เกษตรนิเวศ: เกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

จากการติดตามกระบวนการจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 (พ.ศ.2566-2570) โดยเฉพาะประเด็นด้านเกษตรกรรมและอาหารยั่งยืนที่ยังไม่ถูกหยิบยกให้เป็นประเด็นสำคัญใน 13 หมุดหมาย ซึ่งไม่สอดคล้องกับมติของสภาผู้แทนราษฎร ปี 2563 ที่มีมติอย่างเป็นเอกฉันท์เห็นชอบตามข้อเสนอของกรรมาธิการวิสามัญฯ ด้วยเสียง 423 ต่อ 0 ให้กำหนดเป้าหมายเพิ่มพื้นที่เกษตรยั่งยืนของประเทศให้ได้ 100% ภายในปี 2573 อีกทั้งเป็นทิศทางแนวโน้มของอารยประเทศที่กำหนดเรื่องเกษตรนิเวศและการปรับตัวด้านระบบอาหารที่ยั่งยืนเป็นเรื่องสำคัญ ภายใต้ภาวะวิกฤติทั้งทางเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อมและสุขภาพ อย่างเช่น กลุ่มประเทศสหภาพยุโรปหรือ EU ได้กำหนดเป้าหมายปี 2573 ให้มีพื้นที่เกษตรอินทรีย์ 25% ของพื้นที่เกษตร EU ลดการใช้สารเคมีลง 50% และลดการใช้ฟอสซิล 1 ใน 4 ที่ใช้ในกิจกรรมเกษตรกรรม

ในขณะที่ไทยกำลังเผชิญกับปัญหาราคาข้าวที่ตกต่ำ ซึ่งได้สะท้อนปัญหาด้านนโยบายและการเมืองที่ไม่มีการปรับตัวภายใต้ภาวะวิกฤติ ในงานเสวนาโต๊ะกลมครั้งที่ 1 ที่ทางสถาบันวิจัยสังคม จุฬา มูลนิธิชีววิถี มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน ร่วมจัดเวทีข้อเสนอต่อแผน 13: ตอนเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา โดยมีผู้เชี่ยวชาญด้าน Agroecology Prof.Dr.Peter Rosset จากสถาบัน ECOSUR Advanced Studies Institute, Mexico ได้ชี้ให้เห็นความสำคัญของเกษตรนิเวศในทศวรรษหน้าที่กำลังจะมาถึงว่า

<em> <strong>DrPeter Rosset<strong> <em>

การทำเกษตรนิเวศ (เกษตรที่ไม่มีสารเคมี หรือ GMOs) เป็นแนวทางที่สามารถเป็นไปได้ และนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นธรรมต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ในขณะนี้ หลายประเทศใช้เป็นเป้าหมายหนึ่งการพัฒนาประเทศ เกษตรนิเวศจะเน้นการใช้ทรัพยากรให้น้อยที่สุดแต่มีความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตให้มากที่สุดโดยใช้ระบบนิเวศภายในดูแลและกำจัดศัตรูพืชกันเองแทนการใช้สารเคมี ซึ่งในแต่ละพื้นที่จะมีวิถีปฏิบัติแตกต่างกันไปเพื่อให้สอดคล้องกับระบบนิเวศในแต่ละท้องถิ่น การทำเกษตรนิเวศสามารถทำควบคู่กับการเลี้ยงสัตว์ขนาดเล็กหรือฟาร์มรายย่อย แม้จะดูเหมือนได้ผลผลิตน้อยกว่าอุตสาหกรรมใหญ่ แต่หากมีฟาร์มขนาดเล็กที่มากพอก็จะสามารถผลิตปริมาณอาหารที่เทียบเท่าอุตสาหกรรมใหญ่ได้

