลอดสารพิษ สามารถควบคุมการผลิตได้ ทำให้คนมีแรงจูงในในการแยกขยะ ให้ กทม. ไปรับซื้อปุ๋ยจากเพื่อใช้ในสวนสาธารณะ จะต้องมีสวนเกษตรอินทรีย์ใกล้บ้าน เดินทาง 15 นาที หรือ 800 เมตร ใน 2,000 ชุมชน ให้ครอบคลุมทั่วกรุง ให้เช่าพื้นที่ว่างเปล่าในชุมชนทำแปลงเกษตร 1 ชุมชน 1 แปลงเกษตร จัดให้มีศูนย์ฝึกอาชีพให้ความรู้การทำเกษตรแก่ชุมชน เชื่อมโยงความต้องการ จัดหาตลาดในรูปแบบแพลตฟอร์มออนไลน์ และตลาดของเขต จัดทำธนาคารอาหาร นำอาหารส่วนเหลือ จากร้านอาหาร ห้าง โรงแรม ที่ยังบริโภคได้ มาใส่ไว้ในธนาคารอาหาร ให้กลุ่มเปราะบาง คนในชุมชน หรือคนที่เข้าไม่ถึงอาหาร และคนทั่วไปมาเลือกเลือกซื้ออาหารได้ ซึ่งจะช่วยสร้างความมั่นคงทางอาหารให้คนกรุงเทพฯ ได้

บทบาทของท้องถิ่น กับความมั่นคงทางอาหารในภาวะวิกฤต

สำหรับเวทีเสวนา “บทบาทของทองถิ่นกับความมั่นคงทางอาหารในภาวะวิกฤต” ช่วงท้ายของกิจกรรม เอ็นนู ซื่อสุวรรณ กรรมการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสังคม กล่าวว่า บทบาทท้องถิ่นกับความมั่นคงอาหารในภาวะวิกฤตเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะการเข้าถึงอาหารที่เพียงพอ ปลอดภัย และมีคุณค่า ทางโภชนาการ คือการตอบสนองความต้องการและความพึงพอใจด้านอาหารเพื่อให้มีชีวิตมีพลังและสุขภาพ ซึ่งความมั่นคงอาหารสามารถแบ่งออกเป็น 4 ด้าน 1) การมีอาหารเพียงพอ 2) การเข้าถึงอาหาร 3) การใช้ประโยชน์จากอาหาร และ 4) การมีเสถียรภาพด้านอาหาร

“เริ่มแรกเราต้องเริ่มจากการมีอาหารที่เพียงพอ อิ่มท้อง ถูกปาก กินอร่อย และสุดท้ายกินแล้วต้องปลอดภัย ขณะที่ทุกวันนี้คนมาอาศัยในกรุงเทพมหานครมากเกินไป”

เขาระบุถึงเป้าหมายการพัฒนาประเทศตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ประเทศไทย ต้องกระจายความเจริญออกไปยังภูมิภาคต่าง ๆ ทุก 5 ปี ต้องมีเมืองและจังหวัดที่เข้มแข็งดียิ่งขึ้น 7-8 จังหวัด และ ในอีก 20 ปี ต้องมีเพิ่มเป็น 30 จังหวัด ให้เกิดการกระจายตัว ไม่ต้องแย่งกันกิน แย่งกันใช้เฉพาะในเมืองหลวง แต่ขณะนี้ประเทศไทยมีผู้มาอยู่อาศัยในกรุงเทพมหานครค่อนข้างมาก

ขณะที่ความมั่นคงทางอาหาร เศรษฐกิจฐานรากที่สำคัญคือเกษตรกร โดยเฉพาะผู้ผลิตอาหาร เช่น คนปลูกข้าวต้องอยู่ดีกินดีไม่ยากจน แต่ปัจจุบันกลับเห็นคนปลูกข้าวจน ทั้งที่ข้าวขายไปทั่วโลก ส่วนด้านสังคมต้องทำเรื่องชุมชนเข้มแข็ง กทม. ต้องปรับปรุงใหม่ ปฏิรูปประเทศ โดยเป้าหมายการพัฒนาพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนยุคหลังโควิด-19 คือ 1) อาหาร 2) สมุนไพร 3) ท่องเที่ยว และ 4) พลังงานชุมชน โดยระบุว่า ตัวชี้วัดและข้อมูลเป็นเรื่องที่สำคัญมาก

