นนทบุรี, 2 ธันวาคม 2564 – เครือข่ายภาคประชาสังคม #NoCPTPP [1] ในฐานะตัวแทนจากประชาชนกว่า 400,000 เสียง[2] จัดงาน “ความฉิบหายจะมาเยือน Say No to CPTPP บอกแล้วไม่เอา CPTPP” ที่สวนชีววิถี-สวนผักคนเมือง ไทรม้า จังหวัดนนทบุรี เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา รับฟังเสียงของประชาชนที่คัดค้านการเข้าร่วมเป็นภาคี CPTPP มานานกว่า 2 ปี โดยยกเลิกการพิจารณาเข้าร่วม CPTPP ซึ่งริดรอนสิทธิของประชาชนและตอกย้ำความเหลื่อมล้ำในประเทศนี้ในทันที
ในขณะที่วันที่ 8 ธันวาคมที่จะถึงนี้จะมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) เพื่อชงเรื่องให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณายื่นหนังสือแสดงความจำนงเข้าร่วมความตกลง CPTPP หรือ ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก ในวันในวันอังคารที่ 14 ธันวาคม 2564
กรรณิการ์ กิจติเวชกุล รองประธาน FTA Watch ตัวแทนจากเครือข่าย #NoCPTPP กล่าวว่า
“เครือข่าย #NoCPTPP ต้องการเห็นการตัดสินใจของรัฐบาลที่เห็นผลประโยชน์ของประชาชน เพราะการเข้าร่วมความตกลง CPTPP เป็นเพียงแผนยุทธศาสตร์ที่ขยายอำนาจของบรรษัทอุตสาหกรรมยักษ์ใหญ่ ซึ่งต้องแลกกับการทำลายความมั่นคงทางอาหาร การล่มสลายของวิถีชีวิตที่ยั่งยืนของชุมชนในประเทศไทย ตลอดจนการเข้าถึงยา การสาธารณสุขและระบบหลักประกันสุขภาพของประเทศ อันเป็นผลจากการครอบงำของบริษัทยักษ์ใหญ่ของไทยและบรรษัทข้ามชาติยักษ์ใหญ่ของโลก”
ภายในงานประกอบด้วยการอ่านแถลงการณ์จดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรีเรื่อง “ถ้าไม่คืนความสุขให้ประชาชน ก็อย่าส่งความทุกข์ด้วยการเข้าร่วม CPTPP” พร้อมชมนิทรรศการ 4 ฐานความรู้ คือ 1.เมล็ดพันธุ์ รากฐานสังคม 2.ขยะนำเข้าทำลายคุณภาพชีวิต 3.ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ตาข่ายสังคม
4.นโยบายสาธารณะ คุ้มครองผู้บริโภค คุ้มครองประชาชน ซึ่งนิทรรศการดังกล่าวได้นำเสนอและสะท้อนปัญหา ข้อกังวลหลักในด้านต่าง ๆ หากประเทศไทยต้องเข้าร่วมความตกลง CPTPP
ข้อกังวลหลักหากประเทศไทยเข้าร่วมเป็นภาคีความตกลง CPTPP
-การเข้าร่วมเป็นภาคี CPTPP คือการยอมรับข้อตกลงที่เกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญาหลายฉบับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอนุสัญญาระหว่างประเทศเพื่อการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ หรือ UPOV 1991ซึ่งตัดสิทธิพื้นฐานของเกษตรกรในการเก็บพันธุ์พืชไปปลูกต่อในฤดูกาลถัดไป แต่กลับเพิ่มสิทธิผูกขาดแก่บริษัทเมล็ดพันธุ์ในการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากผลผลิตและผลิตภัณฑ์จากเกษตรกรนอกเหนือจากค่าเมล็ดพันธุ์
-CPTPP จะทำให้ประเทศไทยต้องยอมรับการนำเข้าสินค้าที่ปรับสภาพเป็นของใหม่ หรือ remanufactured goods โดยเฉพาะส่วนที่เป็นเครื่องมือทางการแพทย์ และขยะพลาสติกและอิเล็กทรอนิกส์ ทำให้เกิดความกังวลว่าจะเป็นช่องทางให้เป็นการนำเข้าขยะทางการแพทย์ ขยะพลาสติก และขยะอิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ ซึ่งจะยิ่งซ้ำเติมปัญหาสิ่งแวดล้อมและสุขภาพจากขยะอิเล็กทรอนิกส์และขยะสารพิษ ที่ประเทศไทยเผชิญอยู่ให้หนักหน่วงขึ้นไปอีก