ความเจ็บป่วยของมนุษย์มีความสัมพันธ์กับระบบอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ กล่าวคือ มนุษย์ที่รับประทานอาหารที่มาจากอุตสาหกรรมดังกล่าวมีแนวโน้มเป็นโรคเรื้องรังหลายชนิด เช่น เบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด และมีอัตราเสียชีวิตด้วยโควิด-19 สูงกว่ากลุ่มอื่น รวมถึงการเลี้ยงสัตว์ในระบบนี้อาจเป็นแหล่งกำเนิดของโรคร้ายแรงหลายชนิด เช่น ไข้หวัดนก (Avian Flu) ไข้หวัดหมู (Swine Flu) เชื้อแบคทีเรียชนิดซัลโมเนลล่า (Salmonella) และอีโคไลน์ (E.coli) แม้การเกิดไวรัสโควิดจะยังไม่ทราบแน่ชัด แต่มีสมมุติฐาน 3 ประการ ดังนี้

  1. ไวรัสแพร่จากสัตว์ป่าสู่มนุษย์ : เนื่องจากป่าถูกทำลายเพื่อทำการเกษตรเชิงเดี่ยว สัตว์ป่าจึงอพยพย้ายถิ่นมาอยู่ใกล้กับพื้นที่อยู่อาศัยของมนุษย์มากขึ้น จึงทำให้แพร่ไวรัสสู่คนได้ง่าย เช่น ในภาคเหนือของประเทศไทยมีการทำลายป่าเพื่อปลูกข้าวโพดเพื่อผลิตอาหารสัตว์จำนวนมาก
  2. ไวรัสเกิดจากการเพิ่มขึ้นของอุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์ป่าเพื่อเป็นอาหาร : ทำให้ไวรัสแพร่จากเนื้อสัตว์ป่าที่เลี้ยงในอุตสาหกรรมมาสู่มนุษย์ โดยเฉพาะในประเทศจีน
  3. ไวรัสอาจหลุดออกมาจากห้องปฏิบัติการสำหรับการทดลองอาวุธชีวภาพหรือวัคซีนที่มีคุณภาพสูงขึ้น โดยเงินทุนสำหรับการพัฒนาดังกล่าวล้วนมาจากอุตสาหกรรมปศุสัตว์ทั้งสิ้นเนื่องจากตระหนักดีว่าอุตสาหกรรมดังกล่าวเป็นต้นตอของการเกิดเชื้อไวรัสดังที่ได้เคยเกิดขึ้นมาแล้วในอดีต (เช่น ไข้หวัดนก) จึงเป็นสาเหตุให้ประเทศสหรัฐอเมริกาในรัฐบาลโอบามาสั่งห้ามไม่การวิจัยในลักษณะดังกล่าว จึงทำให้อุตสาหกรรมปศุสัตว์เข้าร่วมกับทำวิจัยกับห้องปฏิบัติการในอู่ฮั่น ประเทศจีนแทน

จะเห็นได้ว่าทั้ง 3 สมมุติฐานล้วนสัมพันธ์กับอุตสาหกรรมอาหารทั้งสิ้น จึงเป็นคำถามสำคัญว่าเรายังควรผลิตอาหารในระบบอุตสาหกรรมแบบปิดขนาดใหญ่แบบปัจจุบันต่อไปหรือไม่

เกษตรนิเวศกับสภาพภูมิอากาศของโลก

เกษตรอุตสาหกรรมเป็นแหล่งกำเนิดของการเกิดก๊าซเรือนกระจก เนื่องจากการใช้เครื่องจักรกลขนาดใหญ่จำนวนมากและการขนส่งระยะไกล ในขณะที่เกษตรนิเวศจะใช้เครื่องจักรกลขนาดเล็ก ผลิตขายระดับท้องถิ่น มีการขนส่งภายในประเทศ และไม่มีการใช้สารเคมีทางการเกษตรที่เป็นสาเหตุของก๊าซเรือนกระจก และยังลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ในชั้นบรรยากาศเนื่องจากสามารถเก็บกักก๊าซและความชื้นไว้ในดินได้ ทำให้เกิดความชุ่มชื้น ลดอุณหภูมิในสิ่งแวดล้อมให้เย็นลง รวมถึงการเลือกใช้เมล็ดพันธุ์ท้องถิ่นที่มีความหลากหลายจะทำให้พืชปรับตัวได้กับการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศได้ดี ในขณะที่มูลสัตว์จากการผลิตในอุตสาหกรรมขนาดใหญ่เป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดก๊าซเรือนกระจกได้เช่นกัน เกษตรนิเวศจะเลือกใช้มูลสัตว์มาทำปุ๋ย จึงเห็นได้ชัดว่าระบบปศุสัตว์ควรเป็นแบบรายย่อยมากกว่าระบบใหญ่แบบอุตสาหกรรม

