สนุก-เล่น-เรียน-รู้ รับบท “นักสืบอาหาร”

สวนชีววิถี (Growing Diversity Park) ตำบลไทรม้า นนทบุรี

ทีมงานสวนชีววิถี ได้มีโอกาสต้อนรับน้อง ๆ นักเรียนระดับประถมศึกษา ของโรงเรียนในพื้นที่จังหวัดนนทบุรี ในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้นอกห้องเรียน “นักสืบอาหาร” ขึ้นในวันที่ 21 -22 ธันวาคม 2565 เพื่อสนับสนุนการเรียนรู้ประเด็นความมั่นคงอาหาร อาหารปลอดภัย และความหลากหลายของพืชอาหารและสิ่งมีชีวิตในนิเวศสวน โดยได้ออกแบบเนื้อหาให้มีความสอดคล้องกับกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ และกลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพ อีกทั้งยังคำนึงถึงการกระตุ้นให้เกิดความรอบรู้ทางด้านสุขภาพและการเลือกบริโภคอาหารที่ปลอดภัยจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ลดหวาน-มัน-เค็ม ซึ่งจะเป็นทักษะที่นักเรียนนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน และลดความเสี่ยงของการเป็นโรค NCDs

6 โรงเรียนในเขตอำเภอเมืองนนทบุรีที่เข้าร่วมกิจกรรมได้แก่

  1. รร.วัดพุฒิปรางค์ปราโมทย์
  2. รร.วัดบางรักน้อย
  3. รร.วัดบางระโหง
  4. รร.วัดแดง
  5. รร.ประชารังสรรค์
  6. รร.ชุมชนวัดไทรม้า

กิจกรรมที่ส่งเสริมการเรียนรู้มีทั้งสิ้น 4 ฐานสำคัญ

ฐานที่ 1  ดอก ใบ กินได้

พี่เลี้ยงประจำกลุ่มอธิบายสาระเกี่ยวกับพืชและวัชพืชในนิเวศสวนที่สามารถนำมาทำเมนูผักอบชีส 2 ชนิด ได้แก่ ผักไชยาหรือคะน้าแม็กซิโก และผักโขมไทยหรือผักโขมบ้าน ซึ่งเป็นผักพื้นถิ่นในประเทศเม็กซิโกเป็นไม้ทรงพุ่ม สูงประมาณ 3 เมตร มีใบคล้ายกับใบมะละกอ สีเขียวเข้ม ส่วนที่นำมารับประทานคือยอดอ่อน ใบกรุบกรอบ ไม่มีรสขม มีกลิ่นเหม็นเขียวเล็กน้อย รสชาติจืดคล้ายคะน้า ไม่สามารถทาบดิบได้ เนื่องจากส่วนยอดมียางที่ทำให้ระบบทางเดินอาหารระคายเคืองได้ ก่อนรับประทานจะต้องนำมาปรุงสุกก่อน หรือกรณีผู้ที่ผิวแพ้ง่ายหากสัมผัสยางแล้วมีการระคายเคืองให้รีบล้างออกทันที มีสรรพคุณช่วยต้านพยาธิ ปกป้องหลอดเลือดและหัวใจ ลดและควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด เป็นต้น ส่วนผักโขมไทย เป็นวัชพืชที่มีอายุสั้น เป็นพืชล้มลุก ลำต้นสีเขียวอมม่วงนิดๆ ใบเรียบ สีเขียวเข้มกลมรี ปลายใบมน ก้านใบสั้น ดอกเล็กสีน้ำตาล หรือน้ำเงินอมม่วง เป็นช่อยาว ออกปลายยอด และตามซอกใบ เมื่อแก่เมล็ดมีสีน้ำตาลเกือบดำ ส่วนที่นำมารับประทาน คือ ยอดอ่อนและใบอ่อน มีรสชาติจืดและหวานอ่อนๆ นิยมนำมาปรุงสุกก่อนรับประทาน มีสรรพคุณช่วยสร้างคอลลาเจน เพิ่มความยืดหยุ่นผิวหนัง ช่วยชะลอวัย บำรุงสายตา บำรุงกระดูกและฟัน เป็นต้น