-CPTPP จะคุ้มครองการลงทุนให้นักลงทุนต่างชาติ เนื่องจากมีบทที่ว่าด้วยการลงทุน ที่เปิดโอกาสให้นักลงทุนต่างชาติที่เป็นเอกชนฟ้องร้องรัฐบาล ถ้ารัฐบาลออกหรือบังคับใช้กฎหมายหรือนโยบายใด ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อผลประกอบการของนักลงทุนต่างชาติ แม้ว่าจะเป็นไปเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของประชาชน โดยฟ้องร้องกลไกระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐและเอกชน (ISDS) ที่มีคณะอนุญาโตตุลาการนอกประเทศทำหน้าที่ตัดสิน ทั้งนี้ นิยามการคุ้มครองการลงทุนใน CPTPP กินความกว้างขวาง ซึ่งรวมถึง portfolio ของนักลงทุนต่างชาติที่อยู่ในระยะก่อนการลงทุน (pre-establishment) ที่ยังหรือไม่ได้มาลงทุนจริง ๆ ในประเทศไทย ซึ่งประเทศไทยไม่เคยมีการคุ้มครองการลงทุนเช่นนี้มาก่อนการคุ้มครองการลงทุนและการระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐและเอกชนใน CPTPP จะส่งผลให้รัฐบาลต้องระงับการออกหรือบังคับใช้กฎหมายเพื่อประโยชน์ของประชาชน และชดเชยค่าเสียหายจำนวนมหาศาลให้กับนักลงทุนต่างชาติที่เป็นเอกชน โดยใช้เงินภาษีของประชาชนจ่าย ยิ่งไปกว่านั้น ยังจะก่อให้เกิดสภาวะหวาดกลัวหรือ Chilling effect ทำให้รัฐบาลไม่กล้าที่จะออกหรือบังคับใช้กฎหมายใด ๆ เพื่อคุ้มครองประโยชน์ของประชาชนในเรื่องสิ่งแวดล้อม สุขภาพ การเข้าถึงยา และการคุ้มครองผู้บริโภค เพราะกลัวจะถูกฟ้องโดยนักลงทุนต่างชาติที่เป็นเอกชน รวมทั้งอาจทำให้ไม่สามารถปรับปรุงกฎหมายและนโยบายที่ส่งผลอย่างไม่เป็นธรรมต่อคนในประเทศได้ และอาจขัดต่อมาตรการควบคุมยาสูบตามกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลก ที่ประเทศไทยเป็นรัฐภาคี ซึ่งนี่สวนทางกับเป้าประสงค์ที่ 10.3 ที่มุ่งลดผลกระทบที่ไม่เป็นธรรมจากนโยบายและกฎหมาย ภายใต้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน-SDG 10 ที่ว่าด้วยการลดความเหลื่อมล้ำ
-ข้อบทใน CPTPP ที่เกี่ยวข้องกับระบบทรัพย์สินทางปัญญา การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ สินค้าที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ การคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภค จะก่อให้เกิดผลกระทบร้ายแรงต่อระบบสุขภาพและการสาธารณสุขของประเทศไทย เนื่องจากจะทำให้ยารักษาโรคแพงขึ้นอย่างมหาศาล เพราะประเทศต้องพึ่งพายานำเข้าและมีสิทธิบัตรเพิ่มขึ้นจาก 71% ในปัจจุบัน เป็น 89% และอุตสาหกรรมผลิตยาในประเทศจะมีส่วนแบ่งตลาดลดลงมากกว่า 100,000 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายด้านยาของประเทศที่สูงขึ้นย่อมส่งผลต่อระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติทั้งสามระบบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ สิ่งเหล่านี้คือผลกระทบต่องบประมาณค่ายาเท่านั้น CPTPP ยังจะก่อให้เกิดปัญหาที่รัฐบาลจะไม่สามารถกำหนดและบังคับใช้กฎหมายเพื่อส่งเสริมการนำเข้ายา เช่น มาตรการใช้สิทธิโดยรัฐ และมาตรการป้องปรามการบริโภคสินค้าที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพอย่างเหล้าและบุหรี่ด้วย รวมไปถึงการจำกัดสิทธิของผู้บริโภคในเรื่องความปลอดภัยของสินค้า เช่น เครื่องสำอาง สินค้าที่ซื้อขายผ่านระบบออนไลน์ สินค้าที่มีส่วนผสมหรือปนเปื้อนสิ่งที่ผ่านการตัดต่อพันธุกรรมหรือ GMO ฯลฯ