ขบวนการเกษตรกรกับเกษตรนิเวศ

จากงานวิจัยทั้งในเอเชีย ยุโรป และอเมริกา พบว่าการเกษตรระบบนิเวศที่ประสบความสำเร็จล้วนมาจากการนำของชุมชนเกษตรกรเอง จึงขอเสนอให้จัดตั้งขบวนการเกษตรกร โดยไม่จำเป็นต้องจัดตั้งอย่างเป็นทางการ แต่ต้องมีระเบียบวิธีปฏิบัติในแนวราบ เพื่อขยายวงการเกษตรนิเวศ มีหลายกรณีศึกษาที่ชี้ให้เห็นว่าเกษตรนิเวศประสบความสำเร็จได้จากการนำของชุมชนเกษตรกรเองแทนที่จะเป็นการนำของรัฐหรือนักวิชาการ แต่ควรเข้ามาสนับสนุน และส่งเสริมให้เกษตรกรมีตลาดเป็นของตัวเองเพื่อเป็นแหล่งซื้อขายแลกเปลี่ยน โดยนโยบายสาธารณะของรัฐต้องเอื้อกับระบบเกษตรนิเวศ แม้ในขณะนี้จะไม่มีนโยบายภาครัฐประเทศใดเลยที่เอื้อต่อระบบดังกล่าว อย่างไรก็ตามสถานการณ์โควิด-19 เป็นโอกาสอันดีที่รัฐควรปรับเปลี่ยนนโยบายรวมถึงให้ความร่วมมือกับภาคประชาสังคมในการช่วยเหลือเกษตรกรด้วย การขยายระบบเกษตรนิเวศจึงเป็นอีกความท้าท้ายที่เราต้องก้าวข้ามไปให้ได้และนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

ช่วงเสวนาโต๊ะกลม “ข้อเสนอเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม”จากเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก เครือข่ายความมั่นคงทางอาหารและภาควิชาการ นำโดย ดร.เดชรัตน์ สุขกำเนิด ผู้อำนวยการ Think Forward Center เสนอ 4 ชุดข้อมูล 4 ข้อเสนอ สำหรับการพัฒนาเกษตรและสิ่งแวดล้อมในกรอบแผนฯ 13 คือ

<strong>ดรเดชรัตน์ สุขกำเนิด <strong><br><strong>ผู้อำนวยการ Think Forward Center<strong>
  1. ควรพัฒนาระบบสวัสดิการให้เกษตรกร เลิกอุดหนุนสินค้าเกษตรแบบเดิม (เช่น จำนำข้าว และประกันรายได้) เนื่องจากภาระหนี้สินของกลุ่มเกษตรกรที่จนที่สุดนั้นสูงกว่ากำไรที่มาจากภาคเกษตรทั้งหมดเสียอีก และตั้งกองทุนเพื่อปรับเปลี่ยนโครงสร้างภาคเกษตร เช่น พัฒนาระบบจัดการน้ำ ปรับโครงสร้างหนี้ แก้ไขปัญหาข้อพิพาทที่ดิน พัฒนาเกษตรเขตเมือง และการตรวจรับคุณภาพสินค้าเกษตร
  2. พัฒนาระบบชลประทานและพื้นที่น้ำบาดาล หรือธนาคารต้นไม้ กระจายงบผ่านการปกครองส่วนนท้องถิ่น
  3. พัฒนาระบบเกษตรในเมือง โดยใช้ประโยชน์จากพื้นที่ว่างเปล่า พัฒนาตลาดสีเขียวโดยต้องมีตัวชี้วัดว่ามีจำนวนอาหารและมีคุณค่าทางโภชนาการที่มากเพียงพอ และขยายตลาดการส่งออก
  4. ลงทุนเรื่องการตรวจรับรองมาตรฐานให้เกษตรนิเวศโดยไม่ต้องให้เสียค่าใช้จ่ายในการตรวจรรับรอง และพัฒนาระบบไบโอเมตริกซ์ด้านความหลากหลายทางชีวภาพของผลผลิต