แบ่งนักเรียนออกเป็นกลุ่ม 3-4 คน/กลุ่ม แล้วประจำที่โต๊ะ โดยในโต๊ะจะมีอุปกรณ์สำหรับประกอบอาหารและวัตถุดิบสำหรับปรุง

ตัวแทนนักเรียนแต่ละกลุ่มล้างผัก นำมาเด็ดส่วนที่จะใช้ แล้วนำมาหั่น แบ่งนักเรียนในกลุ่ม ปอกหัวหอมใหญ่แล้วหั่นเป็นลูกเต๋า

เมื่อวัตถุดิบพร้อมเปิดเตาไฟฟ้า นำเนยที่เตรียมไว้ใส่ประมาณ 20 กรัม ใส่ในกระทะคนละให้ลาย ใส่หอมใหญ่หั่นเต๋าผัดจนสุก (จะเปลี่ยนจากสีขาวเป็นใสๆ) แล้วใส่ผักโขมหรือผักไชยาลงไปผัดให้สุก (สีเข้าขึ้นและเหี่ยว) เติมเกลือครึ่งช้อนชา พริกไทยป่นครึ่งช้อนชา ผัดให้เข้ากัน เติมนมจืด 5 ช้อนโต๊ะ แล้วตามด้วยแป้งสาลี 2 ช้อนชา ผัดให้เข้ากันแล้วเติมนมอีก  3 ช้อนโต๊ะ ปิดไฟ ตักใส่ถาดฟอยล์ โรยชีสให้เต็มถ้วย แล้วนำเข้าอบในเตาอบประมาณ 15-20 นาที ในระหว่างที่รออบ

ตัวแทนกลุ่ม นำภาชนะที่ใช้ไปล้างทำความสะอาดแล้วนำมาเช็คให้แห้ง เมื่ออบเสร็จนักเรียนสามารถชิมผักไชย ผักขมอบชีสได้ แลกเปลี่ยนแสดงความคิดเห็นต่อรสชาติ และทัศนคติต่อการรับประทานผัก

ฐานที่ 2 ฉีดพ่น (ยาฆ่าแมลง) แล้วไปไหน ?

อธิบายให้นักเรียนเข้าใจเรื่องแมลงดี แมลงร้าย ที่ส่งผลดี/ผลเสีย ต่อสิ่งแวดล้อม พืชผักผลไม้ และ บริเวณที่อยู่อาศัยของแมลงเหล่านี้ ที่แตกต่างกันไป โดยแมลงดีจะเกาะอยู่บริเวณส่วนบนของต้นไม้/ดอกไม้ ส่วนแมลงร้าย จะเกาะอยู่บริเวณลำต้น ซอกใบ ของต้นไม้/ดอกไม้ เพื่อให้เห็นภาพก่อนลงมือทำกิจกรรมจริง

แบ่งนักเรียนให้จำลองเป็นกลุ่ม แมลงดี (แมลงปอ แมงมุม ตั๊กแตน ผึ้ง)  แมลงร้าย (ด้วงหมัด หนอน หนอนแมลงวัน เพลี้ยแป้ง) และ เกษตรกรผู้ฉีดพ่นสารเคมี โดยให้นักเรียนที่เป็นแมลงดี และ แมลงร้าย นำกระดาษภาพแมลงดี แมลงร้าย ตามที่ตนเองได้ แปะไว้บริเวณส่วนต่างๆของต้นไม้ ตามที่ได้อธิบายในขั้นตอนที่ 1 หลังจากนั้น ผู้จำลองเป็นเกษตรกรจะมาฉีดพ่นสารเคมีจำลองที่ใช้สีผสมอาหารที่แดง ผสมกับน้ำเหล่า 2 ลิตร ผสมลงถังฉีดพ่น นำมาฉีดพ่นที่แปลงผักที่มีแมลงดี และ แมลงร้าย อาศัยอยู่

หลังจากเกษตรกรฉีดพ่นสารเคมีจำลองแล้วให้นักเรียนที่เป็นกลุ่มแมลงดี แมลงร้าย กลับไปที่แปลงผักพร้อมเก็บกระดาษภาพแมลงดี แมลงร้ายที่ตอนเองได้นำไปแปะตามขั้นตอนที่ 2 และเมื่อเก็บมาแล้วให้สังเกตว่ากระดาษภาพแมลงของตนเองเปื้อนสารเคมีจำลองหรือไม่