“ข้อมูลต้องให้ท้องถิ่นเป็นคนเก็บ เพราะท้องถิ่นใกล้ชิดประชาชนที่สุด เช่น เมืองนี้ชุมชนนี้มีเท่าไหร่ คนจนมีเท่าไหร่ คนขาดแคลนอาหาร คนแก่มีเท่าไหร่ แต่วันนี้ข้อมูลเหล่านี้เก็บไว้ตัวเอง บางทีขอข้อมูลยากมาก”

อีกหนึ่งกรณีที่เกิดขึ้นในช่วงการระบาดของโควิด-19 นพ.วิรุฬ ลิ้มสวาท ผู้อำนวยการสำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ยกตัวอย่างชุมชนคลองเตย ที่เป็นภาพสะท้อนการกระจายอำนาจ และการใช้ประโยชน์จากท้องถิ่นได้เห็นภาพชัดเจนมากที่สุด เพราะฝากความหวังไว้กับรัฐไม่ได้ทั้งหมด

การเป็นพื้นที่ระบาดหนักและเป็นจุดเปราะบางเพราะพื้นที่แออัด คนในชุมชนคลองเตยเลือกจัดการตัวเอง เพราะรอรัฐไม่ได้ พวกเขาแยกกักตัวเอง เป็นการสะท้อนให้เห็นการร่วมมือ เช่น ข้าวกล่องสำหรับผู้กักตัว ในมุมความมั่นคงทางอาหาร อาจต้องมองไปถึงการทำครัวกลาง เพื่อการเข้าถึงอาหารสะอาดและปลอดภัยด้วย

“เป้าหมายสำคัญของความมั่นคงทางอาหารในภาวะวิฤกต ประชาชนควรได้รับการคุ้มครองสิทธิในอาหาร สามารถเข้าถึงอาหารที่เพียงพอ ปลอดภัย และมีคุณค่าทางโภชนาการได้อย่างเป็นธรรม ผมว่าการสังเคราะห์ที่แท้จริง การเรียกร้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมน่าจะเป็นทางออกที่ดีสำหรับประชาชน ที่จะได้มีสิทธิ ขณะเดียวกัน หน้าที่ของรัฐคือการป้องสิทธิ ที่ต้องมาทำหน้าที่เปิดกว้างเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงสิทธิในอาหารทุกคน”

นพ.วิรุฬ กล่าวอีกว่า สำหรับประเทศไทย หากจะเปลี่ยนผ่านเรื่องความมั่นคงทางอาหาร ควรการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นและประชาชนตัดสินใจ ให้อำนาจในการดูแลเรื่องต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นทรัพยากรธรรมชาติ ขณะเดียวกัน การสร้างความเข้มแข็งให้ประชาชนได้สะท้อนปัญหาของตัวเอง จากการวิเคราะห์จะนำไปสู่การเรียนรู้ร่วมกัน จะทำให้มีข้อมูลมีกระบวนการแก้ปัญหาได้ตรงจุด ซึ่งจริง ๆ แล้วประเทศไทยก็มีแซนด์บ็อกซ์มากมายที่ประชาชนชุมชนทำดีอยู่แล้ว สิ่งนี้คือสิ่งที่รัฐควรสนับสนุนให้มาก ๆ และต้องมีการสร้างพื้นที่ส่วนร่วม สร้างการตื่นรู้ร่วมกัน

นอกจากวิกฤตโรคระบาด ภาวะภัยพิบัติซ้ำซ้อนจากความแปรปรวนสภาพอากาศ ยังเป็นสิ่งที่ ไมตรี จงไกรจักร ผู้จัดการมูลนิธิชุมชนไท ในฐานะผู้ผลักดันให้เกิดศูนย์ภัยพิบัติชุมชน นำมาใช้ถอดบทเรียนจากมุมของการจัดการงบประมาณภาครัฐในภาวะวิกฤต ซึ่งยังเป็นปัญหา หากไม่กระจายอำนาจ