ดร. จตุพร เทียรมา อาจารย์คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัย มหาสารคามแลกเปลี่ยนแนวคิด แนวปฏิบัติเกษตรนิเวศจากการทดลองทำสวนโหนกนานาพรรณว่า ต้องให้ความรู้เกษตรกรในการพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติให้กลายเป็นทุน เช่น การเก็บน้ำ เพราะปัญหาของเกษตรกรคือต้นทุนการผลิตที่สูง แต่ราคาผลผลิตเป็นไปตามกลไกตลาดโลก เมื่อสร้างความมั่นคงทางน้ำในระดับสวนได้จะทำให้ต้นทุนการผลิตลดลงและเหลือกำไรมากขึ้น

คุณประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ มีข้อเสนอต่อการนำแผนไปปฏิบัติการ

  1. ปฏิรูประบบราชการ ลดอำนาจส่วนกลาง เพิ่มอำนาจให้ท้องถิ่น กระจายอำนาจให้ประชาชนและเกษตรกรฐานราก ทุกตำบลควรมีแผนแม่บทของตัวเอง
  2. สนับสนุนความต้องการของประชาชนให้ประชาชนพึ่งตัวเองได้ เนื่องจากที่ผ่านมารัฐชี้นำประชาชนมากเกินไป
  3. ส่งเสริมการผลิตของพืชอย่างครบวงจรให้เหมาะสมกับพื้นที่และฤดูกาล ตั้งแต่การปลูกจนถึงการขาย

คุณสุเมธ ปานจำลอง เครือข่ายเกษตรกรรมยั่งยืน เสนอว่าให้จัดตั้งองค์กรเกษตรกรท้องถิ่น โดยให้เกษตรกรที่มีประสบการณ์ในพื้นที่รวมตัวกันแล้วออกแบบนโยบายและแผนของท้องถิ่นตัวเอง ภายใต้การสนับสนุนของกระทรวงเกษตรฯ ช่วยบูรณาการความรู้แล้วจึงเสนอข้อสรุปกับทางรัฐ (โดยไม่ต้องชี้นำ)และลดการผูกขาดความรู้ โดยรวมตัวเกษตรกรมาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ เพราะความรู้ไม่ควรมาจากนักวิชาการเท่านั้น เปิดโอกาสให้ชาวบ้านมีสิทธิจัดการแหล่งน้ำและพืชพันธุ์ท้องถิ่นได้เอง

อ. ชมชวน บุญระหงษ์ รองผู้อำนวยวิทยาลัยบริหารศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เสนอว่า

  1. ควรระบุเรื่องตลาดชุมชนให้ชัดเจน เนื่องจากเป็นตัวกำหนดรูปแบบการผลิตของเกษตรกร
  2. ควรผลักดันให้เป็นกลไกระดับพื้นที่ เน้นให้คนท้องถิ่นจัดการตัวเองโดยมีหน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้ประสานหลักกับหน่วยงานอื่น
  3. ควรระบุให้เกษตรกรสามารถจำหน่ายเมล็ดพันธุ์พืชได้อย่างเสรี
  4. ส่งเสริมบทบาทของธนาคารที่ดิน และการถือครองที่ดินบนพื้นที่สูง
  5. ตั้งกองทุนสนับสนุนคนุร่นใหม่ให้กลับมาทำเกษตรในบ้านเกิด โดยมีเบี้ยยังชีพรายเดือนอย่างน้อย 3 ปี
  6. ควรมีคำว่า “เกษตรกรรมยั่งยืน” ให้คงอยู่ในแผนฯ และกำหนดเป้าหมายให้ชัดเจน