สรุปผลการทำกิจกรรม โดย แยกกลุ่มกระดาษภาพแมลงดี และ แมลงร้าย ให้นักเรียนเห็นได้ชัดเจนยิ่งขึ้นว่า แมลงชนิดใดเปื้อนสารเคมีจำลองมากกว่ากัน ซึ่งพบว่า แมลงดีส่วนใหญ่จะเปื้อนสารเคมีจำลองมากกว่าแมลงร้าย  ให้ข้อคิดแก่นักเรียนเรื่องผลของการฉีดสารเคมีว่า วัตถุประสงค์ของการฉีดสารเคมีเพื่อกำจัดศัตรูพืช คือ เพื่อให้แมลงร้ายที่จะมาเกาะกินพืชผักนั้นตายแต่ผลที่เกิดขึ้นกลับโดนแมลงดีที่จะช่วยผสมเกสร และ จับแมลงร้ายในระบบนิเวศกิน มากกว่าจะโดนแมลงร้ายตาย ดังนั้นแล้ว ผลเสียที่เกิดขึ้นไม่เพียงแต่โดนแมลงที่มีประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อม นอกจากนั้นยังไหลลงสู่แม่น้ำ ดินปนเปื้อน ละอองสารเคมีลอยอยู่ในอากาศ ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้ที่ได้รับสารเคมี ทั้งจากการสัมผัส การสูดดม และจากการรับประทานเข้าสู่ร่างกาย

ให้นักเรียนทดลองล้างผักกาดขาวที่ดูดซึมน้ำสีแดง ที่เปรียบเสมือนผักที่ถูกปลูกด้วยการใช้สารเคมี และ ได้มีการดูดซึมเข้าไปในต้น/ใบ เพื่อให้เข้าใจภาพของการปนเปื้อนสารเคมีในพืชผักมากขึ้นว่า การล้างไม่สามารถทำให้สารเคมีประเภทดูดซึมหลุดออกไปได้ทั้งหมด พร้อมระดมความคิดจากนักเรียนว่า ทำอย่างไรที่เราจะได้กินผักปลอดภัย ?

ฐานที่ 3 สัญญาณไฟบนฉลากขนม (หวาน มัน เค็ม)

ให้นักเรียนแบ่งกลุ่มกันและเลือกขนมที่ตนเองรับประทานบ่อย หรืออยากรับประทาน และให้ลองสังเกตฉลากอย. วันเดือนปีหมดอายุ ว่ามีระบุไว้ชัดเจนหรือไม่ หรือขนมชนิดที่ไม่มีฉลากภาษาไทยนั้นคือขนมผิดกฎหมาย จากนั้นให้คำนวณข้อมูลจากฉลาก GDA ที่ระบุถึงข้อมูลของสารอาหาร 4 ชนิด ได้แก่ พลังงาน (กิโลแคลอรี่) น้ำตาล (กรัม) ไขมัน (กรัม) และโซเดียม (มิลลิกรัม) โดยมีปริมาณสูงสุดที่แนะนำต่อวันคือ ไม่ควรได้ได้รับพลังงานเกิน 2,000 กิโลแคลอรี น้ำตาล 65 กรัม ไขมัน 65 กรัม และโซเดียม 2,400 มิลลิกรัม

ที่มา <a href=httpsresourcecenterthaihealthorthindexphparticleE0B889E0B8A5E0B8B2E0B881E0B982E0B8A0E0B88AE0B899E0B8B2E0B881E0B8B2E0B8A3 E28098E0B8ABE0B8A7E0B8B2E0B899 E0B8A1E0B8B1E0B899 E0B980E0B884E0B987E0B8A1E28099 E0B981E0B89AE0B89AE0B888E0B8B5E0B894E0B8B5E0B980E0B8AD E0B8ADE0B988E0B8B2E0B899E0B887E0B988E0B8B2E0B8A2E0B984E0B894E0B989E0B89BE0B8A3E0B8B0E0B982E0B8A2E0B88AE0B899E0B98CE0B895E0B988E0B8ADE0B881E0B8B2E0B8A3E0B894E0B8B9E0B981E0B8A5E0B8AAE0B8B8E0B882E0B8A0E0B8B2E0B89E target= blank rel=noopener title=>ชวนรู้จักฉลาก GDA SOOK Magazine หน้าที่ 19<a>