“ถ้าเฉพาะในมิติด้านภัยพิบัติ โรคระบาดโควิด-19 ก็เป็นภัยพิบัติ เพราะ พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 มาตรา 4 ระบุ โรคระบาดในมนุษย์เป็นภัยพิบัติ และทุกจังหวัดประกาศใช้เงินภัยพิบัติ บางจังหวัดใช้รอบละ 10 ล้าน ประกาศเพื่อการป้องกัน บางจังหวัดประกาศพื้นที่ภัยพิบัติ รอบละ 20 ล้านบาท” 

นำมาสู่ข้อเสนอเรื่องความมั่นคงทางอาหารในภาวะภัยพิบัติ เรื่องแรก ไมตรี บอกว่า เมื่อประกาศภัยพิบัติ หน่วยงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สามารถซื้อข้าวกล่องได้ ถ้าประกาศพื้นที่ภัยพิบัติ แถมถุงยังชีพด้วย แต่ในความเป็นจริง เราควรตั้งครัวกลาง ยกตัวอย่าง ตั้งงบประมาณ 30 บาทต่อมื้อต่อคน หากชุมชนท้องถิ่นสามารถจัดตั้งครัวกลาง เขาจะเริ่มมีความมั่นคงทางอาหาร แต่ที่ผ่านมา ประชาชนยังไม่รู้ ท้องถิ่นก็รู้บ้างไม่รู้บ้าง

เรื่องที่สอง ท้องถิ่นสามารถส่งเสริมการทำแหล่งอาหารได้ เรื่องที่สาม ความมั่นคงทางอาหารมีมิติที่ต่างกัน เช่น โครงการข้าวแลกปลา ที่เป็นความร่วมมือสร้างความมั่นคงทางอาหารให้กันและกัน

และ เรื่องที่สี่ เขาเสนอให้แก้ไขกฎหมายบางส่วน เพื่อการกระจายอำนาจที่ชัดเจนขึ้น เพราะ พ.ร.บ.ภัยพิบัติ ยังมีกฎหมายซ้ำซ้อน แต่กฎหมายยังเขียนว่าท้องถิ่นมีหน้าที่ในการป้องกันในมาตรา 21 ชัดเจน แต่มาตรา 22 ผู้ว่าฯ เป็นผู้สนับสนุนให้ท้องถิ่นและกำกับควบคุมดูแล จึงกลายเป็นว่า ผู้ว่าราชการ และผู้ว่าราชการจังหวัดรวบอำนาจท้องถิ่นและประกาศภัยพิบัติเอง นี่คือเป็นปัญหา 

“ต้องฝากไปดูว่าผู้ว่าฯ มีสิทธิอะไร? ประเทศนี้ ผู้ว่าฯ ต้องประกาศก่อน ท้องถิ่นถึงจะทำอะไรได้ กฎหมายมี แต่บางอย่างสับสน เราต้องมุ่งมั่นให้ท้องถิ่นจัดการได้ในสถานการณ์วิฤกต”

ผศ.ธนพร ศรียากูล ในฐานะกรรมการการกระจายอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กล่าวว่า  พ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจฯ ถ่ายโอนเรื่องเกษตรกรรมให้ท้องถิ่นมา 20 ปีแล้ว แต่ในคู่มือสนับสนุนการปฏิบัติงานของสำนักงานเขต กทม. พูดถึงเรื่องการเกษตรไม่เกิน 10 หน้า

“ถ้าผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. บอกว่า ‘ผมจะปลดแอก กทม. จากกระทรวงมหาดไทย ผมจะกระจายอำนาจ ประกาศภารกิจเรื่องนี้ ให้ถ่ายโอนภารกิจมาจากกรมส่งเสริมการเกษตร’ ผมนั่งลุ้นว่าจะมีผู้สมัครผู้ว่าฯ คนไหนพูดไหม ไม่มีใครพูดจริง ๆ”