รศ.ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ช่วยประมวลว่าการทำให้เกษตรกรรายย่อยกลายเป็นหน่วยการผลิตที่มีประสิทธิภาพอย่างชัดเจน สามารถสร้างระบบไร่นาที่ยั่งยืนของตัวเองได้โดยการสนับสนุนจากรัฐ ได้แก่ ด้านเทคโนโลยีผลิตสินค้าทางการเกษตร การจัดการน้ำที่เหมาะสม การปรับปรุงพันธุ์พืช และการจัดการตลาด ต้องมีการประเมินผลนโยบายที่ผ่านมาอย่างจริงจังโดยเน้นดู outcome ให้มากขึ้น (เพราะที่ผ่านมาเน้นดูแต่ input) และทบทวนงบประมาณด้านการเกษตร ที่ผ่านมาเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 งบประมาณถูกแปรไปใช้ในรูปแบบอื่น

จากข้อเสนอทั้งหมดนี้ คุณวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ เลขาธิการมูลนิธิชีววิถี ได้สรุปและชี้ให้เห็นว่าระบบเกษตรกรรมในไทยเดินมาถึงทางตันแล้ว จากการศึกษาของวิษณุ อรรถวานิช คณะเศรษฐศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ พบว่าภายใน 3 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลใช้งบประมาณ 2 แสนล้านบาทในการพัฒนา 8 โครงการในเกษตรกร พบว่ามีเพียง 1 โครงการเท่านั้นที่เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นในขณะที่โครงการที่เหลือมีรายได้เท่าเดิม และลดลง แสดงให้เห็นถึงความล้มเหลวของระบบเกษตรอุตสาหกรรมแบบเก่า เพราะฉะนั้นควรขยายรูปแบบเกษตรยั่งยืนให้มากขึ้น ดังเช่นในยุโรปมีเป้าหมายเพิ่มพื้นที่เกษตรอินทรีย์ 25% ของพื้นที่เกษตรทั้งหมด เพราะระบบเกษตรของโลกต้องมุ่งไปสู่ความยั่งยืน (SDGs)

สรุปข้อเสนอเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมต่อแผน 13

  1. ลดการอุดหนุนเกษตรอุตสาหกรรมหลักแบบเก่าไปสู่รูปแบบใหม่คือเกษตรนิเวศ ปรับโครงสร้างที่ดินและแหล่งน้ำ กองทุนพัฒนาระบบสวัสดิการเกษตรกร
  2. ปรับการผลิตเป็นแบบผสมผสานและผลิตสินค้าที่มีมูลค่าสูง(สินค้าเกษตรอินทรีย์) ผ่านการปฏิรูปจัดการแหล่งน้ำระดับไร่นานอกเหนือเขตชลประทานหลัก (ประมาณ 88 ล้านไร่) และจัดการสิทธิที่ดิน จึงต้องตั้งเป้าหมายให้ชัดเจนเพราะสัมพันธ์กับการกำหนดแนวทางปฏิบัติ
  3. ต้องมีการวิจัยและพัฒนาพันธุ์ข้าวและสัตว์ โดยให้บทบาทหลักแก่ชาวนา คนรุ่นใหม่ และต้องได้รับการสนับสนุนจากรัฐ
  4. สร้างความมั่นคงทางอาหารของคนจนเมือง ระบบตลาด และมาตรฐานสินค้าเพื่อรองรับเกษตรเชิงนิเวศ
  5. ตั้งแผนฯให้เอื้อต่อแผนปฏิบัติการในระดับท้องถิ่น และสนับสนุนคนรุ่นใหม่ให้มีบทบาทมากขึ้นในระบบเกษตร

บันทึกวิดีโอการพูดคุย/แลกเปลี่ยน

เอกสารประกอบการนำเสนอ