เครือข่าย#NoCPTPP เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรี ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยุติการพิจารณานำ CPTPP เข้ามติคณะรัฐมนตรี และยุติการเข้าร่วมความตกลง CPTPP อย่างถาวรในทันที
หมายเหตุ
[1] เครือข่ายภาคประชาสังคม #NoCPTPP ประกอบด้วย
1. FTA Watch
2. มูลนิธิชีววิถี
3. กรีนพีซ ประเทศไทย
4. มูลนิธิเข้าถึงเอดส์
5. เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย
6. เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก 4 ภาค
7. มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย)
8. กลุ่มศึกษาปัญหายา
9. ศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา
10. มูลนิธิสาธารณสุขกับการพัฒนา
11. มูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์
12. มูลนิธิบูรณะนิเวศ
13. มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
14. มูลนิธิสุขภาพไทย
15. เครือข่ายเฝ้าระวังธุรกิจสุรา
16. เครือข่ายงดเหล้า
17. TUNONICOTINE
18. โครงการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะด้านทรัพยากรแร่
19. กลุ่มนิเวศวัฒนธรรมศึกษา
20. เครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่
21. กลุ่มคนรักษ์บ้านเกิดบำเหน็จณรงค์ (คัดค้านเหมืองโปแตชและโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.ชัยภูมิ)
22. กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้าน (คัดค้านเหมืองทองคำ ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย)
23. กลุ่มรักษ์อำเภอวานรนิวาส (คัดค้านการขุดเจาะสำรวจแร่โปแตช อ.วานรนิวาส จ.สกลนคร)
24. กลุ่มรักษ์น้ำซับคำป่าหลาย (คัดค้านการขอประทานบัตรทำเหมืองหินทราย ต.คำป่าหลาย อ.เมือง จ.มุกดาหาร)
25. กลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได (คัดค้านการทำเหมืองหิน ต.ดงมะไฟ อ.สุวรรณคูหา จ.หนองบัวลำภู)
26. กลุ่มรักษ์บ้านแหง (คัดค้านการขอประทานบัตรทำเหมืองถ่านหินลิกไนต์ ต.บ้านแหง อ.งาว จ.ลำปาง)
27. กลุ่มรักษ์ลำคอหงษ์ (คัดค้านการขอประทานบัตรทำเหมืองโปแตช อ.โนนสูง จ.นครราชสีมา)
28. กลุ่มคนเหล่าไฮงามไม่เอาเหมืองแร่ (คัดค้านการขอประทานบัตรทำเหมืองทรายแก้ว ต.เหล่าไฮงาม อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์)
29. สมาคมพิทักษ์สิทธิชุมชนเขาคูหา (คัดค้านการทำเหมืองหินปูน ต.คูหาใต้ อ.รัตภูมิ จ.สงขลา)
30. สมัชชาคนจน
31. เครือข่าย People Go Network
32. คณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (ครช.)
33. มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW)
34. เครือข่ายบริการเพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรม We Fair
35. เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ (WWN)
[2] ประชาชนกว่า 400,000 คนร่วมลงชื่อคัดค้านผ่านช่องทางออนไลน์ของ Greenpeace Thailand’s petition และ Change.org/NoCPTPP