นักเรียนทดลองบวกเเลขจากค่าสารอาหาร 4 ชนิด ได้แก่ พลังงาน (กิโลแคลอรี่) น้ำตาล (กรัม) ไขมัน (กรัม) และโซเดียม (มิลลิกรัม)เพื่อคำนวณว่าหากรับประทานทั้งหมดจะได้สารอาหารเท่าไหร่ เกินมาตรฐานหรือไม่ และให้นักเรียนแลกเปลี่ยนแสดงความเห็นต่อสารอาหารที่ได้รับ

ให้นักเรียนรู้จักปริมาณน้ำตาลในน้ำอัดลมผ่านกิจกรรมทดลองใส่น้ำตาลในปริมาณที่เท่ากับที่ระบุในฉลากของน้ำอัดลมแล้วลองชิมเพื่อเปรียบเทียบความหวานและสรุปความเห็นต่อสิ่งที่นักเรียนได้ทดลองบริโภค

ฐานที่ 4 เอ๊ะ!!?

เตรียมจัดเรียงพืชผักผลไม้เป็นหน้ากระดาน แล้วใช้กล่องทึบครอบเอาไว้ และกระดิ่ง /ระฆัง/นกหวีด เพื่อให้สัญญาณ

แจกใบงานสำหรับเขียนคำตอบและเชื่อมโยง โดยให้นักเรียนจับคู่ หรือ 3 คน ตามความเหมาะสม อาจจะกระตุ้นให้นักเรียนตอบคำถามมากขึ้น โดยใครตอบถูกได้มากกว่า 90% จะได้รับรางวัล

นำนักเรียนเข้ามาที่หน้าโต๊ะทีละคู่/3คน ตามใบงาน โดยจะให้นักเรียนได้ดู ดม สัมผัส ทีละ1 สิ่ง เพียง 5 วินาที แล้วให้สัญญาณเสียง เพื่อเปลี่ยนไปดู ดม สัมผัส สิ่งต่อไป จนครบ และแยกไปปรึกษากันก่อน อย่าเพิ่งคุยกับเพื่อนที่ไม่ได้ดู และให้นักเรียนคู่ต่อไปมาดู ดม สัมผัส จนเวียนครบทั้งหมด

เมื่อนักเรียนทุกคู่/3คนได้ ดู ดม สัมผัสกันจนครบแล้ว ให้เขียนคำตอบลงในใบงานและเชื่อมโยงว่าสิ่งนั้นที่ตอบอยู่ในระบบนิเวศแบบใด (นา สวน ป่า ในน้ำ ใต้ดิน) อยู่ในภาคไหน (เหนือ กลาง ใต้ อีสาน ตะวันออก) แล้วกินได้ส่วนใด (ใบ/ยอด หน่อ/หัว ดอก ผล ทั้งตัว)

แล้วจึงเฉลย โดยเฉลยทีละข้อ ถามนักเรียนๆว่าตอบอะไรกันบ้าง สิ่งนั้นคืออะไร ทำไมถึงคิดว่าเป็นสิ่งนั้น แล้วเฉลยว่าใช่หรือไม่ ถ้าตอบถูกได้คะแนน  แล้วเล่าให้ฟังถึงสิ่งนั้น เป็นความรู้รอบตัว ซึ่งจะเชื่อมโยงไปกับประสบการณ์ของนักเรียนๆได้

กิจกรรมที่จัดขึ้น จึงเป็นการออกแบบให้สอดคล้องกับกลุ่มสาระการเรียนรู้ 5 กลุ่มสาระการเรียนรู้คือ กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย กลุ่มสาระการเรียนรู้สุขศึกษาและพลศึกษา และกลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี ร่วมกับแนวคิดการเรียนรู้นอกห้องเรียน ภายใต้แนวคิด สนุก เล่น เรียน รู้.