ผศ.ธนพร เสนอว่า 1) ต้องกล้าพูดว่าจะปลดแอกจากกระทรวงมหาดไทย 2) ผู้ว่าฯ กทม. ต้องพูดว่าต้องการอะไรจากรัฐบาลกลาง พร้อมระบุว่า จริง ๆ แล้ว กทม. มีศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรประจำแขวง ที่เกี่ยวกับการเกษตร มีอยู่ 50 ศูนย์ ซึ่งมีบางส่วนที่ทำสำเร็จ นอกจากนี้ ยังมีเรื่องข้อจำกัดของการจดทะเบียนชุมชน สำหรับชุมชนที่รวมตัวกันไม่ถึง 100 หลังคาเรือน ที่ไม่สามารถจดทะเบียนได้ ทำให้คนตัวเล็กตัวน้อยในชุมชนเข้าไม่ถึงกลไกเหล่านี้ หากระเบียบนี้ไม่แก้ สิ่งที่ผู้สมัครหลายคนแสดงวิสัยทัศน์ไว้ ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ ซึ่งยังรวมไปถึงกลุ่มประชากรแฝง แรงงานข้ามชาติ ที่ถูกลิดรอนสิทธิของระเบียบเหล่านี้

หลากหลายแนวทาง ภาคประชาสังคม ท้องถิ่น และราชการ ร่วมสร้างอาหารของเมือง

จินตนา ทองผุด เจ้าหน้าที่รักษาความสะอาดอาวุโส สำนักงานเขตหลักสี่ เล่าถึง กรณีที่สำนักงานเขตหลักสี่ถือเป็นอาคารแรกที่ปลูกผัก ที่ได้แนวคิดเรื่องส่วนผักคนเมือง เมื่อ 20 ปีก่อน

“โดยผลผลิตจากสวนเกษตรดาดฟ้าและจากดาดฟ้าสู่ลานดิน คือ 1. จำหน่ายให้ข้าราชการและประชาชนที่มาติดต่อราชการ 2. แจกประชาชนทั่วไป เพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายในช่วงการระบาดของโควิด-19 และ 3. เป็นของฝากที่ระลึกของสำนักงานเขตหลักสี่”

เธอบอกอีกว่า เวลานี้ หลายหน่วยงานใช้แนวทางนี้ เช่น กองพลาธิการ และกองสรรพาวุธเบา ที่เริ่มโครงการ เกษตรอินทรีย์ วิถีชุมชน คนริมคลอง สู่แหล่งเรียนรู้ต้นแบบบ้านมั่นคง เพื่อบริโภคในครัวเรือนและสร้างรายได้เสริม พร้อมส่งเสริมการทำบัญชีครัวเรือนให้ชุมชน เพื่อการออมอย่างมีประสิทธิภาพ

สำหรับภาคประชาสังคม ที่จะมีส่วนร่วมสร้างความมั่นคงทางอาหารร่วมกับท้องถิ่นได้ ในมุมมองของ นันทพร ตีระพงศ์ไพบูลย์ จากมูลนิธิสโกลารส์ ออฟ ซัสทีแนนซ์ (ประเทศไทย) ซึ่งเป็นองค์กรที่นำอาหารที่กำลังจะถูกทิ้งส่งต่อให้กับชุมชนอย่างปลอดภัย เธอบอกว่า สิ่งที่ต้องการให้ กทม. มีส่วนร่วม คือ การจัดตังโครงการธนาคารอาหารแห่งชาติ โดยยกตัวอย่าง พ.รบ.บริจาคอาหารของประเทศเกาหลี ที่จะมีมาตรการด้านกฎหมายเพื่อจูงใจ นอกจากนี้ ยังต้องการให้เกิดการสร้างฐานข้อมูล เพราะที่ผ่านมาได้มาจากตัวเลขความยากจน ความขาดแคลน ซึ่งตัวเลขยังไม่ตรงกัน

ขณะที่ อุบล ร่มโพธิ์ทอง สมาคมส่งเสริมสิทธิชุมชนเพื่อการพัฒนา (สชพ.) และ พูลทรัพย์ สวนเมือง ตุลาพันธ์ มูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ มองตรงกันว่า หากท้องถิ่นมีนโยบายที่ชัดเจน และมีช่องทางให้ภาคประชาสังคมเข้าถึงผู้บริหารท้องถิ่นได้ ก็จะสามารถร่วมออกแบบท้องถิ่นที่มีความมั่นคงทางอาหารได้ แต่ที่ผ่านมาพบว่า หากท้องถิ่นไหนไม่มีนโยบายหรือวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนเรื่องนี้ ก็ยากที่จะเดินหน้าสร้างความมั่นคงทางอาหาร


ที่มา : TheActive